Startup กับพานไหว้ครู : นิธิ เอียวศรีวงศ์

มีข่าวที่ออกจะประหลาดหรือรายงานข่าวสับสนอย่างใดอย่างหนึ่ง ในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่งว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแถลงว่า ธุรกิจที่ถูกจัดว่าเป็น startup จดทะเบียนเพิ่มขึ้นปีละ 1% และธุรกิจด้านการก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, และร้านอาหารประกอบกันขึ้นเป็นส่วนใหญ่ของธุรกิจ startup ที่ไปจดทะเบียน

ผมไม่เคยทราบเลยว่า มีธุรกิจ startup ในกิจการด้านก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, หรือร้านอาหาร อาจมีธุรกิจในสามด้านนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าด้านอื่นจริง แต่ก็เป็นการลงทุนในธุรกิจแบบเดิม (เทคโนโลยีเดิม ทั้งการผลิตและการบริหาร เงื่อนไขการขายแบบเดิม และตลาดเดิมซึ่งอาจเติบโตขึ้น) เช่น มีเทคนิคการก่อสร้างอะไรหรือครับที่ถือได้ว่าเป็นวิธีใหม่ ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีโครงการบ้านจัดสรรไหนหรือครับที่เสนอเงื่อนไข การขายแบบใหม่ หรือมีร้านอาหารอะไรหรือที่เจาะช่องว่างในตลาดอาหารซึ่งไม่เคยมีใครได้ใช้ประโยชน์มาก่อน

ถ้าทุกอย่างเหมือนเดิมหมด เพียงแต่มีผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นเท่านั้น จะเรียกว่า startup ได้อย่างไร

ผมรู้สึกมานานแล้วว่า ธุรกิจ startup ที่มือเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารนำมาอ้างถึง และขยายออกไปยังสื่อให้ฮือฮากันเล่นอยู่พักหนึ่งนั้น ดูจะไม่เป็นที่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของมัน พูดกันไปโก้ๆ ตามขี้ปากนักวิชาการฝรั่ง โดยไม่ได้คิดจริงจังเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ startup ในเมืองไทยขึ้นจริง ดังจะเห็นได้ว่า ไม่นานมานี้เอง มือเศรษฐกิจที่เริ่มพูดเรื่อง startup กลับบอกให้มหาวิทยาลัยเน้นการทำงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีอยู่แล้ว อันล้วนไม่ใช่ startup ทั้งสิ้น ซ้ำยังให้มหาวิทยาลัยหาทุนช่วยตัวเองด้วย

Advertisement

แท้จริงแล้ว startup คือธุรกิจที่ควรลงทุนอย่างจำกัดก่อน จึงไม่อาจลงทุนด้านข้อมูลอย่างเต็มที่เท่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ดังนั้น startup จึงมีความเสี่ยงสูง มหาวิทยาลัยอาจช่วย startup ได้ด้วยการทำให้ข้อมูลหลายอย่างที่อาจไม่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรงแพร่หลายและฟรี ซึ่งงานวิจัยประเภทนี้จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากบริษัทธุรกิจ แต่มีคุณค่าอย่างสูงที่จะทำให้มองเห็นช่องทางใหม่ทางธุรกิจของ startup ถ้ามหาวิทยาลัยทุ่มวิจัยแต่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือรับจ้างบริษัทใหญ่วิจัยสิ่งที่เขาจะเอาไปใช้ประโยชน์ ธุรกิจ startup ก็ยิ่งมีข้อมูลน้อยและยิ่งต้องเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก

Startup ไม่ใช่การเริ่มธุรกิจใหม่ (ไม่ใช่ start up a new business) แต่เป็นการทำธุรกิจอีกลักษณะหนึ่ง ด้วยเป้าหมายว่า หากประสบความสำเร็จก็อาจแปรรูปไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ (ขายหุ้น, ร่วมหุ้น, ฯลฯ) ผู้ลงทุนมองเห็นช่องทางใหม่ของการขายสินค้าหรือบริการใหม่ ที่มีความต้องการแฝงอยู่ในตลาด
อันเป็นความต้องการที่อาจขยายออกไปได้อย่างไพศาล ช่องทางเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและวิถีชีวิตของบุคคลและองค์กรทางสังคม จึงก่อให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการใหม่ ซึ่งธุรกิจเดิมอันได้ตั้งตัวลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงแล้ว ไม่สามารถหรือไม่ปรารถนาจะแปรเปลี่ยนตนเองมาทำกำไรตรงนี้

