‘อีช่อ’และอื่นๆ ใหม่ vs.เก่า ปะทะต่อเนื่อง สนั่นสภาไทย

สับสนอลหม่านสูสีการตั้งรัฐบาลก็ว่าได้ สำหรับปรากฏการณ์อันสืบเนื่องจากการประชุมสภา ซึ่งก่อเกิดวิวาทะหลากประเด็น เริ่มตั้งแต่การยื่นหนังสือขอแต่งกายตาม “เพศสภาพ” ของกลุ่ม ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศของพรรคอนาคตใหม่ นำมาซึ่งการวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนจากฟากฝั่งที่มองเป็นเรื่องไม่มีสาระ ซ้ำทำลายขนบประเพณี เช่นเดียวกับ ส.ส.ชาวม้ง พรรคเดียวกันที่สวมชุดหลากสีสันของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ของตนเข้าสภา จนถูกตราหน้าว่าไม่เคารพสถานที่อันทรงเกียรติ

ไหนจะการส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อผู้มีคำนำหน้าว่า “นางสาว” เข้าชิงเก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 โดยพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่โฆษกพรรคออกมาขอวอนให้เพื่อน ส.ส.ยุติการเหยียดเพศ ซึ่งยังมีอยู่จริง ปิดท้ายด้วยอภิมหาดราม่า “คำด่าแถวบ้าน” ส.ส.หญิงราชบุรี ที่เฟซบุ๊กไลฟ์เอ่ยวลี “อีช่อ” กระทั่งลุกลามไปสู่การแจ้งความชาวเน็ตรวดเดียว 5,000 ราย

เหตุการณ์เหล่านี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการสะท้อนภาพความขัดแย้ง และแรงปะทะระหว่าง 2 ขั้วความคิด คือ สายก้าวหน้าและอนุรักษนิยมที่ต่างฝ่ายต่าง “รับไม่ไหว” กับความคิดขั้วตรงข้าม

‘เพศสภาพ’ หลากหลาย แต่สุดท้ายต้อง ‘คนเท่ากัน’

Advertisement

แม้องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย จะเคยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับวันสากลยุติความเกลียดกลัวกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มคนเหล่านี้ในสังคมไทยยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียม

เมื่อ ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศพรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หรือกอล์ฟ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ส.ส.ข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เข้ายื่นหนังสือขอแต่งกายตามเพศสภาพ ในการเข้าร่วมพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีการต่างๆ ของรัฐ ก็เกิดคลื่นลมแรงกระเพื่อมจากโซเชียลและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางราย ออกมา “เมนต์” แรงว่าไม่ทำตามขนบประเพณี ซ้ำไล่หัวหน้าและเลขาฯพรรคไปนุ่งกระโปรง

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ หนึ่งใน 4 ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศเปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายคือการแสดงจุดยืนในความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยไม่เรียกร้องสิทธิอะไรมากมาย ไปกว่าคนปกติธรรมดา แค่อยากให้สังคมทำความเข้าใจว่าแอลจีบีทีเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคมเหมือนชายหญิงทั่วไป ไม่ได้แปลกแยก ยืนยันว่าการแต่งกายเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นต้นๆ ที่ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามสามารถเลือกเองได้ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น

Advertisement

ย้อนกลับไปมองบรรยากาศและสถานการณ์ก่อนหน้า ในพิธีรับปริญญา รวมถึงการเข้าถวายบังคมพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำนักพระราชวังก็เคยอนุญาตให้บุคคลที่เข้า แต่งกายตามเพศสภาพมาแล้ว และสุดท้ายสิ่งที่คนกลุ่มดังกล่าวร้องขอก็ไม่ได้ถูก “แตะเบรก” แต่อย่างใด ในรัฐพิธีที่เกิดขึ้น จึงได้เห็นภาพ ส.ส.ผู้หลากหลายทางเพศสวมใส่ชุด “ปกติขาว” ตามเพศสภาพของตน

ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเครื่องแต่งกาย หากแต่มีมิติที่ลึกลงไปถึงประเด็นความเท่าเทียม ประเด็นที่น่าติดตามต่อไปคือการเมืองไทยนับจากนี้ เชื่อว่าประเด็นแอลจีบีทีจะถูกผลักดันอย่างจริงจัง อาจนำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หากสามารถดำเนินไปตามนโยบาย “โอบรับความหลากหลาย” ที่อนาคตใหม่ชูประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขและออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ โดยออกแบบให้มีความเป็นกลางทางเพศ เพื่อที่จะโอบรับทุกคนโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรส หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 โดยยกเลิกการใช้คำว่า “ชาย” “หญิง” และใช้คำว่า “บุคคล” แทน เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ สามารถใช้กฎหมายสมรสและได้รับสิทธิที่พึงได้จากการสมรสได้อย่างเท่าเทียมแท้จริง รวมถึงการเสนอให้กระทรวงแรงงาน พัฒนาร่างและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียม ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เพราะวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ

ส่วนจะเป็นไปได้เพียงใด ยังเป็นเรื่องร่วมลุ้น

อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ กับ ‘ร่างกายใต้บงการ’ ในเรือนร่าง บนเครื่องแบบ

อีกหนึ่งประเด็นที่คาบเกี่ยวทับซ้อนกับเรื่องการแต่งกาย ที่สุดท้ายดราม่าเกิด เมื่อ ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ หรือลุงเก๊ง สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.ม้ง คนแรกของไทยหยิบคอสตูมประจำกลุ่มชาติพันธุ์มาสวมใส่ร่วมประชุมสภา แทนที่จะเป็นเครื่องแบบข้าราชการเฉกเช่น ส.ส.รายอื่น จึงถูกกระหน่ำตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ว่าทำเช่นนี้ไม่ให้เกียรติสถานที่หรืออย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นความไม่คุ้นตา หรือไม่เคยมีสมาชิกสภา เป็นชาวชาติพันธุ์ หรือการไม่ศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้านก็ไม่อาจทราบได้ แต่ในข้อเท็จจริง ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ยืนยันว่า ในรัฐสภาต่างประเทศ มีการแต่งกายตามชาติพันธุ์ โดยบางแห่งก็แต่งชุดแบบพื้นเมืองร่วมประชุมสภา ซึ่งเป็นการแสดง “ตัวตน” หรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแปลกประหลาดแต่อย่างใดในเวทีการเมืองโลก

ล่าสุด ส.ส. “ลุงเก๊ง” เอ่ยวาทะที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เสื้อผ้าอาจแปลกตา แต่นี่คือ “พหุวัฒนธรรม” ในนามพลเมืองไทย

ปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งในสังคมที่ออกมาชี้หน้าผ่านแป้นพิมพ์เอ่ยอ้างความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายที่ถูกคาดหวังให้สวมใส่ “เครื่องแบบ” ชวนให้ขบคิดถึงความไม่เข้าใจในพหุวัฒธรรมท่ามกลางสังคมของความหลากหลาย เมื่อย้อนไปพิจารณา “การเมืองของความเป็นชาติพันธุ์” (Political Ethnicity) ในสังคมไทย จะพบว่าในช่วงแรกของกระบวนการสร้าง “รัฐชาติ” มีการผลักดันให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ห่างไปจากศูนย์กลางหรือถูกลงความเห็นว่าไม่เหมือนกับพวกของตัวเอง โดยนัยะของการดูถูกจากศูนย์กลาง เกิดสภาพความเป็น “ชายขอบ” ทางสังคม

ในช่วงเวลาหนึ่ง คนเหล่านี้จึงถูกมองเป็น เพียง “ชนกลุ่มน้อย” ชาวเขาชาวดอย ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นส่วนหนึ่งในผู้คนบนดินแดนที่เรียกว่าราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ความคิดเช่นนี้ยังตกค้างอยู่ในสังคมไทยแม้จะก้าวสู่ยุคใหม่ที่โลกยอมรับในความแตกต่างหลากหลายแล้วก็ตาม

เมื่อขมวดประเด็นทั้งเพศสภาพ และชาติพันธุ์ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สุดท้ายแล้วจะพบว่าเกี่ยวพันกับ “เครื่องแบบ” และระเบียบวินัยไม่ว่าทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวบ่อยครั้งถึงแนวคิดการให้ความสำคัญกับเครื่องแบบ ซึ่งนักมานุษยวิทยาผู้นี้มองว่า เครื่องแบบกลายเป็นของ “ศักดิ์สิทธิ์” ก็เพราะคนสร้างให้เครื่องแบบมีอำนาจในตัวเอง

