58 นายอำเภอ เฮ มท.คืนเก้าอี้ ศาลสั่งทุเลาคืนราชการ

58 นายอำเภอ เฮ มท.คืนเก้าอี้ ศาลสั่งทุเลาคืนราชการ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ (นอ.) ปี 2552 นอ.รุ่น 68-70 โดยมีผู้ถูกชี้มูล 122 คน ประกอบด้วย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครองในขณะนั้น นายสำราญ ตันเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรมการปกครอง และผู้เข้าสอบและผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมหลักสูตร นอ.จำนวน 119 คน ที่ถูกกล่าวว่ากระทำการทุจริตในการสอบ มีการแก้ไขกระดาษคำตอบที่ออกมาเป็นคำตอบเดียวกันว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 161 และ 162 (1) (4) ฐานทุจริตต่อหน้าที่และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และมูลความผิดทางอาญาฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ต่อมากรมการปกครองได้มีคำสั่งไล่ออกข้าราชการที่ถูกชี้มูลทั้งหมด 119 คน ในปี 2557 เป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกรมการปกครอง ไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และในปี 2558 ก.พ.ค.มีความเห็นว่า คำอุทธรณ์ฟังขึ้น จึงให้ลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออกจากราชการ ต่อมากลุ่ม นอ.ที่ถูกไล่ออกได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองในคดีดำที่ ฟบ.11/2559 ที่นายคิม ปรีเปรม กับพวกรวม 89 คน ที่ถูกไล่ออก ได้ยื่นฟ้อง ก.พ.ค. ป.ป.ช. ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-6 เพื่อขอคืนประโยชน์ต่างๆ พร้อมดอกเบี้ยที่มีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้ง 89 คน และผู้ฟ้องเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดผู้ฟ้องในความผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง รวมทั้งในขณะที่มีการรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้สิ้นผลโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นเหตุให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.สิ้นผลลงด้วยเช่นกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ตามที่เห็นสมควร เห็นได้ว่าเงื่อนไขแห่งการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้มีอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก กฎหรือคำสั่งทางปกครองเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายประการ 2.การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และประการที่ 3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

Advertisement

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4-6 มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีแต่ละรายข้างต้นออกจากราชการตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีแต่ละรายข้างต้นได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าโดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2542 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทบัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการไต่สวนกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่

ดังนั้นหากการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดวินัยฐานอื่นอันไม่ใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่ เช่นในคดีนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีแต่ละรายกระทำความผิดวินัยร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, 4-6 จะต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตามตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 แล้วพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้อีก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4, 5, 6

จึงต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วออกคำสั่งลงโทษตามฐานความผิดที่ได้ดำเนินการสอบสวนใหม่ต่อไป ดังนั้นการที่มีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีแต่ละรายออกจากราชการตามข้อพิพาทนี้โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยก่อนออกคำสั่ง คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายซึ่งเข้าเงื่อนไขประการแรกว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเงื่อนไขที่ว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริหารสาธารณะหรือไม่ เห็นว่าเมื่อพิจารณาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะระหว่างการให้ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างการพิจารณาคดีย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราชการที่จะได้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นผลให้มีกำลังคนหรือบุคลากรเพิ่มขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐก่อให้เกิดความรวดเร็วต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้จะทำให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4-6 ต้องจัดหาตำแหน่งให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นกรณีที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ซึ่งไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการแต่ อย่างใด

