ชาวประมง22จังหวัด สะท้อนปัญหา4ปียุคคสช.”จุรินทร์”ร่วมรับฟัง รับปากเสนอรัฐบาลใหม่

ชาวประมง 22 จว.สะท้อนปัญหา 4 ปียุค คสช. ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ด้านจุรินทร์ร่วมรับฟังชี้ 4 ด้านใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ห้องประชุมสหกรณ์พัฒนาการประมงตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ได้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2562 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นผู้เปิดการประชุม ร่วมด้วย นายชินชัย สถิรยากร เลขาธิการสมาคม,นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ รองประธานฯ ,นายศราวุธ โถสกุล รองประธาน,กรรมการบริหารสมาคม นายกสมาคมการประมงแห่งจังหวัดทั้ง 22 จังหวัด และสมาชิกสมาคมการประมง 59 องค์กรใน 22 จังหวัดชายทะเล ที่เดินทางมาร่วมประชุมเกือบ 1,000 คน และในการประชุมครั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ กับ ทางตัวแทนของพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้เข้าร่วมรับฟังการสะท้อนปัญหาจากชาวประมงทั่วทั้งประเทศด้วย

ซึ่งบรรยากาศของการประชุมใหญ่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2562 ณ ตลาดทะเลไทยตลอดทั้งวัน ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นแต่ไม่รุนแรง โดยมีตัวแทนชาวประมงในแต่ละจังหวัด แต่ละองค์กร ออกมาสะท้อนปัญหาที่ต้องทนมาตลอดเป็นระยะเวลา 4 ปี 1 เดือน 28 วัน ในยุคการบริหารและการควบคุมกฎหมายของ คสช. ซึ่งแต่ละคนต้องยืนอยู่บนความอดทน อดกลั้น อัดอั้น และจุกตันอยู่ในอก บางคนถึงกับร้องไห้ออกมาขณะที่กำลังสะท้อนปัญหาที่ชาวประมง แต่ละคนแต่ละจังหวัดต้องต่อสู้ เพื่อดิ้นรนให้อยู่รอด บางคนสู้ไหวก็สู้ต่อไป แม้หนทางข้างหน้าจะมืดลงทุกที บางคนสู้ไม่ไหวก็ต้องเลิกราไป ทั้งๆที่อาชีพประมงเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวที่ทำสืบทอดต่อกันมา

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมใหญ่วิสามัญนี้ ก็เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ จากสมาชิกและจากชาวประมงแต่ละจังหวัด เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ จากสมาชิกและชาวประมงในการที่จะนำไปเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องอาทิในเรื่องของ 1.ปัญหาทางด้านกฎหมาย ,วิธีปฏิบัติในการออกทำการประมง , ความผิดพลาดในการปฏิบัติซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยไม่เจตนา แต่กลับต้องถูกดำเนินคดี ต้องเสียเงินค่าปรับเป็นเงินจำนวนหลักแสนบาท หรือหลายล้านบาท อีกทั้งยังอาจจะถูกสั่งยึดสัตว์น้ำ ที่ไปทำการประมงอย่างถูกต้องทั้งหมดในแต่ละครั้งอีกด้วย จากการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวิธีปฏิบัติ โดยไม่มีโอกาสต่อสู้คดี และอาจจะต้องถูกคำสั่งพักใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต กันอีกด้วย, 2.กลุ่มเรืออวนรุนเดิมที่ถูกกฎหมาย แล้วถูก ศปมผ. มีคำสั่ง ให้ยกเลิกใบอนุญาตเรืออวนรุน ภายในเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงปี 2558 จำนวน 342 ลำ โดยที่ไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ทำให้หลายคนต้องหมดอาชีพแล้วสิ้นเนื้อประดาตัว กันจำนวนมาก ,3.กลุ่มเรือประมงที่ถูกกฎหมายอยู่เดิม แต่ได้ตกสำรวจ จากการที่ ศปมผ. มีคำสั่งให้มีการสำรวจเรือประมง ในปี 2558 ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือน โดยที่ชาวประมงบางส่วนที่ไม่ได้รับรู้การประกาศแจ้งสำรวจเรือ และเรือประมงบางส่วน แจ้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้คีย์เข้าระบบ จึงถูกคำสั่งให้ยกเลิกทะเบียนเรือภายในเวลา 1 เดือน จำนวน 2,024 ลำ แต่มีเรือที่มีสถานะอยู่กล่าวคือยังมีเรืออยู่ได้ถูกยกเลิกทะเบียนไป 2,200 กว่าลำ ส่งผลทำให้เรือประมงกลุ่มนี้ไม่สามารถออกทำการประมงได้ ทำให้เดือดร้อนไม่มีอาชีพเลี้ยงครอบครัว ต้องถูกเจ้าหนี้ยึดที่ดิน บ้าน รถและทรัพย์สินอื่นๆ จนต้องหนี บางคนถึงกับจบชีวิตตัวเอง ,

