“บิ๊กตู่” พอใจ การประชุมจี 20 ความเห็นพ้องอาเซียนซัมมิท เผย “อียู” พร้อมปรับท่าที เพราะไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว

“บิ๊กตู่” พอใจ การประชุมจี 20 ความเห็นพ้องอาเซียนซัมมิท เผย “อียู” พร้อมปรับท่าที เพราะไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว

“บิ๊กตู่” พอใจ การประชุมจี 20 ความเห็นพ้องอาเซียนซัมมิท เผย “อียู” พร้อมปรับท่าที เพราะไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว ระบุ บทบาทไทยช่วยเหลือกรณีโรฮีนจา ต้องสอดคล้องกับความต้องการของเมียนมา

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในการร่วมการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่(จี 20) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมครั้งนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี มีความสุข พูดจากันด้วยมิตรไมตรี ทั้งที่การประชุมจี 20 และการประชุมอาเซียนซัมมิทที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยตนได้นำผลและมติต่างๆจากการประชุมอาเซียนซัมมิทมานำเสนอต่อที่ประชุมจี 20 ซึ่งการประชุมในช่วง 1 และช่วงที่ 2 เมื่อวานนี้ (28 มิถุนายน) มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกัน เป็นมุมมองของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ในฐานะผู้นำประเทศและเป็นประธานอาเซียน จำเป็นต้องมองถึงโลกภายนอกด้วย เพราะจะต้องเตรียมรับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อไทยและประชากรโลก

Advertisement

“ต้องขอพูดกับคนไทยว่าเมื่อต้องมองปัญหาใด ต้องมองทั้งจากภายในออกไปภายนอก และมองจากภายนอกเข้ามาภายในประเทศ เพราะทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายด้านใดบ้าง ทั้งนี้ ในการประชุมจี20 ครั้งนี้มีสหภาพยุโรป(อียู) เข้าร่วมด้วย ซึ่งทางอียูยินดีปรับระดับความสัมพันธ์ประเทศไทยมาอยู่ในระดับปกติ เพราะเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ที่ผ่านมาได้ปรับข้อมติต่าง ๆไปพอสมควร โดยจะเห็นว่าการค้าการลงทุนต่าง ๆ กับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป โดยภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าความสัมพันธ์จะยังไม่ได้รับการยกระดับถึงขณะนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯกล่าวว่า สิ่งที่ได้พูดคุยครั้งนี้ คือการหามาตรการรองรับจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโลกใบนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการพูดคุย การเจรจาในที่ประชุม จี20 จะเป็นอย่างไร โดยคาดหวังว่าจะผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการแก้ปัญหาของประเทศมหาอำนาจ ในขณะที่เราเองต้องเตรียมความพร้อม เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โอกาสการเข้าถึงระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนหยิบยกปัญหาให้ที่ประชุมจี 20 รับทราบว่าอาจมีความแตกต่าง เพราะคนของเราที่อยู่ในระดับกำลังพัฒนามีอยู่มากพอสมควร

“ดิจิทัลและระบบออนไลน์มีทั้งแง่บวกและลบ ซึ่งในทางลบ เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อยอาจพัฒนาไม่ได้ ขณะที่ธุรกิจที่พัฒนาแล้วจะมีรายได้สูงขึ้น เห็นได้จากสถิติการค้าขายออนไลน์ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 200% แสดงว่าผู้บริโภคหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น คนที่ยังค้าขายแบบเดิมจึงมีรายได้ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาของเศรษฐกิจระดับล่างที่ต้องหามาตรการแก้ปัญหาและสนับสนุนโดยตรง ขณะที่เรื่องอื่น ๆ ของการหารือ มีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปัญหาสภาวะเรือนกระจก เรื่องของขยะทะเล ซึ่งมติของอาเซียนได้ลงนามร่วมในการแก้ปัญหาขยะทะเล” นายกฯกล่าว

Advertisement

นายกฯกล่าวว่า นอกจากมติการประชุมอาเซียนที่ไทยได้นำเสนอต่อที่ประชุม จี20 แล้ว ยังมีข้อเสนออื่น ๆ อาทิ มุมมองเรื่องอินโด-แปซิฟิก ประเทศต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามา ซึ่งทุกอย่างที่จะพูดหรือแถลงออกไป ต้องเป็นมติจากสมาชิกทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องที่ต่างคนต่างพูด ซึ่งตรงกับคำว่า One voice of ASEAN เพราะฉะนั้น การประชุมครั้งนี้ที่เราตั้งธีมไว้ที่ประเทศไทย คือร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ถือว่าตรงทุกประการกับการประชุมจี 20

“หลายคนอาจมองว่าการประชุมจี20 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาเซียน แต่ผมมองว่าไม่ใช่ แต่อาจเป็นเพราะวันนี้อาเชียนมีความสงบ มีปัญหาภายในภูมิภาคน้อยมาก อาจจะมีเรื่องของทะเลจีนใต้ที่มีมาตรการดำเนินการตามกลไกที่อาเซียนวางไว้ และเห็นชอบให้แก้ปัญหาโดยสันติวิธีและรวดเร็ว ภายใน 3 ปี หากเร็วกว่านั้นก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในระหว่างนี้ กำหนดให้เดินเรือได้อย่างปลอดภัยรวมถึงการเดินอากาศด้วย” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องของโรฮีนจา ในส่วนของไทย ตนร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศพยายามผลักดันว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในเมียนมาได้ด้วยความสมัครใจของเมียนมาเอง เพราะปัญหาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทั้งเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาพื้นฐานเชิงประวัติศาสตร์ จึงมีมติว่าทำอย่างไรอาเชียนจะมีส่วนร่วมมือแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ของเมียนมาได้ ซึ่งได้ตกลงว่าจะรวบรวมความช่วยเหลือเข้าไป โดยต้องตรงกับความต้องการของทางเมียนมา ขณะเดียวกัน ต้องพูดคุยกับบังกลาเทศเพื่อความร่วมมือเรื่องของการส่งกลับ การคัดกรองให้มีความรวดเร็วขึ้น ขณะที่ทางเมียนมาเตรียมพร้อมเรื่องพื้นที่ ซึ่งไทยส่งทีมงานเข้าไปช่วยดูแลเรื่องของที่อยู่ที่อาศัยและการสาธารณสุข คิดว่าจะทยอยส่งกลับได้ตามลำดับ สถานการณ์ต่าง ๆ จะค่อย ๆ คลี่คลายไปเรื่อย ๆ หากไม่มีใครไปสร้างปัญหาใหม่

“วันนี้อาเซียนจะเพิ่มบทบาทด้วยการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค(RCEP) ซึ่งจะเป็นข้อตกลงทางการค้าของภูมิภาคที่จะไปประสานกับต่างประเทศ ซึ่งความตกลงนี้จะทำให้เราเกิดการเจริญเติบโตทุกด้าน ตอบสนองการพัฒนา 3 เสาหลักของอาเซียนที่ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 90 และจะหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่จะเร่งดำเนินการให้เสร็จในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image