เดินหน้าชน : สอบเรียน100% ยิ่งแบ่งแยกชนชั้น : สุพัด ทีปะลา

ยังไม่มีข้อสรุปว่าสุดท้ายแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือบอร์ด กพฐ. ที่ให้ปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ปี 2563 ให้โรงเรียนอัตรา
การแข่งขันสูง หรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของไทย รับนักเรียนด้วยการสอบแข่งขัน 100%

ข้อเสนอดังกล่าวจะตัดโควต้านักเรียนในเขตพื้นที่บริการหรือนักเรียนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงเรียนออกไป หากจะเข้าเรียนจะต้องสอบแข่งขันเข้ามาเรียน

ปัจจุบันการรับนักเรียนปี 2562 กำหนดโควต้านักเรียนเขตพื้นที่บริการสัดส่วนรับอยู่ที่ 60% และ
นอกเขตพื้นที่บริการ 40%

ทั่วประเทศมีโรงเรียนแข่งขันสูงเกือบ 300 แห่ง ล้วนเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ระดับจังหวัด เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

Advertisement

แน่นอนว่าการตัดโควต้าดังกล่าวหลายคนมองว่าจะกระทบกับนักเรียนเขตพื้นที่บริการ

เพราะหากสอบเข้าเรียนไม่ได้จะต้องหาโรงเรียนที่ไกลบ้านออกไปอีก กลายเป็นสร้างภาระให้กับนักเรียนและผู้ปกครองกลุ่มนี้

แม้การจัดสอบ 100% จะมีเจตนาดี ที่ต้องการให้โรงเรียนกลุ่มนี้ทำหน้าที่พัฒนานักเรียนเก่งของประเทศ รับเด็กเก่งเข้ามาเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพ เช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

Advertisement

แต่ประเด็นปัญหาผลกระทบกับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการเป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การแบ่งแยกเด็กเก่ง เด็กไม่เก่งอย่างเบ็ดเสร็จ

การตัดโอกาสเด็กทั่วไปให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมสูง

อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า “ไม่เห็นด้วย ที่จะให้โรงเรียนดังสอบรับเด็กเข้าเรียน 100% เพราะจะทำให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกชนชั้นเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเก่งและครอบครัวมีฐานะจะมีโอกาสมากกว่า
เด็กกลุ่มปานกลางจนถึงด้อยโอกาส

ทุกวันนี้โรงเรียนดัง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฯลฯ ต่างก็รับเด็กหัวกะทิเข้าเรียนอยู่แล้ว ทั้งที่ควรรับเด็กคละกัน ให้เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อนให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข”

การนำระบบสอบคัดเลือก 100% เข้ามาใช้เชื่อว่ายิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ในโรงเดียวกันก็มีความเหลื่อมล้ำกันชัดเจนอยู่แล้ว

หลักสูตรมีความหลากหลาย ทั้งหลักสูตรปกติทั่วไป หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม หลักสูตรความสามารถเป็น
เลิศทางวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์

แม้ข้อเสนอให้โรงเรียนดังสอบ 100% จะเป็นเรื่องที่ดีในการยกระดับพัฒนาศักยภาพเด็กเก่ง

แต่การผลักดันเด็กอีกกลุ่มที่อาจมีคุณภาพไม่เท่าเด็กเก่งออกไปจากโรงเรียนดัง

ยิ่งตัดโอกาสเด็กกลุ่มนี้ที่จะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นในโรงเรียนที่มีมาตรฐานคุณภาพทางวิชาการที่สูง

ทั้งหมดนี้จึงต้องดูผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image