จับสัญญาณ-เลือก ปธ.สภา ภาพสะท้อน ‘การเมืองป่วน’!

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการ จากกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานสภาฯ ที่คะแนนเสียงห่างกันไม่มาก และมีการประท้วงกันวุ่นวาย คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่เสียงจะปริ่มน้ำ ไม่มีเสถียรภาพ การทำงานในสภาจะยุ่งยาก มีการต่อรองสูง โดยเฉพาะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี


 

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รศ.ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากหลังจากนี้ คือปัญหาเรื่องการต่อรองภายในและภายนอกของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น การต่อรองภายในจะเห็นได้จากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ในกลุ่มสามมิตรของพรรคพลังประชารัฐเกิดความไม่พอใจ เป็นเหตุให้มีการลงคะแนนผิดโดยตั้งใจทั้ง 5 เสียง

Advertisement

สะท้อนให้เห็นว่าสภาพการเมืองเช่นนี้จะมีกระบวนการในการต่อรองภายในสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรดาโควต้ารัฐมนตรีต่างๆ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐจะต้องถูกลดลงหรือเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การต่อรองภายในเกิดปัญหา ดังจะเห็นได้จากการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา คนที่ 1 และคนที่ 2 ที่มีการเกิดกลุ่มงูเห่าแกว่งไปแกว่งมา 2 ขั้ว ทั้งขั้วพรรคเพื่อไทยและขั้วพรรคพลังประชารัฐ หลังจากนี้ก็จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ การต่อรองภายนอกที่จะต้องเกิดขึ้นอีกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะเป็นปัญหาสำคัญตั้งแต่ก้าวแรก คือ โควต้ารัฐมนตรี กระทรวงต่างๆ ที่แต่ละพรรคจะได้รับ ยิ่งไปถึงช่วงพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกจากจะเป็นเรื่องของบรรดา
กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ แล้ว ยังมีส่วนของบรรดา ส.ส.ที่ต้องการจะดึงงบประมาณไปสู่พื้นที่เพื่อให้เกิดผลงานที่ตอบสนองต่อฐานเสียงของ ส.ส. กระบวนการตรงนี้จะยิ่งทำให้เกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการต่อรองภายใน ภายนอก

ดังนั้น การเมืองเช่นนี้ ไม่มีโอกาสที่จะนิ่งได้ง่ายๆ กระบวนการเดินหน้าต่อของรัฐบาลอย่างมีเสถียรภาพก็จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ทั้งนี้จะเกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของระบบรัฐสภาโดยรวมด้วย เพราะประชาชนจะไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธาในระบบรัฐสภา ส่งผลให้ความชอบธรรมของระบบรัฐสภาลดลง

Advertisement

จากภาพที่ประชาชนเห็น คือเรื่องการมีงูเห่า เรื่องการต่อรองที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนเหล่านี้ ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาล รัฐสภา หรือการทำงานขั้นต่อไป เรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จะเป็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามและถูกวิจารณ์อย่างมาก

การที่คุณชวน หลีกภัย มานั่งในตำแหน่งประธานสภา คาดว่าจะสามารถควบคุมสภาได้ ด้วยประสบการณ์ และความมีบารมีของคุณชวนซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ รวมทั้งความแม่นในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ

แต่สิ่งที่น่าคิดคือวันนี้เรามีฝ่ายค้านสมัยใหม่จากพรรคการเมืองใหม่เข้ามามาก ดังนั้นความเก๋าประสบการณ์ของคุณชวนจะเอาคนรุ่นใหม่อยู่หรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าคนใหม่ๆ ในสภาไม่ได้คุ้นชินกับคุณชวน หลายคนเข้าสภาครั้งแรก หลายคนอาจจะเพิ่งมาเป็นนักการเมือง อายุยังน้อยหรืออาจจะยังไม่เคยเจอคุณชวนเลยก็เป็นไปได้ ดังนั้นคุณชวนก็มีโอกาสที่จะไม่รู้จักคนเหล่านี้เหมือนกับที่รู้จักหลายๆ คนที่เวียนหน้ากันในสภาช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงอาจเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าคุณชวนน่าจะเอาอยู่

แต่สิ่งที่ประชาธิปัตย์เดินเกมในสภาด้วยความเจนจัดทางการเมืองนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดอย่างมากว่าการที่คุณชวนมาเป็นประธานสภาก็คือยุทธศาสตร์ในการที่จะกอบกู้วิกฤตศรัทธาของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากการเข้ามาของคุณชวน 1.จะเป็นการสร้างพื้นที่การเมืองให้กับประชาธิปัตย์ เป็นการเปิดพื้นที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งสอดรับกับสิ่งที่ประชาธิปัตย์เคยประกาศเอาไว้ ว่าขอเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ

2.คุณชวนมีบารมี และมีประสบการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะทำให้สามารถเอาตัวรอดในสภาในตำแหน่งประธานสภาได้ 3.การเข้ามาของคุณชวนจะทำให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์เปรียบเทียบกับหัวหน้ารัฐบาล ซึ่ง ณ วันนี้ก็คงจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากมีการประชุมที่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมด้วย ก็จะเกิดการเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ทั้งเรื่องของความสุขุม การพูดจานุ่มนวล ความเป็นกลาง เหล่านี้คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์จะได้ในการสนับสนุนคุณชวนในครั้งนี้

สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเกมที่ประชาธิปัตย์สามารถเดินได้เหนือกว่าพลังประชารัฐที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะโดยหลักแล้วที่นั่งประธานสภาควรจะเป็นของพรรคที่เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล จึงเชื่อว่าสุดท้ายประชาธิปัตย์มีแต่ได้กับได้ คนที่เสียคือพลังประชารัฐ

การที่ได้ประธานและรองประธานสภาที่เป็นขั้วเดียวกันทั้งหมด แน่นอนว่าจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการทำงานของสภา เช่น เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านก็จะทักท้วงว่าจุดไหนมีความไม่เป็นธรรมในการทำหน้าที่ของทั้งประธาน และรองประธาน แต่ฝ่ายค้านจะไม่ได้เวลาในการอภิปรายที่เพียงพอ มีการรีบชิงปิดสภา หรือมีการทำหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง นำไปสู่การประท้วง สร้างความเสียหายต่อสภา ว่าสภามีความวุ่นวาย ไม่สงบ ข้อวิจารณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น

ถ้าจะให้ดีต้องมีกลไกในการรับฟังความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย เช่น การกำหนดให้รองประธานสภา 1 คน ต้องมาจากฝ่ายค้าน ถ้ามีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่กำหนด ทุกยุคสมัยก็จะเป็นเช่นเดิม

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เป็นปกติของสภาไทยที่มีการใช้ชั้นเชิงทางการเมือง สังเกตว่าเมื่อประชุมแล้วเนื้อหาไม่ไปไหน เพราะมัวแต่สำบัดสำนวนเลยไม่ได้งาน แม้สภานี้จะมีคนรุ่นใหม่ แต่เป็นห่วงว่าเท่าที่เปิดมายังคล้ายเดิม รวมทั้งการประท้วงต้องประท้วงด้วยข้อบังคับและเหตุผล เมื่อคนหนึ่งพูด อีกคนยกมือขอประท้วงเพราะมาว่าพรรคตนเอง แบบนี้คือไม่มีจุดของคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ถ้าสภาจะเป็นอย่างนี้ ก็ไปกันแบบนี้ และจะซ้ำรอยเดิม นี่ยังไม่รู้ว่าต่อๆ ไป พฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างไร ต้องรออีกระยะหนึ่ง ซึ่งต่อไปก็จะมีการแต่งตั้งเลขาฯ ผู้ช่วยเลขาฯ ถามว่ามีเครือญาติไหม มีใครไปสืบหรือไม่ว่าตั้งเครือญาติหรือเพื่อนฝูง ถ้าเป็นอย่างนี้จริงก็ไม่พ้นวงจรเดิม

ปัญหาของเราคือ ไม่เข้าใจว่าวิธีการแบบนี้จะดำเนินไปนานเท่าไหร่ ทำไมต้องซ้ำรอยเดิม ทั้งนี้ เมื่อมีการพิจารณากฎหมายฉบับหนึ่ง ถ้า 2 ฝ่าย โดยเฉพาะเสียงปริ่มน้ำก็จะยิ่งเล่นกันให้ตาย ขนาดคนที่เสียงเยอะกว่ายังไม่ลดราวาศอก เชื่อว่าประธานสภาคงคุมเกมได้ หรือถ้าจะปล่อยก็แล้วแต่เขา

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ผ่านกฎหมายไปหลายร้อยฉบับ นั่นเป็นเพราะว่าเผด็จการ มันง่าย แต่ในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องยาก ความจริงแล้วเขามีกรรมาธิการร่างกฎหมาย ต้องเสร็จแล้ว ไม่รู้จะอภิปรายกันทำไม ส่วนใหญ่แล้วกฎหมายมาจากรัฐบาล ทำให้สภาพิจารณาซ้ำซ้อน

ดังนั้น ถ้าโยนให้สภาเป็นคนริเริ่มกฎหมายเองจะดีกว่า แต่บ้านเราทำหน้าที่เสมือนหัวมังกุท้ายมังกร แทนที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเสนอกฎหมาย กลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นผู้เสนอกฎหมาย เพราะจะแก้ปัญหาของตัวเอง เนื่องจากมีจุดอ่อนที่บริหารราชการแผ่นดินไม่ได้