“เราทำจนกระทั่งเครื่องแบบศักดิ์สิทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มีนักศึกษาคนหนึ่งไปทำงานราชการ เสร็จแล้วก็มาเล่าด้วยความตื่นเต้นตกใจว่า ได้ใส่เครื่องแบบแล้วเดินในห้องประชุม แล้วย่อตัว เหมือนมีสัมมาคารวะ ก็ถูกตำหนิว่าใส่เครื่องแบบไม่ควรจะย่อตัวหรือนอบน้อมถ่อมตัว ไม่มีประโยชน์ แต่จะต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องแบบ คือมนุษย์หายไปเลย เครื่องแบบมันสวมเรา เราไม่ได้สวมเครื่องแบบ ถ้าคุณอยู่ในลัทธิบูชาเครื่องแบบ เครื่องแบบสวมคุณ คุณเป็นแค่ร่างทรงของเครื่องแบบ เครื่องแบบมาประทับทรงคุณ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นหลายคนจึงบอกว่าเครื่องแบบศักดิ์สิทธิ์มาก”

เป็น ‘ผู้หญิง’ มันเหนื่อย เมื่อสภา (ยัง) มี ส.ส.เหยียดเพศ?

ถือเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจมิใช่น้อย สำหรับการเสนอ เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ชิงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 หวังสร้างประวัติศาสตร์ให้ “ผู้หญิง” ได้นั่งเก้าอี้อันทรงเกียรติ แต่สุดท้ายพ่ายแพ้แก่ สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทราผู้เก๋าเกมในวงการ

ประเด็นความเป็นผู้หญิงนี้ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช โฆษก อนค. ยังทวีตข้อความเปิดเผยว่า ในการเข้าประชุมาสภาเพียง 2 วัน มี ส.ส.หญิงหลายรายถูก ส.ส.ชายที่ชินกับวัฒนธรรมเดิมๆ “แทะโลม” ทั้งที่อยู่ในสภา และหัวใจของประชาธิปไตยคือคนเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อมูลของ UN Women หรือ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ยังไม่เข้าข่ายได้มาตรฐานโลก เพราะไทยถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสมอภาคทางเพศต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การถูกโจมตีทางเพศ คือสาเหตุหลักที่ผู้หญิงถอนตัวจากการเมือง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับอินเดีย และนักการเมืองหญิงของไทย ไม่ว่าฝ่ายใด ล้วนถูกโจมตีด้วยประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเพศ

สำหรับสัดส่วนผู้หญิงในสภาถือว่าน้อยมาก โดยยุคที่เคยมีผู้หญิงในสภามากที่สุด คือรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น ในสัดส่วนราว 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังน้อยกว่า สปป.ลาว

เมื่อหันไปดูข้อมูลด้านมานุษยวิทยา ผู้ชายก็ได้รับการนิยามว่าเป็นผู้ได้รับความสำเร็จในการจัดตั้งสถาบันทางสังคม มีบทบาทและได้รับการยอมรับมากกว่าผู้หญิง ซึ่งมักเป็นฝ่ายโอนอ่อนผ่อนตาม สตรีที่มีอำนาจจะถูกมองด้วย “อคติ” ว่าผิดปกติ ใช้เล่ห์เหลี่ยม หรืออย่างมากก็อาจยอมรับว่าเป็นข้อยกเว้น แต่ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นบทบาทหรือสถานภาพที่ควรจะเป็นอย่างชอบธรรม

ความเท่าเทียมทางเพศ และบทบาทของผู้หญิงในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงยังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทายที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันอย่างสุดแรง

ทางเลือกของ ‘ปารีณา’ หลังปรากฏการณ์ ‘อีช่อ’

