เปิดเอกสารโบราณ คำด่าสารพัด ‘อี’ ไม่พบ ‘อีช่อ’ ในปวศ.

เป็นประเด็นชวนให้สงสัยหนักมากในสังคมไทย สำหรับคำว่า ‘อีช่อ’ ซึ่ง ส.ส. หญิงท่านหนึ่งระบุว่า เป็นคำด่าคนแถวบ้านที่ขาดระเบียบวินัย ใช้กันมานานมากในจังหวัดราชบุรี

ประเด็นนี้ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยได้ยิน หรือหากจะมี อาจเป็นคำพ้องเสียงกับ ‘ฉ้อ’ ที่หมายถึง คดโกง ได้หรือไม่?

ในการนี้ ‘มติชนออนไลน์’ ได้ค้นข้อมูลย้อนหลังไปยังเอกสารโบราณ ซึ่งมีการระบุถึง ‘คำด่า’ ซึ่งขึ้นต้นว่า “อี” ที่คนไทยใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย โดยปรากฏในวรรณกรรม กฎหมาย อีกทั้งพจนานุกรมไล่เรียงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

Advertisement

เริ่มที่ วรรณคดี บทละคร มโนราห์ ปรากฏคำว่า “อีปากกล้า” รวมถึงคำด่าอื่น ความว่า

“รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน
พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง
นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง
ทั้งพี่ทั้งน้อง เราเหล่าดอกทองเหมือนกัน
ดอกทองทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์
ดอกทองเสมอกัน ทั้งองค์ราชมารดา”

Advertisement

ส่วนกฎหมาย ปรากฎคำขึ้นต้นว่า “อี” มากมาย ในมาตราที่ 36 ในลักษณะวิวาทด่าตีของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งลักษณะวิวาทด่าตีนี้เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในปีมหาศักราช 1369 ตรงกับปี พ.ศ. 1990 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ความว่า

“มาตราหนึ่ง ด่าท่านว่าไอ้ขี้ตรุ ขี้เมา ขี้ฉกลัก ขี้ลวงคนขาย ขี้โซ่ตรวน ขี้ขื่อขี้คา ขี้ถอง ขี้ทุบ ขี้ตบ ขี้คุก ขี้เค้า ขี้ประจานคนเสีย ขี้ขายคนกินทั้งโคตร ขี้ครอก ขี้ข้า ข้าถ้อย แลด่าว่าไอ้อี คนเสีย คนกระยาจก คนอัปลักษณ์ คนบ้า คนใบ้ ก็ดี แลด่าว่า ไอ้สับเปลี่ยนอีมักชู้ อีสับเปลี่ยนอีมักผัว มึงทำชู้เหนือผัวกูก็ดี แลด่าท่านว่าอีแสนหกแสนขี้จาบ อีดอกทอง อีเย็ดซ้อน ก็ดี สรรพด่ากันประการใดๆ ท่านปรับไหมโดยยศถาศักดิลาหนึ่ง ถ้าด่าถึงโคตรเค้าเถ้าแก่ไหมทวีคูณ”

ถัดมายุคต้นรัตนโกสินทร์ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ ก็พบคำด่าว่า “อี” เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่ง ซ้ำหรือใกล้เคียงกับในพระไอยลักษณวิวาทด่าตีกัน เช่น “อีดอกทอง”  “อีขี้ข้า”  “อีร้อยซ้อน”  “อีกาก”   “อีโกง” “อีหน้าเกือก”  “อีหน้าด้าน”  “อีหน้าเปน”  “อีเคอะ”  “อีหน้าสด” “อีดอกกะทือ” รวมถึงคำจากภาษาชาวบ้าน หรือภาษาถิ่น ที่ไม่ปรากฏในกฎหมาย

หมอบรัดเลย์

บางคำถ้าเอามาใช้ในยุคนี้น่าจะไม่เข้าใจกันแล้ว เช่น “อีแดกแห้ง” “อีร้อยซ้อน” “อีทิ้มขึ้น” เป็นต้น แต่ก็มีอีกหลายคำที่ยังคงเป็นที่เข้าใจหรือยังใช้กัน เช่น “อีผีทะเล” “อีชาติชั่ว” “อีเปรต” และอีกมากมาย

แต่ยังไม่พบ “อีช่อ” ในเอกสารเหล่านั้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สำหรับในจารึกสุโขทัย มีการพบคำว่า “อี” เช่นกัน แต่ไม่ใช่คำด่า ทว่าเป็นชื่อเฉพาะ ในคำว่า “ท้าวอีจาน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image