“เดชรัต สุขกำเนิด” วิพากษ์การเมือง การเคลื่อนไหว ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมของไทย

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ปัญหาและอุปสรรครวมถึงอนาคตของการเคลื่อนไหวควรจะเป็นอย่างไร?

-ในเชิงวิชาการ มองภาพรวมขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

พลวัตขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ในตะวันตกมีอยู่สามขั้นตอน ในขั้นแรกคือการต่อสู้ของเอ็นจีโอ เกิดขึ้นมากในยุโรปโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 60 – 70 พอมายุค 80 ก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นที่2 จากที่เคยต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็กลายมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านพลังงาน เกิดองค์กรเอกชนซึ่งเป็นผู้นำด้านความคิด ตั้งคำถามและมีคำตอบให้กับสังคม ซึ่งในขั้นที่สองนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการกับคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหวในสังคม ก่อนจะเข้าสู่ยุคที่3 กลายเป็นกระแสหลักของประเทศนั้นแล้ว

ยกตัวอย่างในประเทศเดนมาร์ก เราก็จะไม่เห็นชมรมขอทางสำหรับปั่นจักรยาน เพราะจักรยานกลายเป็นกระแสหลักของประเทศไปแล้ว พลังงานทางเลือกก็เป็นกระแสหลักไปหมดแล้วเป็นต้น ดังนั้นถ้ามีคนถามว่าขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในตะวันตกหายไปหรือไม่ คำตอบคือไม่ได้หาย แต่มันจะไม่อยู่ในสภาพเดิม มันกลายสภาพเป็นเรื่องของการให้คำตอบกับสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องขององค์กรพัฒนาเอกชน แต่องค์กรธุรกิจก็สามารถให้คำตอบได้ อยู่ที่ว่าคำตอบใครดีที่สุด อย่างเดนมาร์ก สวีเดนก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่สามของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

Advertisement

-ภาพรวมกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นอย่างไร มีอุปสรรคหรือปัญหาอย่างไร

ตอบง่ายสุดคือเราก้าวไม่ผ่านขั้นที่หนึ่ง คือเรายังอยู่ในขั้นเรียกร้อง เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งการที่ขั้นที่หนึ่งจะก้าวไปสู่ขั้นที่สองได้มีปัจจัยที่สำคัญ 1.ความเข้มแข็งทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม 2.รัฐที่เข้าใจและมีความรับผิดชอบ ในแง่นี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมาย 3. ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ยอมรับและเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กระบวนการสิ่งแวดล้อมของเราไม่สามารถก้าวไปสู่ขั้นที่สองได้เพราะภาครัฐของเรา มีปัญหา ตัวอย่างเช่นเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นประเด็นต่อสู้ของไทยที่มีมานาน และเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่แปด ถือว่าเข้าไปอยู่ในรัฐแล้ว ถ้าเทียบกับสังคมตะวันตกก็เหมือนกับขั้นที่สอง แต่ปรากฏว่ารัฐก็เอาไปทำจนเละเทะ ขณะที่อีกฝ่ายก็ไม่สามารถให้คำตอบที่เป็นรูปธรรมโดยไม่ผ่านภาครัฐได้ ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต กระบวนการเคลื่อนไหวจึงวนอยู่ในขั้นที่หนึ่งซึ่งมิใช่ความผิด

-หากจะต้องเข้าสู่พลวัตสามขั้นตอนแบบตะวันตก การเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่?

