น.2รายงาน : วิพากษ์กก.สรรหาส.ว. หลักเกณฑ์คัด400ชื่อ

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ นักการเมือง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปกปิดคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ก็ไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดสรร 400 รายชื่อ และไม่ลงในราชกิจจานุเษกษาว่ามีกระบวนการอย่างไร เพื่อส่งให้ คสช.เลือกให้เหลือ 194 คน และสำรองอีก 50 คนนั้น

รศ.พัฒนะ เรือนใจดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ประเด็น ส.ว.พูดกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมากกว่า เพราะหัวหน้า คสช.เป็นคนแต่งตั้ง ส.ว. และ ส.ว.ก็มาเลือกหัวหน้า คสช. ผลประโยชน์ทับซ้อนตรงนี้ต่างหากที่ติงกันว่าไม่ควรจะให้ ส.ว.มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นประเด็นที่สมควรจะต้องพิจารณา ส่วนใครเป็นคณะกรรมการสรรหาบ้าง ก็เป็นเรื่องทางการเมืองที่พยายามตรวจสอบกันอยู่ว่าใครเป็นญาติพี่น้องใคร ใครเกี่ยวโยงกันอย่างไร เพราะเป็นอีกลักษณะของการเอื้อประโยชน์ หรือแม้กระทั่งบางคนที่เป็น ส.ว.ก็เป็นคณะกรรมการสรรหาเอง หมายความว่าตัวเองสรรหาตัวเอง ดังนั้นจึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่าการที่หัวหน้า คสช.แต่งตั้ง ส.ว.มาเลือกตัวเองเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญชี้ส่วนนี้ ส่วนการสรรหาหรือแต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าไปเป็น ส.ว.ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเช่นเดียวกัน

Advertisement

เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมืองที่จะต้องประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ในทางกฎหมาย เมื่อเป็นประกาศคำสั่ง คสช.ซึ่งต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ก็ควรจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยว่ามีใครบ้าง จนตอนนี้ล่วงเวลามามากก็ยังไม่มีการเปิดเผย ถือเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าเช่นนี้ไม่โปร่งใส และ ส.ว.จะมีอำนาจอื่นๆ อีกนอกเหนือจากเลือกนายกฯ ก็คือ การเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งจะกลายเป็นงูกินหาง

สังคมกำลังจับตามอง นอกจาก 50 รายชื่อ ที่เพิ่งจะมาประกาศแล้ว เรายังอยากรู้ว่าใครเป็นคนสรรหาด้วย นี่คือจุดสำคัญที่ยังไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา เพราะจะส่งผลกระทบต่อ ส.ว.ชุดปัจจุบัน และอาจกระทบไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งโปรดเกล้าฯด้วย

ส่วนผลกระทบจะรุนแรงแค่ไหนก็แล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากส่งเรื่องให้ศาลก่อน จะผ่านทาง กกต.หรือผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ กฎหมายบอกให้ส่งก็ต้องส่ง ต้องว่ากันตามกฎหมาย เพราะหากไม่มีการร้อง ไม่มีการกดดันจากสังคมก็จะยิ่งตีกรรเชียงออกไปอีก

Advertisement

ถ้าถึงขนาดศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าคณะกรรมการสรรหา หรือการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะส่งผลให้ต้องมีการสรรหา ส.ว.ใหม่ ซึ่งถ้าถึงจุดนั้น นายกฯอาจจะลาออกเพื่อความสง่างามและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะส่งผลถึงขั้นนายกฯต้องลาออกเช่นกัน

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ในแง่ของกฎหมายก็ไม่น่าจะขัดอะไร เพราะมีแนววินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเรื่องคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป จึงถือว่าไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องประกาศ และไม่เป็นประเด็นที่จะผิดกฎหมายได้

แต่ในทางการเมือง เรื่องธรรมาภิบาลทางการเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการที่ใช้ในกระบวนการสรรหา ส.ว.ด้วย

ซึ่งที่ผ่านมาก่อนจะมีการประกาศรายชื่อ ส.ว.ก็ไม่ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์วิธีการหรือรายชื่อของคณะกรรมการสรรหา แม้ความจริงแล้วก็มีการเรียกร้องจากสังคมอย่างกว้างขวางให้มีการเปิดเผย

แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เมื่อมีรายชื่อ ส.ว.ออกมา ก็มีข้อวิจารณ์เรื่องที่มาของ ส.ว.จนถึงทุกวันนี้ หรือกระทั่งในการเปิดประชุมสภาและการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ก็มีการพูดพาดพิงถึงที่มาของ ส.ว.ด้วย

นี่เป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่าถ้าที่มาไม่ได้รับการยอมรับ กระบวนการหรือผลิตผลก็จะมีปัญหาตามมาอย่างมาก เช่นตอนนี้ก็มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าการประกาศรายชื่อสำรองมีลักษณะของการเกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งจะทำให้การสรรหานายกฯเป็นโมฆะไปด้วยหรือไม่

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประกาศรายชื่อกรรมการสรรหา แม้ว่าในทางกฎหมายจะไม่ได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าจะต้องมีการประกาศลงในราชกิจจาฯก็ตามแต่

แต่ในทางปฏิบัติก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความชอบธรรมทางการเมือง หรือการได้รับการยอมรับต้องเกิดจากความมีธรรมาภิบาล ที่ทำให้คนทุกกลุ่มได้เห็นการเปิดเผยอย่างโปร่งใส

ส่วนการที่เพิ่งเปิดเผย 50 รายชื่อสำรอง ก็ทำให้สังคมมีข้อสงสัยว่าเหตุใดไม่เปิดเผยพร้อมกัน ในส่วนแรกซึ่งได้มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ โดยความเข้าใจของทุกคนก็คิดว่าน่าจะจบตรงนั้น

แต่ปรากฏว่ามีเพิ่มมาอีก 50 ท่าน จนสังคมก็สับสนไปหมดว่าอะไรคือสำรองของอะไร ซึ่งอันที่จริงสำรองชุดแรก คือสำรองสำหรับกลุ่มที่เลือกไขว้กันมา ในขณะที่สำรองรอบหลังคือสำรองในกลุ่ม 194 คน ที่คสช.สรรหา แต่เมื่อออกมาไม่พร้อมกัน คำอธิบายก็ยิ่งทำให้สังคมสับสน

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

การไม่เปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. แน่นอนว่าจะต้องมีการตั้งคำถามตามมาว่าตัวกรรมการมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ แต่ทั้งนี้ เขาอยู่ในภาวะที่กระทำเช่นนั้นได้ เพราะอำนาจแห่งมาตรา 44 ยังไม่หมดอายุขัย จึงยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นโมฆะอย่างแน่นอน เพราะคณะกรรมการที่ใช้มาตรานี้ก็คงได้พิจารณาถ่องแท้แล้วว่าตนเองสามารถใช้อำนาจนี้ได้โดยไม่ต้องการเปิดเผย

แต่เมื่อหลายคนตั้งคำถามเรื่องความสง่างาม ความชอบธรรม และความเหมาะสมในการที่กรรมการสรรหาแต่งตั้งตัวเองเป็นวุฒิสมาชิก ดังนั้น เขาจึงไม่ต้องการเปิดเผย และปล่อยให้สังคมตั้งคำถามต่อไป

กรณีนี้อาจเป็นกรณียกเว้น ที่ไม่ต้องประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา อย่างเช่นที่ คุณวิษณุ เครืองาม เคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศให้ทราบเพราะถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของหัวหน้า คสช.ที่จะแต่งตั้งให้ใครเป็นกรรมการสรรหาต่อก็ได้

ดังนั้นกรรมการสรรหาก็อยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหน้าที่ของหัวหน้า คสช. ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองเป็นกรรมการหรือใครเป็นกรรมการ คนที่อนุญาตให้เปิดเผยได้ คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อเพราะรู้ตัวว่าได้กระทำผิดขั้นตอน แต่ในภาวะที่ประกาศชื่อก่อนที่จะทำการโปรดเกล้าฯ ยังอยู่ในห้วงสุดท้ายที่หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจอยู่ เพื่อไม่ให้สังคมนำเอาประเด็นนี้ไปขุดคุ้ย หรือถอนรากทางการเมือง จึงใช้อำนาจห้วงสุดท้ายนี้ในการประกาศย้อนหลังตามมา

