มองอีกก้าว ‘อนค.’ สู้ศึกเลือกตั้ง อปท. เขย่าการเมืองท้องถิ่น

แม้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการเลือกตั้งกำลังสาละวนกับการจัดทัพคณะรัฐมนตรี (ครม.) ความคึกก็เริ่มมุ่งเข้าสู่การเลือกตั้งระดับ ท้องถิ่นŽ กันบ้างแล้ว

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจŽ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพิ่งกล่าวในงาน 1 ปี พรรคอนาคตใหม่ เดินไปด้วยกัน Walk with me Talk with meŽ ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ช่วงปลายไตรมาส 3-4 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น ที่ผ่านมาพรรคการเมืองมักไม่ส่งทีมเลือกตั้งโดยใช้ชื่อพรรค แต่อนาคตใหม่เชื่อว่าการเมืองท้องถิ่นสำคัญมาก จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทัองถิ่น แต่ยังไม่มีทรัพยากรคนเข้มแข็งพอจะส่งทั้ง 77 จังหวัด จึงมองเพียง 10-20 จังหวัด ที่เรามีศักยภาพก่อน เราจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น หมดยุค พ่อเป็น ส.ส. ลูกเป็น ส.อบจ. หมดยุคบ้านใหญ่แล้ว มาเขย่าท้องถิ่นกันŽ

ขณะที่ ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกลั่นกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขยายความต่อมาว่า พรรคมีนโยบายส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ยุติการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ผลักดันกฎหมายจังหวัด การปกครองตนเองเพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น อนาคตใหม่จะเปิดรับสมัครผู้สนใจลงเลือกตั้งดังกล่าว วันที่ 16-30 มิถุนายนนี้ ผู้สนใจต้องลงสมัครเป็นทีมเดียวกัน ทั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.ในนามอนาคตใหม่เท่านั้น

สูตรสำเร็จของอนาคตใหม่ที่เคยใช้วิธีพิจารณาผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. เปิดกว้างให้ทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถใช้สิทธิเสนอตัวเป็นผู้ประสงค์ลงสมัครได้ และในเรื่องอุดมการณ์แนวคิด ตรงกันข้ามกันสนามท้องถิ่นในช่วงก่อนการรัฐประหาร ที่พบเห็นหลายพื้นที่คือการใช้คนนามสกุลเดียวกันลงชิงชัยชนิด กินรวบŽ ทั้งผู้บริหารและในสภาท้องถิ่น หรือการครองเก้าอี้ท้องถิ่นมานานอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ด้าน นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า การประกาศเปิดตัวของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในสนามการเมืองท้องถิ่น เป็นการขยายฐานความนิยมของพรรคการเมือง แต่ผู้บริหารพรรคต้องศึกษาให้ละเอียด มองรอบด้าน ในบริบทการเมืองท้องถิ่นของสังคมไทย

โดยเฉพาะการกระจายอำนาจยังมีมาตรฐานห่างไกลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นสิ่งแรกที่พรรคควรทำคือการประกาศนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนด้านการกระจาย อำนาจเป็นอย่างไร จากโครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) อำนาจหน้าที่ การจัดสรรงบประมาณ ความเป็นอิสระในการบริหาร การบริการสาธารณะ

พรรคอนาคตใหม่ต้องศึกษาว่ามีจุดอ่อนอย่างไร จากนั้นต้องบอกให้ชัดว่าในอนาคตจะมีความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เนื่องจากการบริหาร อปท.ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละแบบ มีความแตกต่างกันจากหลายปัจจัย เพราะฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาในรายภาค รายจังหวัด เพื่อหาจุดสมดุลในการประกาศนโยบายว่าจะเข้าไปทำอะไรได้บ้าง

Advertisement

ขณะที่วันนี้เรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาอุปสรรคของ อปท. ยังมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ พรรคจะทำอย่างไร ถ้าทำให้เห็นชัด ในฐานะนักวิชาการด้านการกระจายอำนาจที่มีประสบการณ์มานาน 50 ปีก็พร้อมจะส่งเสริมแนะนำให้ไปในทิศทางที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

แต่ตัวแทนพรรคที่ประกาศความพร้อมในการทำงานประมาณ 30 จังหวัดที่มีฐานเดิมจากการเมืองระดับชาติเพื่อขยายฐานเพิ่ม ก็จะถูกต่อต้านจากนักการเมืองท้องถิ่นหน้าเก่าซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แต่ละแห่งคนกลุ่มนี้ยังมีอิทธิพลในท้องถิ่นของตัวเอง และยังมีปัญหาจากการซื้อเสียง