Advertisement

ผมคิดว่าจำเป็นต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย คือถ้าไม่เป็นสังคมประชาธิปไตย สุดท้ายเราจะไม่ผ่านขั้นที่สามอยู่ดี เพราะองค์ประกอบโดยเฉพาะประชาชนจะไม่เปลี่ยน เพราะหากไม่เป็นสังคมประชาธิปไตย โดยหวังเปลี่ยนแปลงจากอำนาจรัฐ ที่สามารถสั่งการทุกอย่างได้เด็ดขาด สุดท้ายก็ไม่สอดรับกับองค์ประกอบที่สามนั่นคือพลเมือง จนไม่นำไปสู่การผลิตนวัตกรรมในภาพรวมของสังคมอย่างแท้จริง เป็นสังคมที่ไร้แรงจูงใจ ทั้งนี้ความเป็นประชาธิปไตยมันทำให้โจทก์เรื่องสิ่งแวดล้อมท้าทายขึ้น ไม่ได้หวังแค่อำนาจรัฐสั่งการ แต่หวังความเปลี่ยนแปลงในระดับประชาชน ซึ่งมีอำนาจในการเลือกรัฐที่จะเข้ามาเปลี่ยน ไม่ใช่การปล่อยให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไปคุยกับรัฐบาลฝ่ายเดียว สำหรับผมยืนยันว่ากลไกประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเผด็จการจะไม่ทำอะไรดีๆให้กับสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างการลงโทษห้ามให้อาหารปลาในทะเล แบบนี้เขาก็ทำได้ แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ระดับของวิถีชีวิต เป็นแค่กติกา

-ปัญหาในระดับอุดมการณ์ทางการเมืองของ ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย?

การพูดว่าการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นไม่จริง มีสามรูปแบบสำหรับกระบวนการเคลื่อนไหวในไทย แบบแรกคือเรื่องของความเป็นธรรมซึ่งดูว่ามีใครไปรุกรานใครจนคนอื่นเดือดร้อน เช่นกรณีในไทยหากมีการขุดเหมือง คนไทยก็จะดูว่าคุณไปรุกรานใครหรือเปล่า ต่างกับประเทศในตะวันตกเช่นเดนมาร์กซึ่งเขาจะไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระดับหลักการ แต่ในเมืองไทยจะดูว่าเป็นใคร-ที่ไหน ซึ่งในต่างประเทศเขาไม่ต้องคุยว่าที่ไหนหรือกับใคร หน้าตาคนเดือดร้อนเป็นอย่างไร แต่เขารู้สึกว่าหลักการมันไม่เป็นธรรม การทำให้คนจำนวนหนึ่งได้รับประโยชน์บนความทุกข์ยากของคนอีกจำนวนหนึ่ง เขาก็รับไม่ได้ นั่นคือหลักการของเขา สุดท้ายคือในระดับอุดมการณ์ ซึ่งการจะทำการใดๆก็ตามต้องคำนึงถึงชีวิตที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงขณะเวลานั้นแต่เป็นเรื่องของอนาคตด้วย ซึ่งบ้านเรายังอยู่ในขั้นแรกอยู่

-เมืองไทยมีขบวนการเคลื่อนไหว-ข้อถกเถียงทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่ากระแสหลักและกระแสรองหรือไม่ ต่างกันอย่างไร?

กระแสหลักของเมืองไทยเป็นเรื่องของการคัดค้านโครงการและการเสนอกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นสายพลังงาน ของคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต่อสู้เป็นกรณีไปด้วยเช่น ผมเองก็เป็นกระแสหลักที่ต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าที่กระบี่หรือเรื่องปากมูลด้วย ที่จริงแล้วเอ็นจีโอก็มีหลายสาย โดยหลักแล้วเราไม่เชื่อว่าใครมีอำนาจ ไม่ว่าใครมีอำนาจเอ็นจีโอก็ต้องสู้แบบนี้ แต่นับตั้งแต่ปี 2549 ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ไปอิงกับโจทย์ทางการเมือง เช่นเรารักสิ่งแวดล้อมและเราไม่เอาทักษิณ หรือเรารักสิ่งแวดล้อมแต่เราก็ต้องการประชาธิปไตยมันเลยเกิดการแตกแยกของกระแสหลักเองในแง่ความคิดด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่กระแสรองเป็นเรื่องของวัฒนธรรมกลุ่มย่อยเช่นเรื่องจักรยาน มันเป็นเรื่องของการหลงใหล ซึ่งไม่ได้สนใจเรื่องกฎระเบียบหรือการเมืองระดับชาติ

-การวิพากษ์ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในไทย?

