‘ปิยบุตร’ ลั่น ‘ถือหุ้นสื่อ’ หาก ส.ส. พปชร.รอด เท่ากับ อนค.ต้องรอดด้วย

‘ปิยบุตร’ ย้ำ ลักษณะต้องห้ามถือหุ้นสื่อ ต้องดูเจตนารมณ์ครอบงำ ไม่ใช่ดูหนังสือบริคณห์สนธิ ลั่น หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินต่างจากศาลฎีกา ทำ ส.ส.พปชร.รอด เท่ากับ อนค.ต้องรอดด้วย

เมื่อเวลา 15.50 น. วันที่ 27 มิถุนายน ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แถลงถึงกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส.ส.ฝ่ายค้าน 33 คน เข้าข่ายการถือครองหุ้นสื่อมวลชน ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิทธิ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ให้อำนาจ ส.ส.ในการเข้าชื่อ แต่ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้าทราบมาว่าจะใช้วิธีการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คงเปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะเปิดรัฐธรรมนูญแล้วพบว่าไม่มีช่อง จึงหันมาใช้ช่องนี้ ซึ่งพวกท่านมีวาสนากว่าตน เพราะได้ยื่นถึงมือนายชวน หลีกภัยโดยตรง ขณะที่ตนต้องยื่นผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่

นายปิยบุตรกล่าวว่า สำหรับกรณี ส.ส.พรรค อนค. 21 ราย ที่ปรากฏรายชื่อในคำร้องของ ส.ส.พรรคพปชร. นั้น เรายืนยันว่าหลายกรณีมีการโอนหุ้นไปแล้ว หลายกรณีเป็นบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ และหลักใหญ่ใจความที่ตนย้ำมาตลอด คือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองไปครอบงำสื่อ เพื่อใช้เอาเปรียบกันทางการเมือง แต่จากกรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัครส.ส.สกลนคร พรรคอนค. ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง พิจารณาจากหนังสือบริคณห์สนธิ เจอวงเล็บใดเกี่ยวกับสื่อก็ตัดสิทธิทันที จึงเกิดปัญหาซ้ำซ้อนกันแบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่พรรคอนค.ยืนยัน คือเราเห็นว่าการตีความกฎหมายเช่นนี้มีปัญหา ความจริงควรดูเรื่องการครอบงำสื่อเป็นหลัก แต่ท้ายที่สุด เรื่องนี้จะอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราหวังว่าศาลจะมีมาตรฐานในการตัดสินที่เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อถามว่า พรรคอนค.ย้ำเรื่องเจตนารมณ์ แต่ในคำร้องของพรรคอนค. ก็ร้องส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโดยระบุถึงหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้นเช่นกัน นายปิยบุตรกล่าวว่า การที่เราร้อง เพราะต้องการเรียกร้องมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามเรื่องถือหุ้นสื่อ ในเมื่อตัดสินคดีนายภูเบศวร์ และ นายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัครส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ มาแล้ว ทำให้เกิดมาตรฐานขึ้นมา เราจึงต้องถามว่า มาตรฐานเรื่องนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ อย่างน้อยที่สุด ครั้งนี้เป็นโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน หากกรณีที่ถือหุ้นในบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อจริงๆ แต่หนังสือบริคณห์สนธิมีเรื่องสื่อ ถ้าแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เหมือนศาลฎีกา หากเขารอด เราก็ต้องรอด

เมื่อถามว่า เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยบรรทัดฐานของศาลฎีกาในการตัดสินหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบ พบว่ามีโอกาสที่จะตัดสินไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินสอดคล้องหรือวางแนวแบบใหม่ ก็ขอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับ ส.ส. ทุกคนทุกพรรคการเมือง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image