ปิยบุตร แสงกนกกุล เปิดโรดแมปหิน แก้‘รธน.60’

หมายเหตุนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวคิดและแนวทางในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 และมาตรา 279 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

•ในบรรยากาศที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เหตุใด “พรรคอนาคตใหม่” จึงเลือกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรกในการทำงานในฐานะฝ่ายค้าน

บทบาทของพรรคฝ่ายค้าน ไม่ได้ทำแค่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ทำหลายเรื่องพร้อมกันได้ มีกลไกในสภาผู้แทนราษฎรหลายอย่าง เช่น การเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เข้าสู่การพิจารณาของสภา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การยกเลิกการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ ให้เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ หรือการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการผูกขาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกระจายอำนาจ เป็นต้น

เมื่อเสนอไปแล้ว จะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องเหล่านี้ได้ถูกนำไปพูดในสภาผู้แทนราษฎร กลไกต่อไปคือคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภา ซึ่งตั้งใจจะไปผลักดันให้มี กมธ.ชุดใหม่ๆ เพื่อสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เช่น กมธ.ว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ กมธ.ว่าด้วย Open Government (รัฐเปิด) นอกจากนี้ การตั้งกระทู้ถาม เป็นช่องทางที่สำคัญมากสำหรับ ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ เพราะเป็นการเอาปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ มาแปรเปลี่ยนให้เป็นเสียงที่ปรากฏในสภา

Advertisement

ส่วนที่ว่าทำไมต้องเลือกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้หมายความว่าพรรค อนค.ทั้งชีวิต ทำเป็นอยู่เรื่องเดียว หรือจะทำอยู่เรื่องเดียว แต่เราทำได้หลากหลายพร้อมกัน เรื่องนี้กลายเป็นมายาคติ คนมักมองปัญหาแยกส่วนว่า “แก้รัฐธรรมนูญเหรอ แล้วปัญหาปากท้องอยู่ตรงไหน ข้าวของแพง รายได้ไม่มี อย่างนี้จะไปแก้รัฐธรรมนูญทำไม” แต่จริงๆ ทำได้พร้อมกันทุกเรื่อง และตั้งแต่ตอนรณรงค์หาเสียง ก็มีนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้างเต็มไปหมด แต่ในเมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ใช้อำนาจเท่าที่มีในบทบาทฝ่ายค้านในการผลักดันการแก้ไขปัญหาปากท้อง พร้อมๆ กับการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเอาเข้าจริงๆ การแก้รัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับเรื่องปากท้อง ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญออกมาไม่ดี ในลักษณะที่สนับสนุนให้รัฐบาลปริ่มน้ำอย่างวันนี้ ทำให้รัฐบาลไปไม่รอด ปัญหาปากท้องก็จะไม่ถูกแก้ไข

ทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ค่อยๆ แสดงฤทธิ์เดชออกมาว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ตั้งแต่การตั้งพรรคการเมืองที่ยุ่งยาก ระบบการเลือกตั้งพิสดาร การคำนวณสูตรปาร์ตี้ลิสต์ผิดเพี้ยน และชัดที่สุดคือในวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุม 2 สภาเพื่อเลือกนายกฯ เพราะมาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว.250 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกฯ การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จึงผิดเพี้ยนไปจากที่เคยเป็นมา กว่าจะได้รู้ว่าใครเป็นนายกฯก็นานมาก เจรจากันดุเดือด กฎเกณฑ์ที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ทำให้พฤติกรรมและการตัดสินใจของพรรคการเมืองเปลี่ยนไป ขอพูดตรงๆ ว่าพรรคทั้งหมดที่เป็นฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. จะสามารถเจรจากับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคขนาดกลางได้ง่ายกว่านี้แน่นอน เพราะเขารู้ว่ามาร่วมทางนี้ก็ได้เป็นรัฐบาล แต่พอมี 250 ส.ว. เขาก็ไปอยู่ทางโน้นดีกว่า

ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์รัฐบาล 20 พรรค แล้วปัญหาคือทุกพรรคอยากมีเก้าอี้รัฐมนตรี ภาพที่ออกมาคุณอาจบอกว่านักการเมืองก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่เอาเข้าจริงๆ กติกาเป็นการกำหนดพฤติกรรมของนักการเมือง ถ้ากติกาออกแบบให้เป็นประชาธิปไตยได้จริง พรรคการเมืองและนักการเมืองก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกติกา แต่กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้นักการเมืองเป็นแบบนี้ ดังนั้น โทษนักการเมืองอย่างเดียวไม่พอ ต้องโทษคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

Advertisement

•เคยบอกว่าวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ยากเท่าการสร้างฉันทามติ

ทุกคนทราบดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้แก้ยากมาก หรือในทางปฏิบัติอาจแก้ไม่ได้เลย กำหนดกันถึงขนาดที่ว่า การแก้รัฐธรรมนูญคือการร่วมกันของ 2 สภา โดยวาระที่ 1 จะแก้ได้ ต้องมี ส.ว.มาเห็นด้วย จำนวน 1 ใน 3 วาระที่ 2 พิจารณาเรียงมาตรา ต้องเอากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา วาระที่ 3 จะผ่านได้ต้องมีฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับมี ส.ว.อีก 1 ใน 3 และถ้าคุณแก้ในเรื่องสำคัญ ต้องไปจบที่ประชามติ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบอีก อย่างไรก็ตาม ถ้านั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่ได้แก้เหมือนกัน

ดังนั้น สิ่งที่พรรค อนค.ตั้งใจ คืออยากเปลี่ยนทั้งฉบับ ก็ไปเอารูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เวลานั้นมีรัฐธรรมนูญ 2534 บังคับใช้อยู่ และรัฐบาลคุณบรรหาร ศิลปอาชา คิกออฟเรื่องปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ 2534 ในปี 2538 เพื่อเปิดให้มีบทบัญญัติหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้นจึงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาทำรัฐธรรมนูญ ก่อนจะผ่านเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 พรรค อนค. ได้หาเสียงไว้แบบนี้ คือเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. โดยประชาชน เมื่อร่างเสร็จก็เอาไปทำประชามติ

แต่ในการหาเสียง ก็พูดตลอดเวลาว่าต้องทำควบคู่กับภาคประชาชนด้วย คือจะทำอย่างไรให้สังคมไทยเกิดฉันทามติร่วมกันทั้งสังคมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือชนวนที่อาจจะก่อวิกฤตการณ์ทางการเมือง จึงมีความคิดว่าจะต้องรณรงค์ควบคู่กันกับการสู้ในสภา ซึ่งผมตั้งชื่อโครงการไว้ว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญประชาชน” โดยพรรค อนค.จะเดินทางไปทำงานทางความคิด รณรงค์กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันให้ได้ว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมดและต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่

มองย้อนกลับไปในอดีต สภาผู้แทนราษฎร 2 ชุดที่แล้ว มีเสียงมากพอจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้ไม่ได้ เจอการชุมนุมประท้วง แต่ตอนปี 2539 ที่จะผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีกระแสธงเขียวปฏิรูปการเมือง นักการเมืองเวลานั้นไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อเกิดกระแสภาคประชาชนขึ้นมา ชูธงปฏิรูปการเมืองกดดันจนนักการเมืองยอมยกมือรับหมด

ดังนั้นระหว่างที่กำลังรอให้เกิดฉันทามติในสังคม ถ้าคุณนั่งเฉยๆ ในสภาโดยไม่แตะรัฐธรรมนูญเลย เพราะรู้ว่าแตะไปก็แก้ไม่ได้ ก็เสียเวลาโดยใช่เหตุ ในเมื่ออาศัยแค่เสียง ส.ส.100 คน ก็สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ แน่นอนว่าแก้ไม่ผ่านหรอก แต่ก็ควรเสนอ เผื่อจะมีประเด็นอะไรที่ง่ายที่สุดที่ประชาชน หรือพรรคการเมืองแทบทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้ว เช่น เรื่องอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ จะมีคนค้านก็แค่ ส.ว.เท่านั้น

•เมื่อ 16 สิงหาคม 2561 เคยเสนอขั้นตอนว่าลำดับแรกคือต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่วันนี้ที่เสนอแก้เป็นรายมาตรา หมายความว่าต้องการทำให้เกิดฉันทามติก่อน แล้วค่อยไปแก้ทั้งฉบับ

ถูกต้อง ต้องยอมรับตรงกันในจุดนี้ก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ว่าจะแก้เรื่องอะไร แก้ยากหมด แม้แต่จะแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยการแก้ ก็แก้ยาก ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขนาดไม่รู้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มันยากและจะทำไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุด ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าได้พยายามสู้ทุกช่องทางที่มีโอกาส ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จแล้วยอมจำนน

•สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เคยเสนอว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก ทำไมจึงไม่แก้ทั้งฉบับ แก้รายมาตราก็ไม่คุ้มกับพลังงานที่เสียไป

ปัญหาของผมคือ ระหว่างนี้ได้ฉันทามติของสังคมมาเพียงพอหรือยัง ถ้าคุณเสนอเรื่องแก้ทั้งฉบับในวันนี้ มันต้องมีคนบอกว่าแก้ทั้งฉบับเนี่ย เรื่องอะไรบ้าง เดี๋ยวก็มีคนค้านเต็มไปหมด ดังนั้น ขอยืนยัน ผมและพรรค อนค.เห็นด้วยอยู่แล้วว่าต้องแก้ทั้งฉบับ แล้วเป็นพรรคแรกๆ ที่พูดตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค แต่ระหว่างทาง ผมเห็นว่าการเสนอแก้ มาตรา 272 จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปิดแผลรัฐธรรมนูญได้

•การสร้างฉันทามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จากการลงพื้นที่ พบว่าประชาชนยังไม่เข้าใจตรงไหน

เขาน่าจะเข้าใจว่า ถ้ามีใครแหลมมาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไร เดี๋ยวมีม็อบ เพราะตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้นมา เกิดแบบนี้มาตลอด รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช แหย่เรื่องรัฐธรรมนูญปุ๊บ มีม็อบ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีชุมนุม ภาพนี้มันยังอยู่ ทีนี้ปัญหาของผมคือ แล้วถ้าคุณไม่ทำให้สังคมเห็นตรงกันก่อนว่า นี่ไม่ได้แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ของพรรค แต่แก้เพื่อประโยชน์ของประเทศ ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ก่อน คุณจะเจอหนังม้วนเดิมฉายซ้ำ

•ประเมินว่าการสร้างฉันทามติต้องใช้เวลานานแค่ไหน

คิดว่างวดนี้ง่ายกว่าครั้งที่แล้ว เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คนเห็นอะไรเยอะขึ้นและทราบมากขึ้นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่สนับสนุนให้ คสช.สืบทอดอำนาจได้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ไม่ใช่พวก คสช. ระบบตรวจสอบจะทำงานเลย ถ้าคุณเป็นพวกเดียวกับฝ่ายที่ยึดอำนาจ จะมีความสุขกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าคุณเป็นคนละพวกกันเมื่อไหร่ เป็นไปได้ที่คุณจะโดนกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดการจนไปต่อไม่ได้

•มองว่าควรมีทั้งคนที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายและแนวคิดฝ่ายขวาอยู่ใน ส.ส.ร.หรือไม่

ผมเชื่อในการมีส่วนร่วมของการถกเถียง ถ้าเปิดสนามที่มันมีเหตุมีผลอธิบายชี้แจงกันได้ คนจะเข้าใจ แต่ถ้ามีการตั้งแง่ระหว่างกันตลอดเวลา ว่าไอ้นี่พวกไอ้นี่ ร่างเพื่อคนนี้พรรคนั้น คุณก็เขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้ และที่ผ่านมาคุณเขียนรัฐธรรมนูญโดย “คนกลาง” ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ทุกคนมีผลประโยชน์ในตัวเองเวลาเขียนรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเหลือทางเดียวเท่านั้น คือเอาประชาชนมามีส่วนในการกำหนดและเขียนมัน

•บางพรรคที่ร่วมรัฐบาล อาจได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำไมเขาต้องอยากแก้รัฐธรรมนูญ

สมมุติมีการแก้ มาตรา 272 ถามว่าพรรคที่ไปร่วมรัฐบาลไม่เอาหรือ ข้อหนึ่ง คุณรณรงค์หาเสียงว่าไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่เห็นด้วยกับ ส.ว. 250 คน ที่มาเลือกนายกฯ ผมว่ามีหลายพรรคที่ไปร่วมรัฐบาลพูดแบบนี้ แต่จะทวงสัญญาได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อสอง สิ่งที่คุณต้องมานั่งปวดหัวกับการตั้งรัฐบาล แบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกัน มันเกิดจากกลไก 250 ส.ว. ที่ส่งผลกระทบ และข้อสาม คือเรื่องหลักการ คุณเชื่อจริงๆ หรือว่าการเมืองไทยในระบบรัฐสภา อนุญาตให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯได้

อย่างไรก็ตาม ต้องรณรงค์กัน สุดท้ายถ้าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ประชาชนก็ตัดสินใจได้ จะได้รู้ว่าใครคิดอะไร ผมคิดว่าการเมืองในยุคสมัยนี้ มีคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มีโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการกระจายข้อมูลข่าวสาร การเมืองไม่ใช่ elite politics (การเมืองของชนชั้นนำ) แต่เป็น mass politics (การเมืองของมวลชน) ไปเรียบร้อยแล้ว พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะทำอะไรโดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลย ผมคิดว่าอันตราย จะเสียความนิยมชมชอบ นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันพฤติกรรมของแต่ละพรรคให้ทันต่อยุคสมัย

•เสนอยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช.

ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจ มาตรา 44 ออกประกาศคำสั่งเต็มไปหมด และประกาศคำสั่งเหล่านั้นถูกรับรองเอาไว้ล่วงหน้าว่ามันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเสมอโดย มาตรา 279 ใครไปโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทุกศาลก็ไม่รับ เพราะเขาบอกว่า มาตรา 279 เขียนไว้แล้วว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มาตรา 279 จึงเป็นมาตราที่ Absurd (ไร้สาระ) ที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image