โดนเยอะมากมากกว่าพวกสตรีนิยมอีก แต่ไม่ใช่การถูกวิพากษ์จากกระแสรอง แต่เป็นการถูกวิพากษ์จากกระแสหลักซึ่งอยู่คนละฝ่าย เช่นฝ่านนายทุน เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อมปัจจุบันยังถูกวิจารณ์ด้วยวาทกรรมรับเงินต่างชาติ เคลื่อนไหวอยู่เลย และเรื่องนี้มีลักษณะรุนแรงเพราะเป็นเรื่องของการต่อสู้ว่าจะสามารถดำเนินโครงการได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็ทำให้บริษัทเสียผลประกอบการ ต่างจากนักสตรีนิยมหรือผู้ที่ต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยอาจจะอยู่เฉยๆไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร

-ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่มีความรุนแรงแค่ไหนแล้วตอนนี้

รุนแรงมาก เช่นปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งที่เราเรียกว่าภัยธรรมชาติ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง นี่ก็เป็นปัญหาจากสิ่งแวดล้อมนั่นแหละ มันเกิดขึ้นจากตัวเราด้วย จากการที่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป หรือตัดไม้มากเกินไป ไทยก็ถือว่ามีความรุนแรงติดระดับโลก

-ความเข้มแข็งของท้องถิ่น อำนาจในการต่อรองกับรัฐและการสื่อสารกับสาธารณะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร

ยังไม่พอครับ แต่ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีก็พอมีที่ทาง ที่ทำให้พอนึกถึงได้ เช่น ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงนิเวศน์ ท่องเที่ยวทางเลือก พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ไม่ว่าพูดอะไรก็ตาม มันก็พอมีตัวอย่างที่พอทำได้ แต่อย่างที่บอกว่ามันยังก้าวไม่ถึงขั้นที่ 2 เพราะมันขาดองค์ประกอบรัฐและภาคประชาชนที่สนใจเรื่องนี้มากพอ ยังไม่สามารถทำให้เขาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ สองเรื่องนี้ไปไม่ถึง

-ดูอ.พูดเหมือนตัวขบวนการไม่ค่อยมีปัญหา

มีสิ การที่เราไปไม่ถึงสองเรื่องนี้แหละ คือปัญหาของขบวนการ

-มีคนวิจารณ์ว่าดูเหมือนขบวนการเองก็เข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐ หรือสัมพันธ์กับรัฐ บางทีเอ็นจีโอก็กลายเป็นรัฐไปแล้ว

คิดแบบนี้ไม่ถูกหรอก จริงๆเราไม่ได้ต้องการให้เอ็นจีโอเข้าไปทำงานกับรัฐ เราต้องการรัฐที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้เราไม่ได้มีรัฐที่ทำงานและเอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นเลย ส่วนเอ็นจีโอที่ไปทำงานกับรัฐ ผมคิดว่ามันเป็นข้อวิจารณ์ที่เกิดขึ้นเพราะรัฐเราไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า

สมมุติว่ารัฐบาลนี้มาจากเลือกตั้งและรัฐมีนโยบายประชารัฐ โดยเอ็นจีโอเข้าไปร่วมด้วย ผมคิดว่าไม่มีใครพูดว่าเอ็นจีโอกลายเป็นรัฐแล้ว แต่ว่าบังเอิญรัฐแบบนี้มีปัญหาเรื่องที่มาของอำนาจ และเอ็นจีโอก็เข้าไปเสริมเรื่องความชอบธรรมของรัฐ เราก็เลยไปตั้งคำถามกับเอ็นจีโอว่า คุณเป็นรัฐแล้วหรือ? จริงๆควรจะเปลี่ยนการตั้งคำถามกับเอ็นจีโอสายที่เข้าไปทำงานกับรัฐว่าคุณไปทำงานกับรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมได้หรือ เอ็นจีโอก็มีความหลากหลายและผมไม่อยากให้วิจารณ์เกินเหตุ เพราะจริงๆเขาก็สั่งอะไรไม่ได้ ไม่มีอำนาจ ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเอ็นจีโอกลายเป็นรัฐ แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าเอ็นจีโอเข้าไปเป็นพวกรัฐ ไปเสริมให้รัฐบาลดูมีบารมี