ลุกลามบานปลายไปไกลเกินฉุดรั้ง สำหรับวิวาทะที่เริ่มจากการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.หญิงราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ดีกรีลูกสาวอดีตรัฐมนตรี ทวี ไกรคุปต์ ซึ่งกล่าวถึงความวุ่นวายในการประชุมสภา โดยมองว่า ส.ส.หญิงบางรายไร้มารยาท ซึ่งไม่เพียงเนื้อหาจะถูกมองว่า “แรงส์มาก” เจ้าตัวยังเอื้อนเอ่ยข้อความ “ฝากไปบอกอีช่อด้วยนะ” ทำเอาโซเชียลวิพากษ์หนักถึงความไม่เหมาะสม พร้อมเข้าไปถล่มชนิดที่ “ลูกน้อง” ตามลบคอมเมนต์แทบไม่ทัน สุดท้ายใช้วิธีปิดเมนต์ แต่ก็ไม่เป็นอันจบเรื่อง หลังปารีณาออกมายืนยันผ่านสื่อว่า “อีช่อ” คือคำเปรียบเปรยที่ใช้แถวบ้าน หมายถึงคนไม่มีระเบียบวินัย ทำชาวเน็ตเดือดปุดๆ ขุดประวัติชีวิตเอามาตีแผ่ อีกทั้งตามค้นหาว่า “อีช่อ” มีในภาษาถิ่นราชบุรีจริงหรือไม่

สถานการณ์ล่าสุด ส.ส.หญิงราชบุรี พุ่งชนอย่างสุดแรงด้วยเข้าแจ้งความดำเนินดคีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวน 5,000 ราย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยระบุว่าถูกคุกคาม และเชื่อว่ามีกลุ่มคนที่ไม่หวังดี โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองพยายามปั่นกระแสโซเชียลสร้างความเกลียดชัง

ท่ามกลางความอีรุงตุงนัง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ‘ไอลอว์’ สะกิดปมชวนให้คิดว่ากฎหมาย “หมิ่นประมาท” มีข้อยกเว้นเมื่อเป็นการติชมโดยสุจริต การเป็น ส.ส.ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะแล้วถูกด่าบ้าง วิจารณ์บ้าง ถ้าไม่ใช่เรื่องเสียหายเกินไปก็อาจเข้าข้อยกเว้น แต่ต้องดูเป็นรายคนว่าด่าว่าอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือการนำกระบวนการยุติธรรมมาข่มขู่ เพื่อให้คนไม่กล้าแสดงความเห็น แต่ถ้าผู้เข้าแจ้งความไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น ยังมีเครื่องมือหรือทางเลือกอื่นที่แก้ปัญหาได้

“ถ้ามีการออกหมายเรียกบุคคลมาสอบปากคำ สุดท้ายอาจไม่ได้ดำเนินคดี หรือดำเนินคดี แล้วศาลยกฟ้อง ก็เป็นการเอากระบวนการยุติธรรมมาขู่เพื่อให้คนไม่กล้าแสดงความเห็นต่อผู้เป็น ส.ส.มากนัก แต่ถ้าไม่ได้มีเจตนาสร้างความหวาดกลัว ก็ควรต้องเลือกเฉพาะคนที่มองว่าความคิดเห็นมีปัญหาจริงๆ แล้วเอามาคุยกันให้สาธารณะรับรู้ถึงเหตุผลที่ต้องดำเนินคดี ไม่ใช่ว่าเอาตัวเลข 5,000 คนมาอย่างนี้ ซึ่งอันตรายว่าต่อไปนี้คนจะคอมเมนต์ ส.ส.ได้ไหม ต้องระวังการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ เจ้าตัวก็มีเครื่องมือหรือทางเลือกอื่นที่จะตอบโต้ เช่น พอเขามาพูดเสียๆ หายๆ เราก็ไปอธิบายได้ว่า ไม่จริง หรืออาจใช้วิธีฟ้องเป็นคดีแพ่ง แทนที่จะเป็นคดีอาญา”

ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวโยงกัน โดยนักวิชาการต่างมองว่าเป็นการฟาดฟันทางทัศนคติระหว่างกลุ่มความคิดเก่า-ใหม่ ที่คงไม่จบลงโดยง่ายในระยะเวลาอันใกล้ เหตุการณ์แนวนี้อาจวนลูปให้เห็นเป็นภาพฉายซ้ำเรื่อยไป ไม่ว่าความปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในวัน เดือน หรือปีไหนๆ ก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังต้องรอดู

ข้อมูลอ้างอิง

-เพศและวัฒนธรรม โดย ปรานี วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งที่ 3 สิงหาคม 2559

-พหุลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image