สมาชิกวุฒิสภากับความกล้าหาญทางการเมือง : โดย ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์

เมื่อครั้งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองต้องการจัดรูปแบบการปกครองในรูปสภาเดียว แต่เนื่องจากยังมีความขัดข้องเรื่องความรู้ความชำนาญในการปกครองประเทศของผู้ที่จะเป็นผู้แทนราษฎรจึงเป็นที่มาของการจัดให้มีวุฒิสภาในระยะหนึ่งเพื่อให้มาเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎร ดังคำกล่าวของนายปรีดี พนมยงค์ ที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า

“ที่เราจําต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจํานวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลําพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร อาจเป็นผู้ที่มีกําลังในทางทรัพย์ คณะราษฎรปฏิญาณไว้ว่า ถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จําเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดําเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง…”

นับแต่นั้นมา เราได้เห็นพัฒนาการเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาดังปรากฏตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ในอดีต ซึ่งพบว่าจากรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับ มีอยู่เพียง 10 ฉบับที่กำหนดให้มีวุฒิสภา โดยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม เลือกตั้งทั้งหมด เลือกตั้งโดยตรงแต่เฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากจังหวัด หรือคัดเลือกกันเอง รวมถึงพัฒนาการด้านอำนาจหน้าที่ ที่เริ่มแรกกำหนดอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาไว้ในฐานะเป็นสภากลั่นกรองกฎหมาย และต่อมาได้เพิ่มเติมให้มีอำนาจเป็นสภาตรวจสอบ อันสะท้อนให้เห็นว่า แนวความคิดเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัวชัดเจนและยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในแนวความคิดเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่ ความคาดหวังของประชาชนในการให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง มีอิสระทางความคิดเห็น ไม่ถูกการเมืองครอบงำ ทั้งจากฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างสง่างามสมเกียรติภูมิของวุฒิสภา รวมทั้งความต้องการให้สมาชิกวุฒิสภาได้มีส่วนรับรู้ถึงปัญหาและผูกพันกับท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนอยู่ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความหลากหลายและเป็นกลางมากที่สุด และต้องไม่มีความเกี่ยวพันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังเช่นที่เคยถูกเรียกในอดีตบางช่วงว่า สภาผัวเมียหรือสภาครอบครัว

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้วต้องไม่ลืมว่าเป็นตัวแทนของประชาชนมิใช่ตัวแทนของผู้ที่แต่งตั้ง หาไม่แล้ว จะเกิดการย้อนรอยวิกฤตศรัทธาเหมือนครั้งในอดีตก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่เห็นชัดว่า การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาบางครั้ง เป็นการแต่งตั้งเพื่อเป็นการให้รางวัลทางการเมือง อันส่งผลให้ความเชื่อถือในตัวสมาชิกวุฒิสภาเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยภาคประชาชนก้าวสูงขึ้นเป็นลำดับ

ดังนั้น การปลดแอกจากข้อครหาว่าการได้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภานั้นเป็นเพราะสามารถ “สั่งได้” จึงต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมืองที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง มีอิสระทางความคิดเห็น ไม่ถูกการเมืองครอบงำ มิเช่นนั้น จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยต่างตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันกับผู้ที่แต่งตั้งตนเข้ามาแต่เพียงเท่านั้น

ท้ายนี้ ขอยกคำกล่าวของ จอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ว่า “ในสถานการณ์แห่งชีวิตที่บุคคลต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องความกล้าหาญ อะไรก็ตามที่เขาต้องเสียไปจากการกระทำตามจิตสำนึกแห่งตน-การสูญเสียเพื่อนฝูง ความมั่งคั่ง ความสบายใจ แม้กระทั่ง ความเคารพจากเพื่อนร่วมชาติ-บุคคลนั้นต้องตัดสินใจสำหรับสิ่งที่จะตามมาสำหรับตัวเขาเอง”

Advertisement

เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่าสมาชิกวุฒิสภานั้น ต้องเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริงของประชาชน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image