Advertisement

จากเหตุผลข้างต้นกรณีจึงเห็นได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ 1-4 ,7-11, 13-16, 21, 22, 24-28, 32-34, 39-47, 49-51, 54, 56-61, 63, 66, 69, 70, 72, 74, 76-83, 85-87 (จำนวน 58 ราย) ขอให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่ปลดผู้ฟ้องคดีตั้งแต่ไล่ออกจากราชการมาเป็นชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดีที่ 4-6 ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุดว่า ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ลงนามในคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งลดโทษและให้กลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตามคำสั่งที่มีการลงโทษข้าราชการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 จากไล่ออกเป็นปลดออก และต่อมาได้มีการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้มีคำสั่งหรือมาตรการใดๆ เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งทุเลาโทษ การปลดออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2557 เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอื่น และให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม และรับอัตราเงินเดือนเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการต่อสู้กันเรื่อยมากระทั่งปี 2557 ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดข้าราชการทั้ง 122 คน โดยเป็น นอ. 119 คน และบางคนได้เสียชีวิตในระหว่างการชี้มูล ต่อมามีคำสั่งไล่ออกจากกรมการปกครอง ในปี 2557 กระทั่งการต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ตั้งแต่ปี 2559 เป็นเวลา 3 ปี แต่ตั้งแต่เกิดเหตุ จนปัจจุบันคดีนี้ยาวนานถึง 10 ปี

ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ขณะนี้กรมการปกครองได้มีหนังสือไปยังบุคคลจำนวน 58 คนดังกล่าว ให้กลับมารับราชการในตำแหน่งเดิม โดยในคำสั่งศาลมีผู้ได้รับการทุเลา 60 คน แต่เกษียณอายุราชการไปแล้ว 1 คน และอีก 1 คนถูกคำสั่งไล่ออกด้วยกรณีอื่น จึงเหลือ 58 คน ทั้งหมดจะต้องมารายงานตัววันที่ 10 มิถุนายนนี้ ที่กรมการปกครอง เพื่อเดินทางไปรับตำแหน่งเดิมในขณะนั้น เช่น เป็นปลัดอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ก็มารายงานตัวที่กรมการปกครองและรับหนังสือส่งตัวเพื่อไปรายงานตัวกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนเดิม และได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดิม จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น เมื่อถามว่า การกลับเข้าสู่ตำแหน่งจะมีผลกระทบต่ออัตราข้าราชการที่มีอยู่เดิมหรือไม่

ร.ต.ท.อาทิตย์ กล่าวว่า ทางกรมการปกครองจะต้องหารือไปยังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณอัตราเงินเดือน ส่วนเรื่องหน่วยงานในพื้นที่ไม่มีปัญหาเพราะตำแหน่งปลัดอำเภอมีหลายอัตรา จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 10 มิถุนายน ที่จะมีการเข้ารายงานตัวนั้น กลุ่มผู้ที่ได้รับการทุเลาคดี จะเข้าพบอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อรายงานตัวและขอความเมตตาให้ถอนฟ้องคดีละเมิดทางแพ่ง ที่เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ถูกปลดออกคนละ 50,000 บาท เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดสั่งทุเลาโทษแล้ว และหากกรมการปกครองจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงอีกครั้ง ผู้ที่ถูกทุเลาโทษ จะขอความเห็นใจให้ฟังข้อมูลให้รอบด้าน และสอบปากคำข้อเท็จจริงจากทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจำนวนผู้ที่ถูกปลดออกจากโทษดังกล่าว มีทั้งหมด 119 คน เสียชีวิตทั้งในช่วงชี้มูลและช่วงต่อสู้คดี 4 คน และเกษียณอายุอีกนับ 10 คน จึงเหลือผู้ร่วมฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด 90 คน บางส่วนมีทนายแนะนำให้ยื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวเพื่อทุเลาคดีรวม 62 คน และบางส่วนไม่ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อทุเลาคดี เพราะทนายแจ้งว่าจะทำให้คดีล่าช้า ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งทุเลาคดี 62 คน แต่เป็นผู้เกษียณอายุ 1 คน มีโทษถูกไล่ออกจากกรณีอื่น 1 คน และอีก 58 คน เป็นข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง และอีก 1 คน เป็นข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอีก 1 คน เป็นข้าราชการในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ใน 58 คนของกรมการปกครอง ยังมีผู้ที่จะเกษียณอายุในเดือน กันยายนนี้อีกหลายคน ส่งผลให้ได้กลับเข้ารับราชการเพียงแค่ 3 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image