หน้าที่ของ ส.ส.คือการพิจารณาว่ากฎหมายที่มีอยู่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร จากนั้นต้องนำมาแก้ ดังนั้น ถ้าจะให้ประชาชนหวังให้สภาเป็นที่พึ่ง ไม่รู้จะหวังตรงไหน เพราะสภาต้องเป็นผู้ดูความยุติธรรมว่าฝ่ายบริหารสามารถจัดการได้ดีหรือไม่ ทุจริตคอร์รัปชั่นประชาชนหรือไม่ ซึ่งผู้แทนราษฎรของเราก็ไม่ได้ดูตรงนี้ทั้งหมด

การที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำจะส่งผลต่อการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินอย่างยิ่ง เพราะร่างกฎหมายนี้เป็นตัวใหญ่ ต้องเอาให้เต็มที่ ยังไม่รวมถึงการยื่นญัตติ การตั้งกระทู้ซึ่งจะต้องมีเป็นรายวัน ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลจะไม่มีเวลาทำงาน

งงเหมือนกันว่าไม่มีใครอธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ฟังหรือว่าจะต้องเจอเรื่องแบบนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินต้องเตรียมค่ายกมือ เพราะราคาแพง อยากให้สื่อมวลชนจับตา เพราะถ้าผ่านแล้วต้องถลุงเงินแน่นอน เพราะเขารู้ว่าตัวเองอยู่ไม่ยาว

การที่นายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภา ซึ่งมาจากพรรครองนั้น เป็นได้ เพราะเขาไม่แคร์ นอกจากนี้ยังเป็นความอ่อนหัดของพรรคพลังประชารัฐ ถ้ายังแข็งอยู่ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไปไหน ต้องอ่านมวยให้ออก

ดังนั้น เรื่องที่ประธานสภาได้มาฟรี เชื่อว่านายชวนอ่านไต๋ออก ไม่อยากให้คนอื่นเป็น และการอ้ำอึ้งเป็นเพียงชั้นเชิง ส่วนตัวคิดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่านายชวนต้องเป็นเอง เพราะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จะให้ไปเป็นรัฐมนตรีคงไม่ใช่ เหลือเพียงตำแหน่งเดียวที่ต้องเป็นคือประธานรัฐสภา

 

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเมืองในสภาหลังจากนี้คงจัดตั้งรัฐบาลแบบเสียงปริ่มน้ำ และดูแล้วว่าการโหวตแต่ละครั้งค่อนข้างกระเสือกกระสน ส่วนจะเกิดความวุ่นวายต่อการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินหรือไม่นั้น คิดว่าไม่ ถ้าทุกคนมาก็จบ ชนะกัน 3-4 เสียงดังที่เห็น

ด้านอื่นๆ ก็คงเป็นเรื่องที่คนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพได้ตลอดหรือไม่ เพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยังกล่าวประชุมไม่ได้เลย แค่นับองค์ประชุมอย่างเดียวก็เป็นจุดอ่อนสำคัญแล้ว

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากบางครั้งเคยปรากฏเหตุการณ์ที่ฝ่ายค้านเป็นประธานสภามาแล้ว เรื่องนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด

อย่ามองว่าเป็นความวุ่นวาย ถ้ามองในแง่นั้นก็น่าเบื่อ อยากให้มองเป็นเรื่องธรรมชาติของการเมืองที่มีการชิงไหวชิงพริบมากกว่า

 

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะมีเสียงที่ปริ่มน้ำ บวกลบราว 10 เสียง จะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ การออกกฎหมายใหม่อาจมีปัญหา หากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นอุปสรรคของรัฐบาลได้ เพราะต้องระวังกลุ่มที่เป็นงูเห่า รัฐบาลจะเจอความยากลำบากในการบริหารประเทศและการทำงบประมาณต่างๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาภายใต้สภาวะที่ต่างไปจากรัฐบาล คสช.ที่เข้ามาบริหารในช่วงเศรษฐกิจโลกขาขึ้น แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในขาลง มีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า จะเห็นได้จากการส่งออก 4 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจชะลอลง รัฐบาลต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจแต่ต้องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้วย

ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้หากบริหารจัดการไม่ดี ขาดเอกภาพ จะทำให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มต่างๆ และฝ่ายค้าน ซึ่งอาจเล่นการเมืองนอกสภามากขึ้น

รัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นมีลักษณะคนขากะเผลก เดินไม่กระฉับกะเฉง แต่พาร่างกายเดินทางไปได้ หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลขาดเสถียรภาพต้องเลือกตั้งใหม่ แต่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะประคองไปให้ได้ไกลมากที่สุด เพราะหากเลือกตั้งใหม่โอกาสที่จะชนะยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image