เสวนาเผย สัดส่วนทหารไทย 1 คนต่อประชากร 200 คนเยอะกว่าจีนหลายเท่า ชี้แก้ไฟใต้ล้มเหลว จวกปมชาตินิยมแข็งตัว

เสวนาเผย สัดส่วนทหารไทย 1 คนต่อประชากร 200 คน เยอะกว่าจีนหลายเท่า ชี้แก้ไฟใต้ล้มเหลว จวกปมชาตินิยมแข็งตัว

เสวนา-เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 มิ.ย. ที่ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ร่วมจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง จากรัฐบาลลายพรางสู่ประชาธิปไตยอำพราง ที่มาปัญหาและทางออก โดยช่วง “ประชาธิปไตยอำพราง2: ปัญหา” มี ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ดร. ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมเสวนา

ดร. สามชาย กล่าวว่า สัดส่วนกองทัพของประเทศไทยคือ ทหาร 1 คนต่อประชากร 200 คน ขณะที่จีนที่ใหญ่โตยังมี 1 ต่อ 600 อุตสาหกรรมอาวุธที่เกี่ยวข้องกับทหาร มีการเกณฑ์ทหารมากกว่า 1 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ศึกสงครามไม่มีแล้ว นี่คือ ทุนของกองทัพในการเข้ามาจัดการกับประเทศไทย สามารถจัดการความเสี่ยงจากวิกฤตได้เป็นอย่างดี ยิ่งมีความรุนแรง ยิ่งมีผลตอบแทนสูงขึ้น จึงทำอย่างไรก็ได้ให้วิกฤตรุนแรงขึ้น เพื่อจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยปกป้องการค้ากำไรแบบนี้ได้เลย

Advertisement

ดร.สามชาย กล่าวว่า คนที่ถือทุนแบบกองทัพก็สามารถเข้าไปจัดการเปลี่ยนกติกาและเล่นนอกกติกาได้ตลอดเวลา เพื่อเข้ามาทำกำไร แม้จะมีรัฐธรรมนูญก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้ง เหลือง-แดง คนดี สิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องจัดการ ซึ่งกองทัพขยายคำจำกัดการความมั่นคง ไปถึง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และอื่นๆจนครอบคลุมทุกด้าน ตลอดจนมาถึงการสืบทอดอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งปันให้หุ้นส่วนที่ร่วมกันยึดอำนาจมาก็กระจายผ่านตำแหน่ง และงบประมาณ นี่คือการสะสมทุนของกองทัพตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นายพลของกองทัพเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 500 กว่าคน กลายเป็น 1,000 กว่าคนแล้ว ไม่นับรวมรถถังหรือเรือดำน้ำ ทั้งที่ใช้งานได้และไม่ได้ ซึ่งยิ่งน่ากลัวมากขึ้น

“การรักษาสถานะผ่าน 3 เสาหลักรัฐบาลลายพราง คือ 1.การแยกยึดพื้นที่ ผ่าน กอ.รมน. มีผลมากทั้งในระดับภาคและจังหวัด ขยายขอบเขตไปจัดระเบียบทางสังคม และทรัพยากร 2.ควบคุมฝ่ายการเมือง แต่งตั้ง 250 ส.ว. องค์กรอิสระ ปาฏิหาริย์ทางกฎหมายขึ้นอยู่กับใครเป็นคนพูด และ3.นโยบายรัฐวาณิชย์ เหมือนการเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ผ่านการดึงทรัพยากรมากระจายให้ทุนขนาดใหญ่ จากมาตรา 44 และนโยบายประชารัฐ” ดร.สามชายกล่าว

Advertisement

ดร.ชลิตา กล่าวว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้กับประชาธิปไตย การแก้ไขไม่อาจทำได้ด้วยกำลังทหาร การสู้รบหรือการจับกุมเพียงอย่างเดียว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงคือ ทหารกลายมาเป็นหัวหน้าคณะเจรจาแทนพลเรือน มีการเปลี่ยนวาทกรรม จากการเจรจาสันติภาพ สู่การพูดคุยสันติสุข ชี้ให้เห็นถึงการมองฝ่ายตรงข้ามที่เปลี่ยนไป ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมที่แข็งตัว รัฐไทยจะกำหนดการเจรจาฝ่ายเดียวด้วยสายตาหวาดระแวง จึงชะงักหยุดนิ่งไม่คืบหน้าและล้มเหลวอยู่เสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image