อปท.ข้องใจ กรมท้องถิ่นสั่งจ่ายเงินหัวละ 7.9 พันบาท อบรมความพร้อมเลือกตั้ง

แกนนำสมาคม ขรก.ข้องใจกรมท้องถิ่นแจ้งเวียน อปท.ใช้งบหัวละ 7,900 บาท จ้างสถาบันอุดมศึกษาอบรมหลักสูตรผู้บริหาร – เจ้าหน้าที่

วันที่ 4 มิถุนายน นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศตั้งข้อสังเกตกรณี สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) แจ้งหนังสือเวียนจัดอบรมการบริหารราชการท้องถิ่นภายใต้พระราชบัญญัติท้องถิ่นที่กำหนดไว้ โดยใช้ทีมวิทยากรจากสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังแห่งหนึ่งให้ความรู้กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประธานสภาท้องถิ่น ข้าราชการและพนักงานท้องถิ่น พร้อมแจ้ง อปท.จ่ายค่าลงทะเบียนรายละ 7,900 บาท ไม่รวมค่าเดินทางไปกลับ จำนวน 34 รุ่น ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2562 ไม่ต่างจากการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ อปท.ไม่น้อยกว่าแห่งละ 3 คน มีค่าใช้จ่ายในลักษณะเดียวกันหัวละ 7,900 บาท อ้างว่าเพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2561 แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งแต่อย่างใด

“สำหรับการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติต่างๆ เป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมฯ อปท.ไม่ควรจ่ายงบประมาณซ้ำซ้อนเพื่อไปอบรม หากมีเจตนาดี กรมควรจัดหลักสูตรอบรมให้หัวหน้ากลุ่มกฎหมายในจังหวัด 76 คน จากนั้นให้นำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรท้องถิ่นภายในจังหวัด หรือหากมีความจำเป็น กรมควรเป็นเจ้าภาพดำเนินการ โดยใช้บุคลากรภายใน แต่การมอบหมายให้องค์กรอื่นจัดอบรม ทำให้ถูกมองว่าอาจมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ จากค่าลงทะเบียนที่ใช้งบค่อนข้างสูง แต่อบรมไม่ถึง 3 วัน มีการแจกกระเป๋าเอกสาร 1 ใบ สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ และเอกสารการอบรม ประเมินค่าใช้จ่ายหัวละ 900 บาท ก็ถือว่าแพงแล้ว“ นายพิพัฒน์กล่าว

ด้าน นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ตัวแทนสมาคมและสมาพันธ์ข้าราชการพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีแนวทางในการผลักดันให้มีร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง “สภาท้องถิ่นแห่งชาติ” ทำหน้าที่กำกับดูแล อปท.ทั่วประเทศแทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผลงานการงานวิจัยทางวิชาการที่ชัดเจน ประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับท้องถิ่นล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540

Advertisement

“ขณะที่การหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ และขณะนี้มี ส.ส.รุ่นใหม่ให้ความสนใจผลักดันกฎหมายของท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อให้ ส.ส.มีงานวิจัยอ้างอิงตามหลักการด้านการกระจายอำนาจ สามารถทำงานในคณะกรรมาธิการได้อย่างเข้มแข็ง หรือเสนอประเด็นในการยกร่างกฎหมายได้ง่ายขึ้น ล่าสุดได้ขอความอนุเคราะห์จากนักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ นักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัย ช่วยกันสร้างผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่นทุกระดับ เพื่อให้มีประเด็นนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายได้ รวมทั้งรวบรวมผลงานเดิมที่มีการทำวิจัยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเสนอความเห็น ” นายบรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image