“วิษณุ” ยอมเปิดชื่อแล้ว ” 9 กรรมการสรรหาส.ว.” ตามคาด กรรมการได้เป็นส.ว.เสียเอง

เปิดจนได้! “วิษณุ” แจงรายชื่อกรรมการสรรหาส.ว. 9 คน มาจากครม. 5 คน-คสช. 4 คน เพิ่ม “พรเพชร” ยัน ไม่มีใครเสนอชื่อตัวเองในที่ประชุม ชี้ ไม่ใช่เรื่องต้องปิดบัง แต่ไม่เปิดเพราะหวั่นมีการวิ่งเต้น-แทรกแซง

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 12 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาส.ว. ว่า กรรมการสรรหาจะต้องตั้ง 9 คน ไม่เกิน 12 คน โดยมีคุณสมบัติเป็นกลางทางการเมือง ไม่เป็นสมาชิกหรือสังกัดพรรคการเมือง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้พิจารณาเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2561 ว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการสรรหาส.ว.บ้าง และในที่สุด จึงคิดว่าเพื่อให้ได้คนที่หลากหลายจากสาขาต่างๆ จึงมีคำสั่งคสช. ที่ 1/ 2562 ที่ระบุว่ากรรมการมี 10 คน แยกเป็น 2 ส่วน คือมาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และ มาจากตัวแทนของคสช. โดยส่วนของครม.นั้น ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี 5 คน ซึ่งแต่ละคนจะสรรหาบุคคลในแวดวงต่างๆ มาคนละ 50 รายชื่อ ได้แก่

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สรรหารายชื่อบุคคลจากสายความมั่นคง อาทิ ตำรวจ ทหาร

Advertisement

2. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สรรหาคนจากสายเศรษฐกิจ

3. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง สรรหาคนจากวงการการศึกษา ยุติธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อมวลชน

4. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ สรรหาคนจากสายเกษตร สาธารณสุข และด้านสังคม

และ 5.นายวิษณุ เครืองาม สรรหาคนในสายกฎหมาย และอดีตข้าราชการที่เกษียณไปแล้ว ทั้งนี้ โดยให้พล.อ.ประวิตรเป็นประธานคณะกรรมการ

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่ส่วนตัวแทนของคสช. มี 4 คน คือ

1.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

2.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

3.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะที่นายพรเพชรรู้จักสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)หลายคน

โดยเบื้องต้นตั้งกติกาไว้ว่า กรรมการเหล่านี้จะต้องพิจารณารายชื่อคนที่เคยเป็นสนช. เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯที่มีอยู่หลายคณะ รวมถึงดูคนที่อยู่ในวงการสภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร หอการค้า นักวิชาการ และกลุ่มอาชีพอื่นๆด้วย ต่อมา เมื่อกรรมการ 10 คนหาชื่อมาได้ 500 ชื่อ นายพรเพชรก็ลาออก เนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทำให้กรรมการสรรหาเหลือ 9 คน แต่ก็ไม่ได้มีการตั้งใครมาเพิ่ม คณะกรรมการสรรหาจึงได้พิจารณานำรายชื่อและประวัติ โดยเปิดประชุมอย่างเป็นทางการเต็มคณะ 3 ครั้ง เป็นการประชุมที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 1 ครั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล 2 ครั้ง และยังประชุมแบบไม่เป็นทางการอีก 3 ครั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยสาเหตุที่เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ก็เพราะมีองค์ประชุมไม่ครบ จากนั้น ในที่สุด 400 กว่าชื่อ ได้คัดเลือกเหลือ 395 ชื่อ ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมี 194 คนเป็นตัวจริง บวกกับตัวสำรอง 50 คน จึงได้รวบรวมจัดทำบัญชีตามลำดับแล้วเสนอไปยังคสช. ซึ่งคสช.พิจารณา 3 ครั้ง ไล่เรียงทีละรายชื่อ โดยตนเองเป็นคนอ่านรายชื่อพร้อมบอกประวัติ

“เมื่ออ่านถึงรายชื่อใครที่มีส่วนได้เสียอยู่ ไม่ว่าในชั้นกรรมการสรรหาหรือคสช. คนนั้นถ้าหากออกนอกห้องประชุมได้ ท่านก็ออก หรือไม่ก็งดออกเสียง ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้มีการจดบันทึกไว้ในรายงานการประชุมทั้งหมด แม้ว่ามีอยู่บางชื่อที่มีปัญหา ที่ประชุมก็มีมติเพื่อไม่ต้องเรียกประชุมอีก เนื่องจากบางคนเราไปทาบทามแล้วเขาปฏิเสธ หรือปรากฎคุณสมบัติไม่ครบ ก็ให้หัวหน้าคสช.ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนคนนั้น ซึ่งตรงนี้มีอยู่ 4-5 คนเท่านั้น จนกระทั่งพิจารณารายชื่อเสร็จแล้ว ในส่วนของตัวจริงจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ส่วนรายชื่อสำรองนั้นไม่ต้องกราบบังคมทูล เพียงแต่ส่งไปยังประธานสภา ตรงนี้คือที่มาที่ไปทั้งหมด” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า เหตุที่ตนต้องชี้แจงอย่างละเอียด ก็เพราะรู้สึกรำคาญ นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับที่ต้องปกปิดกัน แต่ก่อนหน้านี้ เขากลัวกันว่าจะมีการวิ่งเต้นหรือแทรกแซง ซึ่งก็มีจริงๆ ขอให้เข้าใจ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าในการพิจารณาทุกครั้ง ไม่มีใครเสนอชื่อตัวเองเลย มีเอกสารเก็บไว้ทั้งหมดว่าใครเสนอชื่อใคร และเมื่อเปิดรายชื่อออกมาแล้ว ก็แล้วแต่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นหน้าที่ที่ถึงเวลาจะต้องประกาศ เพราะสังคมเรียกร้อง และในความเป็นจริงก็ต้องเปิดเผย ทั้งๆที่เราเคยส่งรายชื่อกรรมการสรรหาส.ว.ไปให้ประธานสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินมานานพอสมควรแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image