Advertisement

4. กลุ่มเรือที่ถูกกฎหมายเจ้าท่าฉบับใหม่ที่ออกมาแล้วกำหนดให้ยกเลิกทะเบียนเรือประมงที่เลยกำหนดการต่อใบอนุญาต หรือไม่ได้ต่อใบอนุญาต โดยที่ชาวประมงไม่ได้รู้กฎหมายฉบับใหม่อีกทั้งไม่เข้าใจกฎหมายด้วย เช่น เรือประมงที่งดใช้เรือประมงอยู่ เพราะไม่ได้ออกไปทำการประมง ก็ไม่ทราบว่าจะต้องต่อใบอนุญาตใช้เรือทุกๆปี จึงไม่ได้ไปต่อใบอนุญาตใช้เรือในแต่ละปี แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ต้องต่อใบอนุญาตทุกๆปี หากเลยกำหนด จะต้องถูกยกเลิกทะเบียนเรือประมงไปทำให้เป็นเรือประมงไม่มีทะเบียน ไม่สามารถออกทำการประมงใด รวมทั้งไม่สามารถขายเรือได้อีกด้วย ซึ่งเรือประมงถือเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือได้ว่าเป็นการยกเลิกทรัพย์สินของชาวประมงไปโดยง่ายๆ,5. กลุ่มเรือประมงขาวแดง ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีชื่อที่จะได้รับการ เยียวยาด้วย เพราะเหตุจาก ข้อ 2 และ 3 ข้างต้น , 6. กลุ่มเรือประมงฝั่งอ่าวไทยที่ต้องการจะไปทำการประมงฝั่งอันดามัน ที่ยังไม่สามารถข้ามฝั่งได้และกลุ่มเรือประมงฝั่งอันดามัน ที่ต้องการจะข้ามกลับมาทำประมงฝั่งอ่าวไทยก็ไม่สามารถจะ กลับมาทำประมงได้ เป็นต้น และ 7. กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกสั่งปิดโรงงานชั่วคราวและถาวรโดยง่ายๆ ตาม พรก. ประมง มาตรา11 มาตรา11/1 และกรณีที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จะต้องถูกปรับสูงถึง 400,000 – 800,000บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ตามกฎหมาย พรก. ประมง มาตรา 124 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการออกกฎหมายในการเลือกปฏิบัติ ต่อ โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเพียงอย่างเดียว แต่กับโรงงานประเภทอื่นๆ ที่มีใช้ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กลับมีโทษปรับเพียงแค่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และไม่ต้องถูกสั่งปิดโรงงานเหมือนกับโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ จึงอาจจะเป็นการออกกฎหมายที่ขัดกับหลักการความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย ความเสมอภาคในการที่เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติกับประชาชนอย่างเดียวกันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ เช่น เรื่องของการใช้แรงงาน, การนำเข้าแรงงานตาม MOU,เรื่องของการติดตั้ง VMS , การแจ้งเข้าออก,การติดตั้งกล้องวงจรปิดในเรือนอกน่านน้ำ, การประกาศเขตชายฝั่ง,การใช้น้ำมัน B100, การยืดระยะเวลาการทำอวนรุนเคย , การประกันราคาสินค้าประมง , การลักลอบนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน และข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะของเครื่องมือทำการประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านที่มากเกินไป จนกลายเป็นเครื่องมือทำประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า เรื่องเหล่านี้ พี่น้องชาวประมงก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรมต่อพี่น้องชาวประมงและสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำให้มีความเสมอภาคกัน ส่วนเรื่องของการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่หลังจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงมาตรวจแล้วบอกว่าไม่พบนั้น ขอยืนยันว่าการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศเพื่อนบ้านมีจริง และก็จับจริงกันแล้วนับตั้งแต่อธิบดีกรมประมงสั่งดำเนินการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ทั้งนี้ทางพวกเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวโน้มว่าจะได้ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนักการเมืองทุกพรรคที่มองเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงนั้น จะเข้ามาช่วยกันผลักดันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทำให้ชาวประมงกลับมามีอาชีพที่มั่นคงกันอีกครั้ง

Advertisement

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ขึ้นเวทีรับฟังปัญหาด้วยนั้น ก็บอกว่า ตนเองประมวลปัญหาของพี่น้องชาวประมงได้ 4 ข้อใหญ่คือ 1.เรื่องของกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติ ,2.เรื่องเกี่ยวกับแรงงาน,3.การเยียวยาที่ยังล่าช้า และ 4.ราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ตกต่ำเพราะขาดการควบคุมการนำเข้า ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ก็จะนำไปเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ IUU ด้วย โดยทางพรรคประชาธิปัตย์ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญให้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียที่เกิดจาก IUU แล้ว ซึ่งก็ได้ผลออกมาแล้วว่า มีเรื่องไหนบ้างที่ต้องดำเนินการตามกฎของ IUU และมีเรื่องไหนบ้างที่รัฐบาลในสมัยที่ผ่านมาให้ IUU มากเกินไป ทั้งนี้ก็ต้องขอเวลาสักระยะหนึ่งในการรวบรวมข้อมูล สรุปผล และนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณาดำเนินการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image