อาจารย์ 5 สถาบันรุมจวก เลือกตั้งเละเทะ สร้าง ‘ความชอบธรรมเทียม’ คุกคามนักกิจกรรม คนทำผิดลอยนวล

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช อาคารเอนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนา ‘จากรัฐบาลลายพรางสู่ประชาธิปไตยอำพราง : ที่มา ปัญหา และทางออก’  โดยในช่วงเช้าเป็นส่วนของ ‘ที่มา’ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร. ธนศักดิ์ สายจำปา อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ประเทศไทยติดหล่มความขัดแย้งมานาน หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา จะพากลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ยังไม่มีรัฐบาล แม้รู้แนวโน้มว่าจะเป็นใคร ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำ เพราะยังเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเหมือนเดิมซึ่งไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นอกจากนี้สังคมไทยยังมีความขัดแย้งที่แหลมคม แม้เคยคิดกันว่าการมีรัฐบาลปกติ น่าจะช่วยคลี่คลาย แต่กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด ในทางกลับกัน ได้เห็นความขัดแย้งที่ซึมลึกและขยายวงกว้างขึ้น มีความโกรธแค้น เกลียดชังสั่งสมมากขึ้น เห็นได้ชัดที่สุดจากการที่นักกิจกรรมถูกคุกคาม อย่างกรณีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ซึ่งมีการคุกคามที่เป็นแบบแผน  คนทำผิดยังลอยนวล รัฐก็เพิกเฉย แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือความสาแก่ใจ นี่คือสัญญาณที่น่ากังวลว่าสังคมไทยจะหลุดจากความขัดแย้งไปได้อย่างไร ยังไม่นับว่าเรากำลังกลายเป็นรัฐทหารไปเรื่อยๆ

รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่อะไรที่กลับหัวกลับหางไปหมด ไม่ตรงไปตรงมา  เป็นยุคที่น่าแปลกใจ การเลือกตั้งก็ประหลาดมาก อำนาจคสช. และมาตรา 44 ก็ยังอยู่  ส่วนตัวไม่คิดว่านี่คือประชาธิปไตยอำพราง แต่เป็นการ ‘แอ๊บประชาธิปไตย’ เพราะเรารู้ว่านี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เวลาจะพิจารณาปัญหาสังคมไทย ถ้ามองในเชิงที่กว้างขึ้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20-ต้น 21 ในวงการศึกษารัฐธรรมนูญ และการเมืองเปรียบเทียบ มีนักวิชาการเสนอว่ามีปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในโลก มีลักษณะคล้ายโรคชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายในหลายประเทศ คือ มีรัฐธรรมนูญแต่ปราศจากระบอบรัฐธรรมนูญนิยม

Advertisement

ถ้าสังเกตในหลายประเทศ จะพบการใช้อำนาจแบบดิบๆ โดยทหาร แต่หลายแห่งแปลี่ยนไปเป็นอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย กล่าวคือจากเดิม ทหารเป็นผู้ดำเนินการ แต่ในช่วงหลังมีความหลากหลายขึ้น คือ ไม่ใช่แค่ทหาร ทว่า มีองค์กรอื่นอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง จากรถถัง เปลี่ยนเป็นการใช้อำนาจเชิงสถาบัน โดยองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ดูเหมือนเป็นกลาง มีมาตรฐานวิชาชีพ เป็นความพยายามสร้าง ‘ความชอบธรรมเทียม’ ให้เกิดขึ้น ผ่านการวินิจฉัยขององค์กรต่างๆที่มีอำนาจ จึงนับเป็นความชอบธรรมที่ถูกสถาปนาโดยเครือข่ายอำนาจนิยม นี่คือสิ่งที่ไทยเผชิญอยู่ นั่นคือการทำงานของอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย ไม่ใช่ทหารดำเนินการอย่างเดียว

“จากรัฐประหารที่ผ่านมาหลายครั้ง จะเห็นว่าครั้งนี้เราได้ยิน คสช. พูดบ่อยครั้งว่า ให้ว่ากันไปตามกฎหมาย หรือ ทำตามกฎหมาย การพูดแบบนี้ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงในระบอบอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย  เขามีความเชื่อมั่นว่า การวินิจฉัยจะเป็นไปในทางเดียวกัน นี่คือสิ่งที่น่าสนใจศึกษาในอนาคต” รศ.สมชายกล่าว

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเมืองไทยขณะนี้ อยู่ในช่วง ‘การเปลี่ยนผ่านที่แสนยาวนาน’ เพราะยิ่งพิจารณาบริบทการเมืองไทย จะพบว่ามันพาเรากลับไปหลังปี 2500 เศษ ในรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว เราเห็นการประนีประนอมระหว่างพลังระบบราชการและฝ่ายการเมือง แต่ก็เห็นสภาพบางอย่าง คือการให้ สว. เลือกนายก มีสถานะเหนือสภาผู้แทนราษฎรในบางประเด็น  วุฒิสภาสามารถขโมยผลการเลือกตั้งได้  เป็นการข้ามท่ออำนาจของประชาชน ถามว่าแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยขนาดไหน แค่มีสิทธิ เลือกตั้ง 24 มีนาเท่านั้น