-บางคนบอกว่ารัฐบาลที่มาแบบนี้ก็ตอบสนองข้อเรียกร้องเอ็นจีโอได้ดีกว่ารัฐบาลจากเลือกตั้ง มีตัวอย่างหลายกรณี เช่นเรื่องใช้ม.44 แก้ปัญหาป่า การปิดเหมือง เป็นต้น

ผมว่าไม่จริง ผมคิดว่าต้องแยก ไม่ใช่ว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรดีๆเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ เขาสามารถทำอะไรดีๆให้สิ่งแวดล้อมก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ทำอะไรแย่ๆกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่า รัฐบาลประชาธิปไตยมาก ยกตัวอย่างเรื่องผังเมือง คุณจะไปเลิกยังไง คุณไม่มีทางทำได้ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เรื่องอีไอเอ ก็เช่นกัน ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจะไปตอบอย่างไร เรื่องป่าก็ไม่ใช่ว่าดี มันเจ๊ากันเพราะแม้คุณจะสามารถทวงคืนพื้นที่ป่ามาได้ แต่คุณก็ยกเลิกพื้นที่ป่าจำนวนหนึ่งให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผมคิดว่าคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลนี้น่าจะเห็นด้วยตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ว่าจะมีท่าทียังไงกับสิ่งแวดล้อม เรื่องเหมืองทอง หากรัฐทำต่อคนที่สนับสนุนรัฐก็จะเปลี่ยนเป็นคัดค้าน คิดว่ารัฐบาลคงจะรักษาฐานตรงนั้นไว้จึงยกเลิกสัมปทานเหมืองทอง

-คนไทยตระหนักและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ในระดับปัญญาชนมีการตื่นตัวและถกเถียงกันมากแค่ไหน

ยังน้อยมาก ยกตัวอย่างการรีไซเคิล ประเทศไทยมีขยะรีไซเคิล 24% จากทั้งประเทศที่ควรจะได้ ซึ่งถือว่าน้อยมาก จังหวัดที่ทำได้มากที่สุด40% คือยะลา ก็ยังไม่ถึงครึ่งเลย แต่ก็ยังมากกว่าจังหวัดอื่นๆ มันแสดงให้เห็นว่าองค์รวมยังไม่ตื่นตัว ซึ่งตามหลักการตื่นตัวของประชาชนนั้นที่จริงมันเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ผมคิดว่าชนชั้นกลางเมืองไทยมีปัญหานิดนึงตรงที่เรามีวิถีชีวิตที่ไม่ได้เลือก หรือเรามีตัวเลือกที่จำกัดมาก เช่นเราไม่ได้เลือกบ้านเรา แต่เราไปซื้อบ้านที่เขาสร้างมาให้ คือมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จะโทษเอ็นจีโอไม่ได้ มันทำให้เอ็นจีโอเมืองไทยในแง่สิ่งแวดล้อมก็ต้องสู้กับรัฐ ซึ่งรัฐก็มีขีดความสามารถพอสมควรที่จะไม่สนองตอบเอ็นจีโอ ทุกอย่างมันเลยวนอย่างนี้ ยกตัวอย่างมีโครงการบ้านจัดสรรใหญ่ มีการออกแบบอย่างดีมากจนแทบไม่ต้องติดแอร์ ผมคิดว่าวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นจะเปลี่ยน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องวัฒนธรรมและการศึกษาของไทยเองด้วยที่ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ