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

รัฐธรรมนูญมาตรา 269 กำหนดไว้ชัดเจนให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาขึ้นคณะหนึ่งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน ไม่เกิน 12 คน ทำหน้าที่ดำเนินการสรรหาผู้สมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 400 คน ให้ คสช.เลือกให้เหลือ 194 คน เพื่อเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป

แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้ ส.ว.มาจากหลากหลายสาขาอาชีพและต้องการให้ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางตามเจตนารมณ์ของการมี ส.ว. จึงกำหนดให้กรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นกลางทางการเมือง เจตนารมณ์นี้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่ากรรมการสรรหาต้องเป็นบุคคลภายนอก คสช.เป็นหลัก

มิใช่ตั้ง คสช.ด้วยกันเองเหมือนกับที่บอกว่าพอมีชื่อจะเป็น ส.ว.แล้วเดินออกจากที่ประชุม กรณีที่เกิดขึ้น ไม่สามารถจะตอบคำถามได้ว่า คสช.ซึ่งเป็นประธานและกรรมการสรรหาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ หรือไม่ มีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ การแสดงออกต่อสาธารณะของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.เอง ตอบได้ชัดเจนว่าไม่ใช่ผู้ที่เป็นกลางทางการเมือง

ยิ่งเมื่อหัวหน้า คสช.กลายมาเป็นผู้ที่ถูกเสนอชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยแล้วจะหาความเป็นกลางจาก คสช.ได้อย่างไร การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ทั้ง 249 คน ที่ผ่านมา ล้วนแต่บ่งบอกว่าต้องการมี ส.ว.ไว้เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การสืบทอดอำนาจเป็นหลัก

ที่น่าเกลียดมากๆ คือ คนคัดเลือก ส.ว. ถูก ส.ว.เลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี การสรรหาและคัดเลือกกันมา เห็นได้ว่ามิได้สะท้อนเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มี ส.ว.จากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เลยแม้แต่น้อย

การที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือครอบงำใดๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น จะเป็นเรื่องที่จะเป็นประเด็นสำคัญในทางกฎหมายและการเมืองของรัฐบาลนี้ต่อไปอย่างแน่นอน

กรณีที่ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ก็อาจจะเป็นจริงตามที่นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมิได้เขียนบังคับไว้ให้ประกาศ

แต่ที่ต้องถามคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก เป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับชาติตามหลักเกณฑ์เรื่องที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ การสรรหา ส.ว.เพื่อให้ได้รายชื่อบุคคลที่จะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยและต้องนำเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ต้องมีหลักเกณฑ์วิธีการที่ต้องประกาศให้สาธารณชนทราบจะทำกันแบบลับๆ ได้หรือไม่

จากการตรวจสอบพบว่า คำสั่งและประกาศ คสช.มากมายก่ายกอง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องประกาศ ก็เห็นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเต็มไปหมด เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 41/2558 เรื่องการอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ

เมื่อดูการสรรหา ส.ว.ในกรณีปกติ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ กกต.กำหนดวันเริ่มดำเนินการสรรหาและต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องนี้จึงเป็นไปได้ว่าที่ไม่ประกาศนั้น เพราะถูกทักท้วงเรื่องกรรมการสรรหาไม่เป็นกลางทางการเมือง ตั้ง คสช.ด้วยกันเป็นกรรมการสรรหา หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้

ส่วนที่ว่า การไม่ประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จะถึงกับมีผลให้การสรรหา ส.ว.เป็นโมฆะหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กรรมการสรรหามิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด เมื่อการสรรหาไม่ชอบ จะมีผลถึงขั้นทำให้การได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นโมฆะไปด้วยหรือไม่ คงต้องหาคำตอบกันต่อไป โดยเฉพาะองค์กรใดจะชี้ และมีช่องทางอย่างไร เป็นการบ้านที่พวกเรากำลังขบคิดกันอยู่และจะไม่ปล่อยผ่านแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image