ดังนั้น ต้องศึกษาวิธีการและวางยุทธศาสตร์ให้ดีกับผู้สมัครที่พรรควางตัวไว้ ขณะที่แนวทางในการทำงานท้องถิ่น หากมีการทำงานตามขั้นตอน ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่นำเสนอถูกใจคนในท้องถิ่นหรือไม่ เพราะคนท้องถิ่นกำลังอึดอัดกับการกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยและต้องการความเป็นอิสระซึ่งเป็นจุดขายสำคัญที่พรรคอนาคตใหม่จะต้องสะท้อนให้เห็นว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

 

“ผมไม่มั่นใจว่าพรรคจะประสบความสำเร็จเหมือนการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่ ทั้งในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลขนาดใหญ่ จากการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าการเดินเคาะประตูบ้านและต้องมีผู้สมัคร บิ๊กเนมž แต่เมื่อพรรคกำหนดพื้นที่ไว้แล้วก็คงมีความมั่นใจว่าสามารถเจาะได้ และขณะนี้พรรคถูกโจมตีจากหลายเรื่องอาจเป็นจัดหักเหของประชาชนที่ไม่ชอบคนถูกรังแกโดยไม่เป็นธรรมŽ”

ขณะนี้พรรคมีโอกาสทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็ต้องแสดงผลงานให้เห็นว่าค้านอย่างสร้างสรรค์มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเจาะลึกเพื่อสะท้อนปัญหาการทุจริต ความไม่เป็นธรรม เพื่อให้สังคมเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ก็จะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีความศรัทธาและไว้วางใจ

และส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่พรรค การเมืองก่อตั้งใหม่ กล้าประกาศแนวทางการทำงานการเมืองท้องถิ่น ซึ่งในอดีตไม่มีใครเคยทำมาก่อน เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านทั้งปัญหาอิทธิพลและวิธีการหาเสียง

แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่มีวิธีทำงานการเมืองที่ลึกซึ้งกว่าพรรคอื่นจากสิ่งที่เคยประกาศไว้หลายเรื่องแต่ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์ในการกระจายอำนาจ

ทั้งนี้ ลองมาฟังเสียงนักการเมืองท้องถิ่นคิดยังไงกับกระแสฮิตของพรรคอนาคตใหม่ที่จะลงชิงชัยในสนามท้องถิ่น ไม่ยอมให้มีตระกูลใดมาผูกขาดพื้นที่อีกต่อไป

นายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่ พี่ชายนายบุญเลิศบูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เผยกรณีพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มีนโยบายส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยุติรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง และขับเคลื่อนจังหวัดปกครองตนเองว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่เสนอตัวให้ประชาชน มีทางเลือกมากขึ้น แต่โครงสร้างท้องถิ่นไม่ใช่ระดับชาติ ต้องเป็นคนในพื้นที่เข้าใจ เข้าถึง รู้ปัญหา เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด 

“ส่วนตัวไม่มีปัญหาที่พรรคการเมือง ส่งผู้สมัครระดับท้องถิ่น ทั้ง อนค. เพื่อไทย (พท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งนี้ลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในนามกลุ่มอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ อาจเป็นชื่อกลุ่มใหม่ หรือกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมก็ได้ เนื่องจากผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) บางรายยังสังกัดกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมอยู่ ชูนโยบายด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมท่องเที่ยว ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เพื่อรักษาอัตลักษณ์เมืองเชียงใหม่ที่มีอายุ 732 ปีแล้ว”Ž

ส่วนตัวเห็นด้วยกับนโยบายกระจายอำนาจ และยุติศูนย์รวมอำนาจที่ส่วนกลาง แต่คัดค้านจังหวัดปกครองตนเอง เพราะทำได้ยาก เนื่องจากส่วนภูมิภาคยังเป็นกลไกของรัฐบาล

ยิ่ง อนค. และ พท.เป็นฝ่ายค้าน การเชื่อมต่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปได้ลำบาก โอกาสพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนน้อยลง ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นควรวางตัวเป็นกลาง ไม่สังกัดพรรคการเมือง มีวิสัยทัศน์พัฒนาท้องถิ่นตนเองและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ผู้บริหารท้องถิ่นควรเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่าย ไม่เลือกข้างเพื่อทำงานกับทุกฝ่ายได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image