ผมคิดว่า สังคมปัจจุบัน เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมองเรื่องคุณค่า มากกว่าอุดมการณ์ตายตัว ผมคิดว่าการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในไทยยังมีทางออกน้อย คนไทยจำนวนมากไม่เชื่อว่าเราสามารถมีหลักการใหญ่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อเรื่องการใช้อำนาจเด็ดขาด ที่ไม่เชื่อว่าเราสามารถมีหลักการใหญ่ได้เลย ต้องการแค่คนดี หรือกระบวนการที่ดีมาตัดสินใจเป็นเรื่องๆไป อันนี้ไม่ได้หมายความถึงกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่เห็นด้วยกับอำนาจเด็ดขาด แม้แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่นิยมประชาธิปไตยยังแต่ไม่เชื่อเรื่องหลักการพื้นฐานร่วมกัน ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ยกตัวอย่างเดนมาร์กที่ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะเขาเห็นว่าตัวเทคโนโลยีมันไม่เป็นธรรม แต่เราไม่มีทางพูดแบบนั้น เราจะพูดแค่ว่าตกลงไฟพอไหม? คล้ายกับสหรัฐฯที่ยังเถียงกันในเรื่องนี้อยู่ไม่ได้ไปไกลในระดับอุดมการณ์ ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าอรรถประโยชน์นิยม คือพูดเรื่องสิ่งที่เหมาะกับเรา ขณะที่เดนมาร์กนั้น หลักการใหญ่สุดของเขาไม่ใช่ประโยชน์นิยมแต่เป็นเรื่องความเป็นธรรม และเรื่องนี้เถียงกันไม่จบเพราะอรรถประโยชน์นิยมจะมีสิ่งใหม่เข้ามาเรื่อยๆให้เลือกและแก้ไข คำถามเรื่องคุ้มไม่คุ้มมาก่อนจะตั้งคำถามเรื่องความเป็นธรรม

-คิดว่าสังคมแบบไหน เหมาะสำหรับการถกเถียง- เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยุติธรรมที่สุด

การถกเถียงเรื่องอรรถประโยชน์นิยมทางสิ่งแวดล้อม แน่นอนสังคมประชาธิปไตยเหมาะสมที่สุด แต่อาจไม่นำไปสู่ทางเลือกใหม่เสียทีเดียว มันขึ้นอยู่กับข้อถกเถียงในสังคมนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดด้วย แต่คุณภาพการถกเถียงน่าจะดีขึ้น เพราะมันเถียงบนหลักการคนทุกคนเท่ากัน ซึ่งในกรณีเดนมาร์ก ไปไกลกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยปกติ เพราะเขาเถียงกันบนฐานความเท่าเทียมของคนทุกคนในแง่ผลลัพธ์ของการตัดสินใจด้วย มิใช่แค่สิทธิที่เท่ากันและเถียงกันบนฐานของอรรถประโยชน์นิยม

-ในเชิงวิชาการมองยังไงกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิขบวนการเคลื่อนไหวในสังคม

เรื่องสิทธิและสิ่งแวดล้อมถือว่าแย่พอสมควร ถึงแม้สิทธิชุมชนในร่างเบื้องต้นมันโดนตัดออกไป ผมก็เป็นหนึ่งในคนทึ่โวย และมันก็กลับมาบางส่วน มาตราสิทธิชุมชนกลับมา แต่มาตราที่หายไปเช่น การให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการตัดสินใจ ก็หายไป อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินการนอกเขตพื้นที่ตัวเองแต่จะมีผลกระทบกับเขตพื้นที่ตัวเองก็หายไป แปลว่า หากอบต.หนึ่งอนุมัติ และ อบต.หนึ่งได้รับผลกระทบ คุณก็ไม่มีสิทธิไปคัดค้านอะไร และยังมีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่จะมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องเช่นเราจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าเราอาจจะมีอปท.ที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลางก็ได้ ซึ่งส่วนกลางก็อาจจะไปใช้สิทธิ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุมัติอะไรก็ได้ ในขณะที่แต่เดิมทุกที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และประชาชนสามารถขอทำประชามติได้เวลาจะตัดสินใจเรื่องบางเรื่องที่มีผลกระทบต่อตนเองได้ อันนี้ก็หายไป เป็นเรื่องใหญ่ที่พูดถึงน้อยมาก

-ข้อดีมีไหม ในเชิงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม?

