ศาสตราภิชาน ‘ล้อม เพ็งแก้ว’ เผยไม่เคยได้ยิน ‘อีช่อ’ เป็นคำด่าในภาษาถิ่น

สืบเนื่องกรณี  นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไลฟ์สดในเฟซบุ๊กวันที่ 28 พฤษภาคม ด่าถึง “อีช่อ” คาดว่ากล่าวถึง “นางสาวพรรณิการ์ วานิช” ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรง และจะขอสอนเกี่ยวกับมารยาทและวิธีปฏิบัติตัวระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ต่อมา ได้ชี้แจงว่า คำ ‘อีช่อ’ เป็นคำที่ชาวราชบุรีใช้กันมานาน มีความหมายถึง ‘คนไม่มีวินัย’ ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามอย่างกว้างขวางนั้น

‘มติชนออนไลน์’ ได้สอบถามไปยัง ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วัฒนธรรม และวรรณคดีภาคกลางถึงประเด็นดังกล่าว

ศาสตราภิชาน ล้อม กล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินคำว่า ‘อีช่อ’ ในลักษณะที่ถูกใช้ในการเปรียบเปรย หรือตำหนิผู้ที่ไม่มีวินัย อย่างไรก็ตาม มีคำที่ใกล้เคียงกันซึ่งมีความหมายในแง่ลบคือ ‘ฉ้อ’ ซึ่งออกเสียงเหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน  โดยมีความหมายถึงการฉ้อโกง ดังนั้น หากมีการใช้คำนี้จริง อาจเป็น ‘อีฉ้อ’ แต่ตนก็ไม่เคยได้ยินอยู่ดี

Advertisement

ทั้งนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ ช่อ หมายถึง ใบไม้หรือดอกไม้ที่แตกออกเป็นพวง เรียกดอกของต้นไม้บางชนิด เช่น มะม่วง และสะเดาที่ออกดอกเล็กๆ เป็นกลุ่มหรือเป็นพวง ว่า ช่อมะม่วง ช่อสะเดา , ใบไม้หรือดอกไม้ที่ผูกเป็นกลุ่มหรือเป็นพวง โดยปริยาย เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ช่อดอกไม้ไฟ โคมช่อองุ่น

นอกจากนี้ ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือ ชักรอก เช่น ตีม้าฬ่อช่อใบใส่เสา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image