แอปเปิล, ไมโครซอฟท์, สตาร์บัคส์, ฯลฯ ล้วนเริ่มจากธุรกิจ startup ทั้งสิ้น ต่างตัดสินใจเข้ามาเดินบนลู่ทางที่คนอื่นยังไม่ได้เดิน แต่ต่างเชื่อว่าลู่ทางนั้นจะนำไปสู่ลานส่งจรวดที่จะทำให้ตนพุ่งทะยานขึ้นไปสู่ดวงดาวได้ และในที่สุดต่างยืนเด่นบนดวงดาวให้เป็นที่ประจักษ์และกล่าวอ้างกันทั่วโลก

Advertisement

จนมักลืมไปว่า มีคนที่มองเห็นลู่ทางใหม่อย่างนี้อีกมากกว่ามาก ที่เดินไปไม่ถึงไหน เพราะมองทางตันเป็นทางโปร่งบ้าง ถูกธุรกิจยักษ์ใหญ่กระโดดเข้ามาเบียดเสียก่อนจะไปถึงลานส่งจรวดบ้าง ขยายธุรกิจด้วยความโลภในจังหวะที่ยังไม่พร้อมบ้าง ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจแบบเดิมแล้ว บนเส้นทาง startup ทิ้งซากศพไว้กลาดเกลื่อนมากกว่าอย่างเหลือคณานับ เพราะ startup เต็มไปด้วยความเสี่ยง ที่เสี่ยงที่สุดก็คือข้อมูลที่ไม่พร้อมมูลเพียงพอ ซึ่งเป็นธรรมดาในการเดินบนลู่ทางที่ไม่เคยมีคนเดินมาก่อน ครั้นจะรอให้ข้อมูลเพียงพอ ลู่ทางนั้นก็อาจมีคนเดินจนเต็มแล้ว จะลงทุนกับข้อมูลก็ต้องใช้ทุนมากเกินไป ส่วนข้างไม่น้อยเลยของข้อมูลที่จะเอาไปใช้มาจากการเก็บข้อมูลที่กระพร่องกระแพร่ง ยิ่งกระพร่องกระแพร่งเท่าไร ก็ยิ่งเสริมอคติส่วนตัวมากเท่านั้น ยิ่งอคติมากก็ยิ่งเพ้อฝันมาก ยิ่งเพ้อฝันมากก็เจ๊งมาก จบ

และด้วยเหตุดังนั้น startup จึงควรลงทุนอย่างจำกัด เพราะต้องเผื่อเจ๊งไว้ด้วย เอาทุนส่วนใหญ่ลงไปกับการตอบโจทย์ที่มองเห็น ไม่ไปลงทุนกับอะไรที่เป็นการลงทุนคงที่มากนัก

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมนะครับว่า ธุรกิจขายอาหารกลางวันแก่พนักงานบริษัทห้างร้าน ซึ่งมีคนทำดกดื่นมานานแล้ว หากคุณไปเปิดแผงหรือร้านใหม่แถวสีลม นั่นไม่ใช่ startup แต่หากคุณจินตนาการออกว่าจะข้ามอุปสรรคในด้านข้อจำกัดของธุรกิจนี้ไปได้อย่างไรต่างหาก ที่จะทำให้ร้านอาหารของคุณกลายเป็น startup ที่ประสบความสำเร็จได้

ข้อจำกัดของร้านอาหารประเภทนี้คืออะไร เท่าที่ผมนึกออกทันทีเวลานี้ก็คือ 1/ต้องทำอาหารหลากหลายชนิดให้เสร็จเร็วพอที่เมื่อนำไปส่งแล้ว อาหาร ยังร้อนอยู่ 2/ต้องส่งได้เร็ว เพราะพนักงานมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมง เขาต้องการเวลาจัดการกับธุระส่วนตัวของเขาหลังกินอาหารแล้วด้วย ข้อจำกัดทั้งสองข้อนี้ทำให้ร้านอาหารประเภทนี้จะ “ใหญ่” ไม่ได้ เพราะทั้งกำลังแรงงานและเวลามีจำกัดมาก แต่ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคุณสามารถทำอาหารส่งได้ทุกสำนักงานบนถนนสีลม ยอดขายของคุณจะเพิ่มขนาดไหน และหากทำติดได้อย่างแน่นอนจะเรียกหุ้นก็ง่ายนิดเดียว

(เช่น ระหว่างใช้หุ่นยนต์ส่งอาหาร กับไทยใหญ่ส่งอาหารจะยังกำไรอยู่ไหม และอย่างไหนให้กำไรมากกว่า)

ในเวลาไม่นานข้างหน้า จะมีคนทำงานที่บ้านมากขึ้น จะขายของหรือบริการอะไรแก่คนทำงานที่บ้าน เข้าออฟฟิศเพียงสัปดาห์ละ 1 หรือ 2 วัน เพราะสินค้าและบริการที่เขาต้องการไม่ใช่อย่างเดิมแล้ว
ถ้าคุณคิดออกและทำได้จริง รวยเละ

