กลยุทธ์ การเมือง : กลยุทธ์ กินข้าว ทีละคำ : ทิศทาง การเมือง

เหตุผลอะไรทำให้ 7 พรรคการเมือง ที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.เข้าร่วมในการเคลื่อนไหว “ปักหมุด ปลดอาวุธ คสช.” ของภาคประชาชน

ถึงกับพรรคอนาคตใหม่ ส่ง พล.ท.พงศกร รอดชมพู

ถึงกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเพิ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานวิปภาคประชาชนจะเข้าร่วมในการแถลงจุดยืน

หมายความว่า 7 พรรควางมือในเรื่องแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ไปแล้วหรือ

Advertisement

เพราะว่าเป้าหมายของภาคประชาชน 23 องค์กร เสมอเป็นเพียงล่ารายชื่อ 13,409 เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.เท่านั้นเอง

เสมอเป็นเพียงเรื่องย่อยๆ เมื่อเทียบกับ “รัฐธรรมนูญ” ทั้งฉบับ

หากมีใครไปสอบถาม พล.ท.พงศกร รอดชมพู ซึ่งเคยเป็นรองเลขาธิการ สมช.หากมีใครไปสอบถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม

Advertisement

คำตอบอาจออกมาว่า “กินข้าวทีละคำ”

ในทางการทหาร ยุทธศาสตร์คือต้องการเอาชนะโดยทำลายกองพลใดกองพลหนึ่งให้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ ปลดอาวุธ จับเป็นเชลย

แต่ในทางยุทธวิธีจำเป็นต้องทีละกองร้อย ทีละกองพัน

เคยมีปราชญ์ทางการทหารเปรียบเทียบยุทธศาสตร์และยุทธวิธีสอดรับอย่างยิ่งกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

นั่นก็คือ การกินข้าวมิอาจกินทีเดียวได้ทั้งชาม จำเป็นต้องกินทีละคำ

กล่าวสำหรับการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เด่นชัดอย่างยิ่งว่า 7 พรรคที่ประกาศแนวทางต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.มิอาจแก้รัฐธรรมนูญได้ภายในพริบตาพลัน

ลำพังการหาคะแนนส่วนใหญ่ในสภาก็ยากเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว

เพราะ คสช.และแม่น้ำ 5 สาย ได้วางกลไกและกับดักเพื่อป้องกันรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างแน่นหนาทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในวุฒิสภา

จึงจำเป็นต้องตีจากจุดย่อย กินข้าวทีละคำไปก่อน

บางคนที่ไม่เข้าใจในยุทธวิธี “กินทีละคำ” เพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ใหญ่ในการพิชิต “ข้าวทั้งจาน” ก็อาจไม่เข้าใจจังหวะก้าว

ไม่ว่าจะของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไม่ว่าจะของ พล.ท.พงศกร รอดชมพู

เพียงการประสาน 7 พรรคการเมืองเข้าไปยัง 23 องค์กรภาคประชาชน บนพื้นฐาน “ประชาชน ปักหมุด ปลดอาวุธ คสช.” ก็ต้องยอมรับว่าทรงความหมายยิ่ง

เพราะเท่ากับเป็นการยื่นมือไปยัง “ภาคประชาสังคม”

เพราะเท่ากับเป็นการสร้างพันธมิตรในแนวร่วมระหว่างภาคประชาสังคมกับพรรคการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

เนื่องจากมี “คสช.” เป็นเป้าหมาย “ร่วม”

เมื่อสามารถผนึกตัวประสานพลังก็เท่ากับนำพาบทบาทของพรรคการเมืองไปอยู่ในท่ามกลางการขับเคลื่อนอันมีชีวิตชีวาของภาคประชาสังคม

รดน้ำ พรวนดินเมล็ดพันธุ์แห่ง “ประชาธิปไตย”

ในทางเป็นจริง ไม่มีใครสามารถกินข้าวทีเดียวได้หมดสิ้นราพณาสูรไปทั้งจาน จึงมีความจำเป็นต้องตักทีละคำ ค่อยๆ เคี้ยวกลืน

กระบวนการกินข้าวเป็นเช่นนี้ กระบวนการทางการเมืองก็เป็นเช่นนี้

ไม่ว่าการเมืองภาคประชาชน ไม่ว่าการเมืองที่ดำเนินการพรรคการเมือง ล้วนมิอาจรอดพ้นไปจากการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอันแยบยล

วัตถุประสงค์ของ “ยุทธวิธี” ก็เพื่อบรรลุเป้าในทาง “ยุทธศาสตร์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image