ที่เห็นและเป็นไป : แค่‘ทนได้’ก็อยู่ยาว

หลังประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย เปิดให้อภิปรายคุณสมบัติคู่ชิงนายกรัฐมนตรีได้เต็มที่ในการประชุมรัฐสภาที่เพิ่งผ่านมา

ในคำถามที่ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับคะแนนโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่จะอยู่ได้ยาวแค่ไหน

คำตอบหลังฟัง ส.ส.ไล่ถล่มอย่างหนักหน่วง ส่วนใหญ่จะชี้ว่า “อยู่ไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ยาว”

เหตุผลก็คือ “เสียงสนับสนุนกับเสียงต่อต้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ต่างกันแค่ไม่กี่เสียง ไม่มีทางที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอำนาจแบบหัวหน้า คสช.มาคุ้มครอง ทุกอย่างย่อมเปราะบาง จนมองไม่เห็นทางที่จะรักษาเก้าอี้ไว้นาน”

Advertisement

คำตอบนั้นน่าจะมองอย่างผิวเผิน ใน 2 ประเด็น

เรื่องแรก ความเคยชินกับรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าอำนาจขึ้นอยู่กับรัฐสภา โดยเฉพาะ “สภาผู้แทนราษฎร”

ด้วยก่อนหน้านั้น “สมาชิกรัฐสภา” ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ทั้ง “ส.ส.” และ “ส.ว.” มาจากการเลือกตั้ง   อีกทั้งบทบาทหลักอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลต้องควบคุมเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรไว้ให้ได้ในจำนวนที่อุ่นใจ จึงจะถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

Advertisement

แต่วันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว กติกาใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นแกนหลักได้โยกอำนาจจากรัฐสภาออกมาอยู่ที่องค์กรต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ

องค์กรเหล่านี้ทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งโดยคณะผู้มีอำนาจ และดูจากความเป็นมาของแต่ละบุคคลแล้วถือว่าอยู่ในระดับไว้วางใจได้สูงยิ่งทั้งนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในรัฐสภาเอง สภาผู้แทนราษฎรที่เคยเป็นหลักถูกลดบทบาทลง โดยวุฒิสภาสามารถเข้ามามีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น

ด้วยกติกา และผู้ตีความกติกาที่พร้อมจะเอื้อให้ไปในทางที่ผู้มีอำนาจต้องการ

นี่คือความเปลี่ยนไปอย่างแรกที่การประเมินว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพอาจจะมองข้ามไป

ในอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เพราะประเมิน “ความทนได้” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่ำไป เนื่องจากไปประเมินจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่รู้ตัวเองว่าอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช.มีล้นเหลือขนาดไหน แสดงอย่างไรต่อใครเมื่อเกิดอาการไม่พอใจขึ้นมาก็ไม่สะเทือนต่อสถานะอย่างไร ไม่จำเป็นต้องระมัดระวังอะไรให้มาก

แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนไป เชื่อได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ย่อมฉลาดพอที่ปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ความสามารถที่จะอยู่ใน “สภาวะทนได้” จะมีมากขึ้น

ด้วยวิธีการรับมือที่ต่างไป

ดังนั้น เมื่อบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร มีแต่การอภิปราย ซึ่งสามารถควบคุมผลการแสดงมติได้ด้วย “กติกาที่ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ ประกอบกับการปรับลีลาเพื่อรักษา “สภาวะทนได้” ไว้

ย่อมไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดแรงสะเทือนจนอยู่ไม่ได้

หากถามว่าระหว่าง “กลไกในโครงสร้างอำนาจ” ซึ่งรวมถึง “รัฐสภา” ด้วย กับ “ศักยภาพความทนได้” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” อะไรอ่อนไหวที่จะเกิดความเปราะบางมากกว่า

หลังจากประเมินความสัตย์ซื่อ ภักดี ของ “250 ส.ว.” กับ “ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล” แล้ว

“ศักยภาพความทนได้ของ พล.อ.ประยุทธ์” น่าห่วงกว่า เนื่องจากว่า “ส.ส.ฝ่ายค้าน” นั้น แม้ไม่มีศักดานุภาพในการทำให้รัฐบาลล้มได้ แต่ทุกคนมีปากที่จะพูด

และเมื่อปากเป็นอาวุธอย่างเดียวที่จะใช้ต่อสู้ได้ ทุกคนจะฝึกการใช้ให้มีประสิทธิภาพเข้มข้นเพื่อให้เกิดอานุภาพที่รุนแรงขึ้น

เพราะยิ่งนานวันทุกคนจะยิ่งประจักษ์ว่า “รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์ไว้เพื่อพวกเรา” นั้น มีอิทธิฤทธิ์ที่จะคุ้มครองไม่ให้ใครทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์

หนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ คือทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ทนไม่ได้”

ซึ่งไม่มีทางสำเร็จเลย หาก “พล.อ.ประยุทธ์” เพิ่ม “ความทนได้” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเพียงพอ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image