วิเคราะห์เบื้องลึก ชิงเก้าอี้ ‘กระทรวง ศก.’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ ภาคเอกชน และนักการเมืองฝ่ายค้าน กรณีความขัดแย้งของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เจรจาชิงโควต้ารัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ
——————
วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การแย่งชิงกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ทั้งคมนาคม พาณิชย์ และเกษตร เป็นไปเพื่อผลประโยชน์หรือขับเคลื่อนนโยบายควบคู่กัน เข้าใจได้ว่าพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องการกระทรวงเหล่านี้ในการขับเคลื่อนเพื่อล้อไปตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่อีกแง่ก็เพื่อเกลี่ยกระจายบทบาทของ ส.ส.ทุกกลุ่ม ที่ใช้กระทรวงหลักเหล่านี้ในการผลักดันหาเสียง จึงหมายมั่นปั้นมือว่าการได้กระทรวงเหล่านี้จะสามารถผลักดันผลงานเป็นรูปธรรมทั้งในนามพรรคและตัว ส.ส. ที่เข้าไปทำหน้าที่ในกระทรวงเหล่านี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันจะกลายเป็นตำบลกระสุนตก ที่ทุกสายตาทางสังคมจะจับตามองว่า ทำไม พปชร.กระเหี้ยนกระหือรืออยากได้กระทรวงทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ มีผลประโยชน์ทับซ้อนของตัวนักการเมืองมากกว่าเรื่องการผลักดันนโยบายที่ใช้หาเสียงหรือไม่ เพราะทุกพรรคการเมืองล้วนมีความจำเป็นทั้งสิ้นที่จะได้กระทรวงเหล่านี้ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร

สมมุติว่าประชาธิปัตย์ได้ครอบครองกระทรวงเกษตร หรือกระทรวงพาณิชย์ ทิศทางนโยบายที่ พปชร.พยายามผลักดันไว้ก่อนหาเสียงอาจจะเปลี่ยนโฉมไปทั้งหมด ยกเว้นว่าจะเอายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาปรับให้สอดรับกับนโยบายของ ปชป. หรืออีกทางหนึ่ง พปชร.อาจแต่งตั้งบุคคลในพรรคมาเป็น รมช. เพื่อแบ่งงานให้สามารถผลักดันล้อกับนโยบายของพรรคได้

นาทีนี้มีแต่เสียงออกมาจากฝั่ง พปชร.ที่หยิบยื่น แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับจากประชาธิปัตย์ ถ้า ปชป.รับข้อเสนอของ พปชร.ที่จะยื่นกระทรวงศึกษาฯ พร้อมพ่วงกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงยุติธรรม เพื่อแลกกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ในรูปของคะแนนนิยมและฐานเสียง ปชป.อาจจะได้ภาพลักษณ์ของต้นทุนทางสังคม เพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นเรื่องของหน้าตาประเทศ ในขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ ถ้า ปชป.มองเป็นเกมอย่างลึกซึ้ง พปชร.หรือ คสช.ดูแลกระทรวงศึกษาฯมา 5 ปี ก็จะมีปัญหาเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายตามรัฐมนตรีที่ได้เข้าไปบริหารกระทรวงนี้ เพราะ ปชป.จะต้องเข้าไปปรับรื้อ ซึ่งจะกระทบกับทิศทางการทำงานของข้าราชการ แน่นอนว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อฐานเสียงด้วย เพราะข้าราชการในกระทรวงศึกษาฯอยู่มาจนคุ้นเคยแล้ว เมื่อมาปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงหลักสูตร อาจกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งได้ในอนาคต

Advertisement

ซึ่งสำคัญที่สุดคือ ปชป.จะต้องยืนกราน กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ เพราะสามารถผลักดันหรือแก้ปัญหาให้เห็นผลได้ทันทีหรือรวดเร็วกว่า เนื่องจากโจทย์ของ ปชป.คือจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าดีขึ้นกว่าที่รัฐบาล คสช.เคยบริหารประเทศมา 5 ปี แต่ถ้า ปชป.ได้กระทรวงศึกษาฯจริง เท่ากับว่าจะไปง้างคนที่กุมอำนาจในกระทรวง คือข้าราชการประจำ แม้ว่าจะเป็นกระทรวงที่ใหญ่ แต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรที่จะเข้าไปบริหารหรือคุมบังเหียนให้เป็นไปตามทิศทางที่พรรคได้วางยุทธศาสตร์ไว้ ท่ามกลางรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ดังนั้น ปชป.จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะจะได้คะแนนนิยมเฉพาะ ส.ส. แต่ไม่ได้ต่อยอดเรื่องคะแนนนิยมของพรรคมากนักหากเทียบกับการแก้ปัญหาของกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ

ส่วนพรรคภูมิใจไทย หากได้กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยว ตามข้อเสนอของ พปชร. แน่นอนว่าภูมิใจไทยพอใจในกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพราะบุคลากรมีความพร้อม แต่กระทรวงพลังงาน ยังมองไม่ออกว่าภูมิใจไทยจะเข้ามามีมิติทำงานด้านพลังงานได้อย่างไร ก็เทียบไม่ได้กับกระทรวงคมนาคม ที่เป็น เอบวกบวก ยกเว้นว่า พปชร.

ให้กระทรวงพลังงาน แต่เพิ่ม รมว.อีก 1 กระทรวง รวมแล้ว 4 รมว. กับ 4 รมช. เช่นนี้ก็น่าพูดคุยกว่า แต่ถ้าเป็น 3 รมว.เช่นเดิม คิดว่าภูมิใจไทยก็ไม่น่าจะแฮปปี้ เท่ากับว่าการที่ภูมิใจไทยหรือ ปชป.เคยต่อสายกับผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้จัดการตัวจริงของ พปชร. ก็ไม่เป็นไปตามสัจจะบุรุษ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความหวาดระแวงในการร่วมงานทางการเมืองในอนาคต และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพการทำงานร่วมกันกับสภานิติบัญญัติได้

Advertisement

การที่มีกระแสข่าวว่าภูมิใจไทยยอมที่จะคืนกระทรวงคมนาคม แลกกับการได้กระทรวงพลังงาน ภาษาทางการเมืองถือว่าเป็นการยอมมากเกินไป ภูมิใจไทยจึงต้องยืนกรานที่สุด เพราะการปล่อยข่าวเช่นนี้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวของการเจรจาไม่ลงตัวเรื่องสัดส่วนเก้าอี้ รมว.ใน พปชร.เอง ที่มากระทบกระเทือนต่อโควต้ารัฐมนตรีของพรรคร่วม

การที่ พปชร.ต้องการกระทรวงคมนาคม เพราะสามารถจัดสรรปันส่วนและแบ่งบทบาทหน้าที่ให้กับ ส.ส.ในพื้นที่ได้ ซึ่งจะมีเนื้องานมากกว่า จึงอ้างการสร้างเครือข่ายสิ่งก่อสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ ทั้งรางรถไฟสนามบิน ที่กำลังจะเติบโตงอกเงย ซึ่งความเป็นจริงไม่ว่าใครเข้าไปก็ต้องผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้ว

หากมองในภาพรวม การแย่งชิงกระทรวงด้านเศรษฐกิจสะท้อนให้เห็นว่า ทุกพรรคการเมืองเน้นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงหากไม่ได้รับมอบกระทรวงทางเศรษฐกิจสุ่มเสี่ยงต่อการร้องเรียน หรืออาจยื่นตรวจสอบว่าที่โฆษณาหาเสียงก่อนการเลือกตั้งไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงเรื่องคะแนนนิยมและการถูกถอดถอนได้ ทุกพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตั้งใจแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว พปชร.ต้องรู้จักเล่นบทถอย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการหยิบยื่น แลกเปลี่ยน เช่นอาจมีข้อเสนอว่าเมื่อถอยแล้ว อีก 6 เดือน หรือ 1 ปี ประเมินผลงานของ รมว.แต่ละกระทรวงว่าสอบผ่านหรือสอบตกอย่างไรน่าจะดีกว่า หาก พปชร.ไม่ยอมบ้าง จะกลายเป็นที่จับตามองว่าเป็นเรื่องของการเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ สร้างความเคลือบแคลงต่อภาพลักษณ์ และจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของ พปชร.ในที่สุด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

กรณีการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบันที่ยังไม่ลงตัวเข้าใจได้ ต้องมองควบคู่กันไป เนื่องจากนโยบายสำคัญบางเรื่องมาจากพรรคใหญ่พรรคหนึ่งที่แน่นอนว่าผู้ทำนโยบายไว้ต้องการเดินต่อ เพราะถ้าไม่เดินต่อก็ไม่มีใครยืนยันว่านโยบายนั้นๆ พรรคที่ได้ดูแลจะเดินหน้า จะมีเกิดผลสำเร็จหรือไม่ อาทิ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งนาทีนี้การจะกระตุ้นการลงทุนของประเทศด้วยการเชิญชวนชาวต่างชาติมาลงทุนจะใช้วิธีการเดิมๆ มีต้นทุนการผลิตที่ถูกไม่ได้แล้ว ไทยไม่เหมือนประเทศรอบๆ ข้างอย่างเวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนแรงงานถูก และมีแรงงานจำนวนมาก เพราะไทยมีการอัพเกรดต้นทุนด้านค่าแรงที่แพงกว่าประเทศอื่น และจำนวนแรงงานลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยค่อนข้างสูงกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้นักลงทุนต่างชาติจึงไม่มองว่าไทยคือเป้าหมายของต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้น ในส่วนของไทยเองจึงต้องปรับตัว ปรับการผลิตให้ใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อดึงนักลงทุนที่เน้นเทคโนโลยีสูง มีนวัตกรรม มีการเพิ่มมูลค่าสูง จ่ายค่าแรงในอัตราที่แพงขึ้นได้ ขายสินค้าแพงขึ้น ภาพประเทศไทยเป็นเช่นนี้ การพัฒนาอีอีซีจึงเป็นคำตอบสำหรับการลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันผลักดันไว้ ดังนั้น จึงแน่นอนว่ารัฐบาลชุดใหม่อยากเดินหน้า

ส่วนพรรคการเมืองที่ตอบรับร่วมรัฐบาล เตรียมเข้ามาบริหารประเทศ และอาจอยู่ระหว่างหารือเรื่องตำแหน่งกับพรรคใหญ่นั้น ก็เข้าใจได้เช่นกันว่าเหตุใดจึงมีความต้องการบางกระทรวงอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเคยดูแล มีนโยบายที่ทำค้างไว้ มีความถนัด มีความคุ้นเคยกับข้าราชการ คุ้นเคยระบบการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความง่าย มองภาพทะลุ สามารถบริหารออกมาได้ดีแน่นอน ดังนั้น เวลานี้จึงเหลือเพียงอย่างเดียว คือ การตกลงของทุกฝ่ายว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร เพราะแม้จะมีความถนัดด้านใดด้านหนึ่ง กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่หลายพรรคอยากได้เหมือนกัน ตรงนี้จึงเหนื่อยหน่อย

การจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีรอบนี้ ดูแล้วเข้าใจเลยว่ายากจริงๆ เพราะจำนวนพรรค จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีจำนวนมาก จึงต้องมีการเกลี่ยให้สมดุล เหมาะสมที่สุด ซึ่งข้อดีของระบบนี้คือ มีการกระจาย เป็นเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ คุมเสียงข้างมาก หรือมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ สิทธิขาดจริงจังเหมือนในอดีต แต่พอเป็นแบบนี้ก็มีด้านลบเช่นกัน คือ ในการทำงานจริงๆ บางเรื่องมีหลายฝ่ายเกินไปก็ทำให้ตกลงกันได้ยาก การเดินไปข้างหน้า การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ อาจจะช้าหน่อย ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องรอให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยทั้งหมด จะต่างกับช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีประเด็นที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน ปัญหาที่จำเป็นต้องจัดการจริงๆ จะมีการใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขทันที แต่รอบนี้ต่างคนละขั้ว เพราะต้องฟังทุกเสียง ทุกพรรคที่ตอบรับร่วมรัฐบาล ยกมือสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแต่ละคนที่เข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้มีความคาดหวังเหมือนกันคือ การทำงาน ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือความมุ่งหวังที่เราจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน อะไรที่ระหว่างทางคิดไม่เหมือนกัน ใช้วิธีต่างกัน ก็อยากให้ยอมๆ กันบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้ เพราะสุดท้ายปลายทางคือจุดหมายเดียวกันที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว จากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถูกรุมเร้าจากหลายชาติ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยหลัก ได้สะเทือนไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ เพราะ 70% ของรายได้ประเทศไทยคือการพึ่งพาการส่งออก พอการค้าตลาดโลกทรุด ผลกระทบมาแน่ๆ อยู่แล้ว กระทบไทยทุกภาคส่วนเลย ทั้งผู้ประกอบการส่งออก ผู้ผลิต เกษตรกร แรงงาน เหนื่อยทั้งหมด