(งานวิจัยที่ไม่อาจเอาไปปรับใช้หรือขายธุรกิจตามประเพณีได้ จึงมีประโยชน์และช่วยกระจายโอกาสให้ถึงคนที่ไม่มีทุนใหญ่พอจะทำธุรกิจปรกติได้ ยิ่งสังคมใดมีทุนทางความรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้ธุรกิจ startup เสี่ยงน้อยลงเท่านั้น ถ้าจินตนาการของมือเศรษฐกิจยังไม่เกินไปจากขายทักษะให้แก่ทุนประชารัฐ ธุรกิจ startup ก็ยิ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย)

นี่แหละครับ คือเหตุผลที่ว่าต้นทุนที่ขาดไม่ได้ของธุรกิจ startup คือจินตนาการ และความกล้าทดลองกับอะไรใหม่ๆ อย่างมีเหตุผล (คือไม่บ้าบิ่น) ถ้าเราไม่มีประชากรประเภทนี้เลย จะไปหวังให้เกิดธุรกิจ startup ย่อมเป็นไปไม่ได้

เด็กไทย ทั้งผ่านการเลี้ยงดูอบรมในครอบครัวและการศึกษาซึ่งรัฐเป็นผู้จัดหรือควบคุม จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีจินตนาการและความกล้าในการทดลองสิ่งใหม่ๆ หรือไม่

โดยตัวหลักสูตร การศึกษาไทยต้องการปั้นเด็กให้ออกมาเป็นพิมพ์เดียวเท่านั้น คือเป็นพลเมืองที่ไม่ตั้งคำถามกับรัฐ และเป็นผู้มีทักษะที่ทุนอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตามวิถีทางการผลิตและค้าขายด้วยธุรกิจที่ดำเนินงานแบบประเพณี ดังนั้นทั้งจินตนาการและความกล้าในการทดลองสิ่งใหม่จึงไม่ใช่สิ่ง
จำเป็น และไม่ได้รับการส่งเสริม หรือถึงกับห้ามปรามด้วยซ้ำ

กรณีที่เพิ่งเกิดไม่นานมานี้คือ การจัดพานดอกไม้ในวันไหว้ครู หรือการเดินขบวนในการแข่งขันกีฬาสี ล้วนทำให้ผู้บริหารการศึกษาอึดอัด เพราะเกรงว่าจะอธิบายให้ถูกใจผู้บริหารระดับสูงกว่านั้นขึ้นไปไม่ได้

เราชอบพูดถึงการสอนให้เด็กคิดเองเป็น แต่คนเราจะคิดเองเป็นได้อย่างไร ถ้าไม่ได้มีโอกาสลองผิดลองถูก หากทว่าในการศึกษาไทย ลองผิดหมายถึงถูกลงโทษ นับตั้งแต่ดุว่ากล่าวกลางห้องเรียน, ลงโทษทางกาย, ไปจนถึงสอบตก และสอบเข้าเรียนต่อไม่ผ่าน ฉะนั้นแทนที่การศึกษาจะเปิดให้เด็กกล้าลอง เพราะมั่นใจได้ว่าจะมีผู้ใหญ่คอยระวังให้การลองนั้นต้องไม่มีอันตรายต่อตัวเด็กแล้ว แม้ลองแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีใครซ้ำเติม มีแต่คนที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ว่า ทำไมจึงไม่ได้ผล และให้กำลังใจในการกล้าลองอีก

การศึกษาและอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบไทย ไม่ส่งเสริมให้เด็กสร้างจินตนาการ มองหาสิ่งที่มองไม่เห็นในปรากฏการณ์ระดับผิวๆ สอนวรรณคดีแล้ว ไม่ทำให้ผู้เรียนคิดแทนทศกัณฐ์ได้ ก็เท่ากับบั่นรอนประโยชน์ของการเรียนวรรณคดีไปอย่างมาก การคิดแทนจนถึงขั้นรู้สึกแทนคนอื่นได้ คือรากฐานของศีลธรรมและประชาธิปไตย และหากว่าเฉพาะธุรกิจ startup ก็ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียว ถ้าผู้ผลิตแอปเปิล
คิดแทนผู้ใช้ไม่ออกว่า จะใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องเรียนรู้อัลกอริทึมอะไรเลย แต่ใช้งานได้หลายอย่าง ด้วยการเอาเมาส์ไปจิ้มๆ คลิกๆ ตามความต้องการของตนเอง ป่านนี้แอปเปิลคงเจ๊งไปนานแล้ว

ท่ามกลางการศึกษาที่ผลิตคนออกมาอย่างนี้ การพูดถึง startup จึงไม่มีความหมายอะไร นอกจากโก้ปากดีเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image