ที่เห็นและเป็นไป : อยู่อย่าง‘เสียวสันหลัง’

แม้ว่าจะอีหลุกขลุกขลักอยู่ไม่น้อย สำหรับการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ความเชื่อว่านายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จะชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีมากกว่าคนอื่น

ยังไม่มีใครคลี่คลายปม “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ได้

อย่างไรก็ตาม เพราะความทุลักทุเลในการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคที่รับปากในเบื้องต้นว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้เกิดคำถามถึง “เสถียรภาพของรัฐบาล” ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยกันแค่ไหน

แม้ว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จะเชื่อมั่นว่าแค่ขอให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นการจัดการให้เกิดเสถียรภาพไม่ใช่ปัญหาใหญ่

Advertisement

เพราะ “กฎหมายที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” นั้น

อำนาจหลักไม่ได้อยู่ที่ “พรรคการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน “นักการเมือง” ถูกควบคุมเข้มข้นจาก “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” สามารถชี้เป็นคนอยู่ในลู่ และชี้ตายคนไม่อยู่นอกทางได้ง่ายๆ

ข้อหาต่างๆ ที่หยิบมาจัดการคนที่เป็นปัญหามีมากมาย หยิบมาใช้ได้ง่ายๆ เหมือนที่ทำให้ดูแล้วในหลายเรื่อง

Advertisement

ใครไม่อยากได้ก็อย่าริทำตัวให้เห็นออกนอกลู่นอกทาง

ทำให้รัฐบาลอยู่ได้ยาวนั้นทำได้

เพียงแต่ว่า แม้การอยู่ยาวของรัฐบาลยังเป็นไปได้ด้วย “อำนาจที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” แต่การบริหารจัดการให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก การร่วมรัฐบาลของพรรคการเมืองต่าง “ไม่ได้เริ่มต้นด้วยมิตรภาพ” แต่เริ่มด้วยเกมต่อรองเพื่อให้พวกตัวเอง พรรคตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด

กระทั่งขัดท่าทีที่จะสะท้อนความไม่จริงใจมาขู่กันสารพัด

จนเป็นการอยู่ร่วมกันที่ดูจะเริ่มที่ความกินแหนงแคลงจิต ไม่ไว้วางใจกันไปแล้ว

ซึ่งก็ว่าไปสถานการณ์ของแต่ละพรรคบังคับให้ต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง

อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยอดีตหัวหน้าพรรคประกาศอุดมการณ์พรรคไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วยคำอันหนักแน่นว่า “ต้องไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ด้วย 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศเสียหายมากเกินไปแล้ว” เมื่อต้องพลิกมาร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ “รัฐธรรมนูญดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” ย่อมต้องหาเหตุผลที่หนักแน่นในการไปอ้างถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปกับประชาชน

“เก้าอี้รัฐมนตรีที่ดูแลนโยบายที่ประกาศไว้ว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ฐานเสียงได้” เป็นเรื่องจำเป็นต้องมีไว้

ด้วยถ้าไม่มีจะเสี่ยงต่อสภาวะ “พรรคแตก” สูงยิ่งซึ่งเป็นเรื่องทำใจลำบากของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศ

และ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งความโดดเด่นของพรรคคือการวางเกมในการต่อรองให้ได้กระทรวงสำคัญๆ ในรัฐบาลให้มากที่สุด ความสามารถนี้ทำให้นักการเมืองอาชีพมีความเชื่อมั่นในผู้นำ

หัวหน้าหรือผู้บริหารพรรคมีความจำเป็นต้องโชว์การนำให้ลูกพรรคศรัทธา ให้ความไว้วางใจในความเจริญรุ่งเรืองของสมาชิกพรรค

เพราะความจำเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลดังที่ว่ามา ทำให้หากจะถามว่าพรรคที่มีปัญหาในการฟอร์มรัฐบาลมากที่สุดคือพรรคอะไร

คำตอบคือ “พลังประชารัฐ”

การจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “พรรคนี้” ย่อมต้องรู้ตัวเองว่าเป็น “พรรคใหม่”

เป็นพรรคที่มีส่วนผสมอยู่สองซีก คือ “ฝ่ายหนึ่งเชี่ยวชาญทางการเมือง” ลงทุน ลงแรงและทุ่มเทงานเพื่อสร้างพรรคกันมาอย่างเข้มข้น

อีกส่วนหนึ่งเป็น “ละอ่อนทางการเมือง” อาศัยใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจขึ้นมามีบทบาทภายในพรรค

แต่เป็นธรรมดาที่นักการเมืองอาชีพที่อยู่มายาวนาน มีความจำเป็นจะต้องมีตำแหน่งแห่งหน เพื่อให้ประชาชนที่เป็นฐานคะแนนรู้สึกว่ามีสถานะที่พึ่งพาได้

แต่กลับกลายเป็นว่า “ละอ่อนทางการเมือง” ทั้งหลาย กลับเริ่มคุ้นชินในอำนาจที่เคยมีจากรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และยึดติดอำนาจนั้น กระทั่งแสดงท่าทีไม่เห็นหัวนักการเมืองที่จำเป็นต้องรักษาฐานประชาชน

ความวุ่นวาย ยุ่งยากจึงเกิดขึ้น

ท่าทีและคำขู่มากมายของ “นักการเมืองละอ่อน” แสดงต่อทั้ง “เพื่อนร่วมพรรค” และ “ต่างพรรค”

ทำท่าเห็นค่า เห็นอำนาจจาก “นักการเมืองที่ลากตั้งกันเข้า” มากกว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

การนำพรรคแบบนี้

แม้จะอยู่ได้ยาว เพราะ “องค์กรอำนาจนอกสภา” หนุนหลัง

แต่ไม่มีทางอยู่ได้อย่างสงบ ในสภาวะต่างคนต่างซ่อนมีดไว้คนละเล่มสองเล่มเช่นนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image