เหยี่ยวถลาลม : จะพังกันทั้งระบบ

มองไปบนถนนการเมืองในวันนี้ สังคมกำลังจับตาและตั้งข้อสังเกต

ทำไมฝ่ายหนึ่ง ทำอะไรก็มีแต่ผิด มีแต่พลาดทั้งยังผิดแล้วผิดอีก ถูกไล่ต้อนไล่งับจนแทบจะไม่มีที่ยืน

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง แสนจะสบาย เชิดหน้าชูคอหัวร่อร่าไม่ว่าจะทำอะไร ก็ไม่ผิด ไม่พลาด หรือถ้าหากทำท่าว่าจะผิดดิ้นไม่หลุดก็ยังสามารถร้องให้สั่ง “คุ้มครองชั่วคราว” ราวเป็นคนวิเศษ

เป็น “ผู้ปราศจากความผิด” !

Advertisement

อย่างนี้ก็มีหรือ

ตัวอย่างกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชื่อชั้นระดับหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ เมื่อถูกร้องว่า ถือหุ้นในบริษัทที่ผลิตสื่อ

ภายใน 7 วันเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและสั่งให้ “ยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว” จึงแค่ได้กล่าวคำอำลากับโค้งคำนับ

Advertisement

ทำสถิติเป็น ส.ส.ผู้ทำหน้าที่ในสภาด้วยเวลาสั้นที่สุด

ตอนนี้ถึงคราว 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อกันบ้าง ในจำนวนนั้นเป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ     27 คน ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน

คอยดูผล !

ยังมีกรณี “ที่มา” ของ ส.ว. 194 คน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการสรรหา” ที่มีคำถามว่า “ชอบ” หรือ   “มิชอบ” ด้วยกฎหมายด้วยจรรยา

กฎหมายกำหนดให้ “กกต.” มีหน้าที่คัดเลือก ส.ว.50 คน

กกต.ประกาศเป็น พระราชกฤษฎีกา ออกระเบียบ กกต. และลงในราชกิจจานุเบกษา ตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับเรียบร้อย

ส่วน “คณะกรรมการสรรหา” กฎหมายให้คัดมา 194 คน

การทำหน้าที่ของ “คณะกรรมการสรรหา” ชวนให้เคลือบแคลงสงสัยตั้งแต่เริ่มต้น

ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้เป็นกรรมการสรรหา ต่อมาถึงพบว่า มีประโยชน์ทับซ้อน !

กรรมการผลัดกันเสนอชื่อกรรมการด้วยกันเอง แล้วผลัดกันเลือกอย่างสนุกครื้นเครง

ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสรรหา ไม่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา อ้างดื้อๆ ว่า เป็นเรื่องภายใน ประชาชนไม่เกี่ยว

ที่ “กกต.” เลือกมา 50 คน กับ “คณะกรรมการสรรหา” เลือกมา 194 คนนั้นกระทำภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 269

แต่ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ทำไม “กกต.” กับ “คณะกรรมการสรรหา” จึงปฏิบัติแตกต่างกันราวอยู่คนละประเทศ

คงต้องเป็นภาระของผู้มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดแล้ว

คอยดูกันต่อไป จะตายน้ำตื้นหรือไม่มีวันตาย !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image