“ปิยบุตร” ชี้มติศาลรธน.สร้างมาตรฐานปม 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ จับตามาตรฐานพิจารณาเทียบคดี “ธนาธร”

“ปิยบุตร” ชี้ มติศาลรธน.สร้างมาตรฐาน ปม 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ดูบอจ.5 อย่างเดียวไม่ได้ ต้องแนบแบบสสช.1-งบการเงินด้วย เผยหาก “อนาคตใหม่” รู้แต่แรก พร้อมยื่นเพิ่ม จับตามาตรฐานพิจารณา-วินิจฉัยเทียบคดี “ธนาธร”

เมื่อเวลา 18.25 น. วันที่ 26 มิถุนายน ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) แถลงข่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติต่อคำร้องของพรรคอนค. กรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อ โดยศาลมีมติรับคำร้อง 32 คน แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่รับคำร้อง 9 คน ว่า ขอตั้งข้อสังเกตต่อมติของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทั้งหมด 4 ประเด็น ประเด็นแรก ถ้าดูเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ไว้ต่อการไม่รับคำร้อง 9 รายนั้น เพราะศาลมองว่าวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับหนังสือแบบเรียนเครื่องเขียน ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับกิจการสื่อ แต่สาเหตุที่ส.ส.พรรคอนค.ใส่ชื่อส.ส. 9 คนนี้เข้าไป เพราะเราไปค้นแนวทางก่อนหน้านี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จ.ลพบุรี ซึ่งเคยรับเรื่องกรณีมีส.ส.คนหนึ่งร้องคัดค้านส.ส.อีกคนหนึ่ง โดยอ้างวัตถุประสงค์เรื่องแบบเรียนว่าอยู่ในขอบข่ายของสื่อหรือหนังสือพิมพ์ เมื่อเราเห็นแนวทางอย่างนี้ จึงมีการยื่นเสนอไปด้วย แต่ในวันนี้ก็ทราบแล้วว่าแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญจะดูวัตถุประสงค์ในสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นหลัก

นายปิยบุตรกล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่ามาตรา 98(3) ในรัฐธรรมนูญ มิใช่เพียงมีเจตนาหรือความประสงค์จะทำกิจการเท่านั้น ถึงแม้การถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจพอที่จะใช้เป็นเหตุในการยื่นคำร้องต่อศาลได้ ถ้อยคำนี้ เมื่อเราอ่านแล้วได้ตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนศาลจะใช้เกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างจากแนวทางของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ที่พิจารณาเพียงดูหนังสือบริคณห์สนธิ ดูวัตถุประสงค์เรียงข้อว่าถ้ามีวงเล็บใดวงเล็บหนึ่ง หรือเรื่องทำสื่อเมื่อไหร่ ถือว่าประกอบกิจการสื่อทันที ซึ่งก็ได้ตัดสิทธิ์การเลือกตั้งไปแล้ว 2 ราย คือ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัครส.ส.สกลนคร พรรคอนค. และ นายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัครส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเดินตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งหรือไม่ หากไม่เหมือน นั่นหมายความว่า 2 รายที่ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ จะกลายเป็น 2 รายที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่คนอื่นใช้เกณฑ์อื่น ส่วนประเด็นที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ราย และไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่ากรณี 41 รายที่พรรคอนค.ยื่นไป เป็นการยื่นโดยส.ส.เข้าชื่อ ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในขณะที่คดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนค. ผ่านการไต่สวนของกกต. ซึ่งตนขอชี้แจงว่า แม้คดีของนายธนาธรจะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน แต่การไต่สวนของกกต.มีปัญหา ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ และยังไต่สวนไม่เสร็จก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

นายปิยบุตรกล่าวว่า และประเด็นที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญไม่สั่งให้ ส.ส. 32 ราย หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เกณฑ์ว่าจะดูจากเอกสารบอจ.5 ไม่ได้ แต่จำเป็นต้องดูแบบ สสช.1 และงบการเงินของห้างหุ้นส่วนว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด ซึ่งกรณีของนายธนาธร กกต.ได้ส่งเอกสารเหล่านี้ไปด้วย แต่ในส่วนคำร้องของพรรคอนค. ส่งเพียงแต่แบบบอจ.5 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ พรรคอนค.จะพิจารณาต่อไปว่าสามารถยื่นเอกสารเพิ่มเติมได้หรือไม่

Advertisement

“ในมติของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้มีการพูดถึงว่าจะต้องมีเอกสาร 2 ชิ้นดังกล่าว ซึ่งหากศาลพูดเอาไว้ตั้งแต่แรก เมื่อเราเสนอคำร้องไปจะได้เตรียมเอกสารที่เหลือด้วย ดังนั้น วันนี้เราได้มาตรฐานที่แน่นอนของศาลแล้ว ศาลอาจเรียนเผื่อท่านอื่นๆ ถ้าสนใจจะเข้าชื่อร้อง หากร้องกันเองโดยส.ส. ศาลจะบอกว่าไม่มีการไต่สวน ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่าคำร้องอื่นซึ่งมีชื่อซ้ำซ้อนกับ 41 ส.ส.จะใช้ระยะเวลาในการไต่สวนเท่าไหร่ นอกจากนั้น ถ้าส.ส.จะเข้าชื่อร้อง ต้องแนบเอกสาร 2 ชิ้นดังกล่าวไปด้วย” นายปิยบุตรกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้นายธนาธรขอขยายเวลาชี้แจงเพิ่มเติมอีก 15 วัน นายปิยบุตรกล่าวว่า เมื่อศาลไม่ขยายเพิ่มเติม เราก็พร้อม นายธนาธรจะสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยหากศาลอนุญาตให้มีพยานบุคคลได้ ก็จะเป็นเรื่องดี โดยเราขอเรียกร้องมาตรฐานทั้งเรื่องระยะเวลาในการพิจารณา และคำวินิจฉัยตัดสินด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image