ข้อดีผมว่าไม่มีนะ ในที่นี้ข้อดีหมายถึงสิ่งที่ไม่มีในรธน.2540 และ 2550 และมีในร่างฉบับนี้ผมถึงจะเรียกว่าข้อดี ถ้าเหมือนรับรธน.2550ผมก็ไม่เรียกว่ามีข้อดีอะไร ฉะนั้นร่างฉบับนี้ผมจึงยังไม่เห็นข้อดีเพิ่มเติมใดๆ หรือถ้าให้พูดตรงๆจากการเปรียบเทียบพบว่าไม่มีอะไรดีกว่ารธน.ปี 2550 ซักข้อเดียว มีแต่สิ่งที่หายไป หายไปเยอะเลย โดยเฉพาะเรื่องท้องถิ่น

-อนาคตการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในเชิงอุดมการณ์และยุทธวิธีการเคลื่อนไหว

มันคิดว่าต้องย้อนกลับไป 3โจทย์ 1.คือประชาชนทั่วไป เชื่อว่าเรื่องวัฒนธรรมกลุ่มย่อยน่าจะช่วยได้ เราต้องส่งเสริมวัฒนธรรมกลุ่มย่อยให้มากขึ้น เช่นการปั่นจักรยาน หรืออาจตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจะมีกลุ่มเดิน กลุ่มวิ่งเพิ่มขึ้น เป็นต้น ผมคิดว่าขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ต้องทำงานกับกลุ่มวัฒนธรรมย่อยให้มากขึ้น แต่ทำงานในระดับวิถีชีวิตนะ ไม่ใช่ชวนมาประท้วง ต้องทำแบบนี้ไปยาวๆเลย

2.เทคโลยีสมัยใหม่ช่วยได้ ต่างประเทศตั้งแต่ปี 80 เอ็นจีโอก็แปลงสภาพไปทำงานกิจการเพื่อสังคม แต่เมืองไทยเกิดน้อยมาก เอ็นจีโอ ก็ยังเป็นเอ็นจีโอ

3.คือการตั้งคำถามกับรัฐไทยว่าทำยังไงรัฐไทยจึงจะเป็นรัฐที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เรื่องนี้ใหญ่กว่าการเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ หรือใครมาทวงถามความรับผิดชอบ คุณก็อาจปิดปากเขาได้ แต่รัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีรัฐที่มีความรับผิดชอบพอเพียง ผมย้ำนะว่าประชาธิปไตยรับผิดชอบมากกว่าเผด็จการแต่มันไม่พอ มันจะต้องมีการปฎิรูปอะไรบางอย่างเพื่อให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

-ช่วงนี้มีข่าวขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายพื้ที่ถูกจนท.คุกคาม อ.มีคำแนะนำรัฐบาลเรื่องนี้ไหม

แนะนำยาก เพราะเหตุผลสำคัญคือหลักการพื้นฐานทั้งเรื่องความพร้อมรับผิด สิทธิ เสรีภาพ มันถูกมองไม่เห็นว่าสำคัญยังไง โดยเทียบกับอรรถประโยชน์นิยมของเขาและกำหนดโดยตัวเขาเอง เขาอาจจะหวังดีกับส่วนรวมก็ได้ แต่มันเป็นอรรถประโยชน์ที่มันกำหนดโดยเขา บางครั้งการใช้อำนาจเด็ดขาดผ่านม.44 ที่บอกว่าหวังดี จริงๆแล้วมันมีหลักที่ว่ากฎหมายทุกข้อมันจะมีหลักเรื่องการพร้อมรับผิด เหมือนผมไปเคลียร์พื้นที่ชาวบ้าน มันก็ต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถฟ้องได้ ถ้าผมเคลียร์ผิด อันนี้ยังไม่เข้าใจ เราจึงได้เห็นการใช้อำนาจเด็ดขาดทางกฎหมายในหลายๆเรื่อง ผมไม่ได้หมายความว่าหลายข้อไม่ควรทำ แต่ไม่ควรใช้ม.44 ยืนยันว่าหลักฎหมายและการใช้อำนาจรัฐควรถูกท้วงติงและฟ้องกลับได้ อันนี้เป็นหลักการนะครับ ในทุกๆรัฐบาลหากทำอะไร ก็ควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีโอกาสฟ้องกลับได้ สังคมไม่ได้อยู่ได้หลักอรรถประโยชน์นิยมอย่างเดียว แต่มันยังมีหลักเรื่องความเป็นธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่เราจะต้องเคารพชีวิตของผู้อื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image