สำหรับการต่อรองล่าสุดของพรรคการเมืองต่อ 2 กระทรวงเศรษฐกิจ อยากให้เร่งหารือกัน ไม่อยากให้ใช้เวลานานเกินไป เพราะเข้าใจว่าการตกลง ต่อรอง เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง แต่เรื่องระยะเวลาควรชัดเจนว่าจะตกลงกันเสร็จภายในวันไหน อย่างวันเลือกนายกรัฐมนตรี ก็กำหนดชัดเจนว่าจะเลือกวันที่ 5 มิถุนายน และก็สามารถเลือกได้ภายในวันนั้นจริงๆ เรื่องนี้ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ เกิดความมั่นใจ เพราะในระดับการเลือกรัฐมนตรี เลือกกระทรวงนั้นหากกำหนดว่าจะเสร็จภายในวันไหน กำหนดวันประกาศ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้เช่นกัน เพราะตอนนี้ไม่อยากให้ช้า การช้ายิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือการจัดนโยบายใหม่ๆ ยิ่งช้า

ปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นหลายด้านที่ต้องใช้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการเข้ามากอบกู้สถานการณ์การส่งออกให้ขยายตัวตามเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่จะรับมือกับการส่งออกที่ได้ลดลงจากสถานการณ์ของโลก คือ การเดินหน้าเจรจาเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) กับประเทศใหม่ที่ไทยยังไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการค้างไว้ เพราะยุคปัจจุบันการค้าของโลกเริ่มใช้มาตรการทั้งที่เป็นภาษี และไม่ใช่ภาษี เข้ามากีดกันมากขึ้น นั่นแปลว่าสินค้าของไทยหากส่งออกไปขายในประเทศต่างๆ แต่ไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพราะไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ไปเรื่อยๆ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ขายสินค้าแพงกว่าประเทศคู่แข่งที่ยังได้สิทธิจีเอสพีอยู่ หรือแพงกว่าประเทศที่เค้ามีเอฟทีเอแล้วแต่ไทยยังไม่มี เรื่องนี้จะกระทบต่อการแข่งขันของไทยอย่างมากแน่นอน

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย

ต้องยอมรับว่าการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่นี้ เป็นความร่วมมือกันของหลายพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารของประเทศ แน่นอนว่าภาพความไม่ลงตัวของการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะแต่ละพรรคการเมืองย่อมมีวัตถุประสงค์ที่อยากจะบริหารกระทรวงที่จะสามารถที่จะตอบโจทย์นโยบายสำคัญของตนเองที่ได้นำเสนอไว้กับประชาชนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา

อีกทั้งจะเห็นได้ว่า สาระนโยบายสำคัญๆ หลายอย่างที่แต่ละพรรคได้นำเสนอไว้ในระหว่างการหาเสียงมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้แต่ละพรรคการเมืองมีความประสงค์อยากจะบริหารกระทรวงหลักๆ เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี ในส่วนตัวมองว่าการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรี ไม่ควรจะดูที่ผลประโยชน์ของแต่ละพรรคการเมืองเป็นหลัก ควรจะมองผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะลักษณะของการบริหารจัดการรัฐบาลผสม แม้แต่ละพรรคจะต้องแบ่งกันไปบริหาร แต่ก็ควรมองให้เป็นระบบที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ หากดำเนินนโยบายไม่สอดคล้องกันก็จะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทำได้ยากขึ้นไปด้วย

และที่สำคัญ ในขณะนี้หลายกระทรวงในขณะนี้ไม่มีรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่บริหารอยู่ เพราะได้ลาออกไปเป็นวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่ ยิ่งการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีในการฟอร์มรัฐบาลใหม่มีความขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้น ภาพเหล่านี้ก็ยิ่งเปลี่ยนไปเป็นปัญหาที่ทับถมไปสู่พี่น้องประชาชนสูงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ใครจะไปบริหารกระทรวงใดก็ควรเป็นการบริหารจัดการที่สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะต้องประกาศให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบในเร็ววันนี้

ในทรรศนะส่วนตัวอยากให้ทุกพรรคให้ความสำคัญกับปัญหาและยึดเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง แม้จะเข้าใจว่าการแบ่งเก้าอี้การบริหารงานในแต่ละกระทรวงเป็นผลประโยชน์ของแต่ละพรรคการเมือง แต่วันนี้ประเทศชาติเสียเวลามากพอแล้ว ยิ่งติดขัดปัญหาของพี่น้องประชาชนก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image