Advertisement

นอกจากนี้ เรายังเห็นความผิดปกติ อื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญผ 2560 กลัว ‘เสียงข้างมากธรรมดา’ คือ ใครได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสียงข้างมากธรรมดาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างชอบธรรมได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกลัวพรรคเสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีส.ส. บัญชีรายชื่อเลย  การเมืองไทยจะกลับไปสู่การเมืองแบบพรรคผสมที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ต้องไปเวียนกันกิน ย้อนไปนึกถึงยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณที่เป็นรัฐบาลแบบบุฟเฟต์ คาบิเนต

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนเลือกตั้งเราลุ้นว่าเสียงประชาชนจะได้รับการตอบสนอง เสียงประชาชนจะกำหนดทิศทางประเทศ  พยายามเน้นตลอดว่า กกต. สามารถทำหน้าที่สร้างปัจจัยให้สังคมที่ขัดแย้งมานานสามารถคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง ถ้ามีการเลือกตั้งที่โปร่งใส เที่ยงธรรม หากพลังพลังประชารัฐชนะใสๆ ด้วยกระบวนการใสสะอาด คิดว่าเรายอมรับได้  แต่เผอิญ กระบวนการขององค์กรดังกล่าวกลับทิ้งโอกาสในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางไปสู่สังคมเช่นนั้นในหลายกรณี เช่น การคำนวณ คณิตศาสตร์ โกงไม่ได้ ถ้าสามารถจับผิดเลขที่มาจากคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ไม่สามารถตะแบงได้ แต่สุดท้ายก็ถูกตะแบงไปในระดับหนึ่ง

เราไม่เคยบอกว่า กกต. โกง แต่บอกว่าคิดผิด ความแฟร์ไม่เกิด พรรคเล็กที่มีคะแนนทั้งประเทศไม่ถึง 70,000 เข้ามามาหมด ถามว่ามีคนเคยแย้ง กกต. ในเรื่องสูตรคำนวณหรือไม่ คำตอบคือ เคยมีมากมาย นักคณิตศาสต์ก็เอามาใส่ตาราง ทำสมการให้ดู แต่ทำไม กกต. ไม่ฟัง สื่อมวลชนคนหนึ่งเคยบอกว่าสงสัย กกต.คำนวนจากคำตอบเข้าไปหาสูตร ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะพอได้คำตอบกว่าสูตรจะออกใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ไฟล์ที่เคยถูกอัพโหลดในเวปไซต์กกต. ก็มีความผิดพลาดเยอะ

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

เสนาะ เจริญพร อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอำพราง แต่เป็นเผด็จการภาค 2 พยายามใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย แต่คนก็รู้ ก่อนการเลือกตั้ง ในช่วงหาสมาชิก มีการใช้เงินซื้อ ส.ส.ตามเกรด a b c ซื้อด้วยตำแหน่ง ให้พี่น้องหรือสามีภรรยาไปเป็นส.ว. ใช้อำนาจ ข่มขู่คุกคาม ใช้คดีความดึงส.ส. กรณีแรมโบ้อีสานชัดเจนที่สุด การหาเสียงผ่านการปราศรัยจ้างคนมาฟังโดยเฉลี่ยหัวละ 200 บาท สูงสุด 500 บาท มีการใช้หอประชุมซ้ำๆที่หอประชุมในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีสัมพันธ์อันดี ด้วยราคาถูกเพียง 2-3 หมื่นบาท ผู้ฟังไม่มีอารมณ์ร่วม บางแห่งจัดเก้าอี้ไว้ 4,700 ตัว แต่ประกาศว่ามา 18,000 คน การปราศรัยใหญ่ วันที่ 22 มี.ค. ที่สนามเทพหัสดิน จัดเก้าอี้ไว้ราว 9,000 พันตัว ประกาศว่ามีคนมา 10,000 คน ทั้งที่คนมาโหรงเหรง

ในช่วงหาเสียง ใช้ทหารจับตาหาเสียง ม.สวนสุนันทาบังคับนักศึกษาฟังพปชร. กรีดป้ายหาเสียง แจกเงินเดือนให้อสม. ทหารค้นบ้านผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ล้อมบ้านนายเสนาะเทียนทอง มีการแบ่งเขตเอื้อพวกพ้องต่อพรรคตัวเอง ใช้วิธีคนละเขตคนละเบอร์ ยืดเวลาเลือกตั้งถึง 5 โมงเย็น ถ้ามองโลกในแง่ดี คือ ทำเพื่อความสะดวกของผู้มาใช้สิทธิ แต่ส่วนตัวมองว่า ยิ่งเย็นก็ยิ่งมีพิรุธ

ในส่วนของการเลือกตั้ง ตั้งแต่เลือกตั้งล่วงหน้า หลายพื้นที่แน่นขนัด พอถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. หลายหน่วยไม่ติดประกาศใบ ส.ส.5/5 ซึ่งคือจำนวนบัตรเลือกตั้งที่รับมา ทำให้ง่ายมากต่อการโกงบัตรเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครรู้ว่าหน่วยนั้นมีบัตรเลือกตั้งกี่ใบตอนกลางคืนไม่ติดใบส.ส.5/18 ที่ต้องแสดงผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง เปิดแค่บางหน่วย ไม่ยอมเปิดเผยทั้ง 92,000 หน่วย เพราะถ้าเปิดออกมาทั้งหมดจบเห่แน่นอน

เสนาะ เจริญพร อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image