สถานีคิดเลขที่ 12 : ประตูสีแดง : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

เมื่อไม่นานมานี้ มีแถลงการณ์ของนักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอบโต้บทความของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง โดยแถลงการณ์ขึ้นหัวเรื่อง ให้หยุดพฤติกรรมสำนักข่าวแห่งนี้ก่อนกลายเป็น “ดาวสยาม 2562”

คำว่า “ดาวสยาม” สามารถอธิบายให้เห็นได้ทันทีว่า เป็นพฤติกรรมของสื่อที่นำเอาสถาบันเบื้องสูงที่คนไทยเคารพรัก มาใช้สร้างกระแสเพื่อโจมตีกล่าวหาผู้อื่นอย่างบิดเบือน ปลุกปั่นจนนำไปสู่ความรุนแรง ฆ่ากันอย่างบ้าคลั่ง

ดาวสยามเป็นชื่อหนังสือพิมพ์ในยุคที่เกิดเหตุการณ์โหดเหี้ยม

“ดาวสยาม” กลายเป็นคำที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

Advertisement

ถ้าวันนี้ มีสื่อที่มีพฤติกรรมจนถูกเปรียบให้เป็น “ดาวสยามยุคใหม่” ควรต้องเรียนรู้เอาไว้ด้วยว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าอาจจะถูกจารึกชื่อเอาไว้ในประวัติศาสตร์ หากการสร้างกระแสปลุกปั่นใส่ร้ายคนอื่นนั้น ได้นำไปสู่เหตุเลวร้ายในบ้านเมืองขึ้นมาอีก

การค้นหาความจริง และการบันทึกทบทวนประวัติศาสตร์นองเลือดต่างๆ ในบ้านเมืองเรา จึงเป็นความจำเป็น เพื่อเน้นย้ำให้คนที่ไม่เคยผ่านหรือสัมผัสเหตุการณ์ดังกล่าว หรือผ่านมาเองแต่ไม่จดจำ ได้ร่วมกันเรียนรู้ เพื่อไม่เดินซ้ำรอย

ดังที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งอดีตนักศึกษาในยุคนั้น ได้จัดทำโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ รวมทั้งโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ

Advertisement

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง มีการลงมือรักษาหลักฐานเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยการรื้อ “ประตูสีแดง” ประตูรั้วทางเข้าที่ดิน ใน ต.พระประโทน อ.เมืองนครปฐม เพื่อไปเก็บรักษาเอาไว้ ก่อนจะผุพังและสูญสลายไป

ประตูสีแดง เป็นจุดที่มีการนำร่างของ นายวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ นายชุมพร ทุมไมย 2 ช่างไฟฟ้า ไปแขวนคอ โดยพบศพเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 เชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับคนทั้งสอง ขณะออกติดโปสเตอร์เพื่อต่อต้าน ถนอม กิตติขจร ที่เดินทางกลับเข้ามาในไทย

2 ศพที่ประตูสีแดงนี้ เป็นชนวนที่นำไปสู่ 6 ตุลาคม

โดยหลังจากนั้นนักศึกษาได้จัดแสดงละครที่ธรรมศาสตร์เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์เข่นฆ่า 2 ช่างไฟฟ้า แล้วภาพถ่ายนักศึกษาผู้แสดงละครถูกแขวนคอ มีการนำไปตกแต่งและเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ปลุกกระแสความเกลียดชังนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมต้านถนอมในธรรมศาสตร์ จนกลายเป็นการฆ่าหมู่ นำศพไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง แล้วเอาเก้าอี้ฟาด

ประตูสีแดง จึงเป็นหลักฐานสำคัญของประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯอีกชิ้นหนึ่ง

เจ้าของที่ดินและประตูรั้วสีแดง ยินยอมให้ถอดประตูนี้ไปเพื่อประโยชน์ในการบอกเล่าประวัติศาสตร์

มีญาติของ 1 ใน 2 ช่างไฟฟ้ามาร่วมในการเก็บรักษาหลักฐานประวัติศาสตร์นี้ โดยนำภาพถ่ายผู้ตายมาแขวนบนประตูแดงจุดที่ถูกแขวนคอ เพื่อเป็นการรำลึกครั้งสุดท้าย พร้อมกับบอกกล่าวทั้งน้ำตา ขอให้วิญญาณของน้องไปสู่ที่สุขสงบ

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ หนึ่งในทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ หวังว่าประตูแดงนี้ จะได้นำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ ถ้าสามารถจัดสร้างขึ้นมาได้จริง

“เพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้ด้านมืดของตัวเอง”

น่าสนใจว่า สังคมไทยจะจดจำและเรียนรู้ 6 ตุลาฯ กันแค่ไหนและแบบไหน

แล้วทำไมจึงยังมีพฤติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นมาอีกในขณะนี้

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image