ภาคสังคมในประวัติศาสตร์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิทานประวัติศาสตร์ที่พร่ำสอนผ่านระบบการศึกษาและสื่อ ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่า การยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 เป็นการกระทำของคนหนุ่มนักเรียนนอกไม่เกิน 100 คน รวมทั้งทหารส่วนน้อยในกองทัพ

เป็นไปได้อย่างไรที่คนเพียงเท่านี้ และกำลังทหารส่วนน้อย (แม้แต่รวมกับที่อ้างว่าหลอกมาร่วมก็ยังเป็นส่วนน้อยอย่างยิ่งในกองทัพสยามขณะนั้น) จะสามารถยึดอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ โดยผู้นำของระบอบนั้นเกือบทั้งหมดเลือกที่จะประนีประนอม แทนที่จะต่อสู้ปราบปราม ซึ่งคงทำได้ง่ายเพียงลัดนิ้วมือเดียว ถ้าตั้งใจจะทำ

สิ่งที่ไม่ค่อยพูดกันในนิทานประวัติศาสตร์ก็คือ นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ปลาย ร.5) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเริ่มอ่อนกำลังลงโดยลำดับ สาเหตุมาจากการที่ระบอบนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้พยายามควบคุมความเปลี่ยนแปลงนี้มิให้ส่งผล
กระทบต่อโครงสร้างอำนาจ แต่ก็เกิดความเปลี่ยน แปลงที่อยู่นอกการควบคุมมากขึ้นทุกทีจนได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมใดๆ ก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นก็มักเกิด “ปฏิพากย์” (หรือ contradiction วาทกรรมหรือเรื่องราวที่แย้งกับเจตนารมณ์ของความเปลี่ยนแปลง) ขึ้นเองอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้

อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างดีเยี่ยมในหนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism (แปลเป็นภาษาไทยแล้ว) ยกตัวอย่างให้ดูเพียงเรื่องเดียว

Advertisement

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามพยายามส่งเสริมการศึกษาแผนใหม่ อันเป็นธรรมดาของรัฐสมัยใหม่
ทั่วไป แม้จุดมุ่งหมายในระยะแรกต้องการสร้างข้าราชการแบบใหม่ขึ้นจากกลุ่มเชื้อสายขุนนางและ
เจ้านาย แต่เมื่อเปิดโรงเรียนขึ้น กลุ่มเด็กในเป้าหมายกลับสมัครเข้าเรียนน้อย จำเป็นต้องเปิดรับทั่วไป ดังนั้นนับวัน “ลูกเจ๊ก”, พ่อค้า, ชาวนารวย, และข้าราชการระดับเสมียนกลับเข้าเรียนมากกว่ามาก
แม้พยายามกีดกันโดยขึ้นค่าเล่าเรียน ครอบครัวของคนเหล่านี้ก็ยังกัดฟันส่งบุตรหลานเข้าเรียนอยู่เหมือนเดิม

ผลก็คือเกิดคนชั้นกลางเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่พอสมควรในกรุงเทพฯ (และน่าจะในเขตเมืองที่ใกล้กรุงเทพฯ ด้วย ลองคิดถึงประวัติของท่านบิดาของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น) แบบแผนการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหวังของ “นักปฏิรูป” ในระบอสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่าไรนัก ส่วนหนึ่งที่เข้ารับราชการอันเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่สุดในสมัยนั้น ก็ไม่เห็นด้วยว่าตำแหน่งและผลตอบแทนของระบบราชการควรเป็นสิทธิโดยกำเนิด แต่ควรเป็นสิทธิที่ได้จากความสามารถจริง แต่ระบบราชการสมัยนั้นก็ไม่อาจตอบสนองมาตรฐานใหม่เช่นนี้ได้ อีกส่วนหนึ่งของคนชั้นกลางอยู่ในอาชีพนอกอำนาจรัฐ มากบ้างน้อยบ้าง เพราะเจ้าของกิจการเอกชนจำนวนมากซึ่งเป็นจีนหรือเชื้อสายจีน ต่างไปขึ้นทะเบียนเป็น “ข้าราษฎร” (subject) ของมหาอำนาจตะวันตก

วิถีดำเนินชีวิตของคนเหล่านี้ยิ่ง “แปลกหน้า” กับชนชั้นสูงและวัฒนธรรมที่ชนชั้นสูงยกย่องหวงแหน เราได้ยินเรื่องความแพร่หลายอย่างยิ่งของการแสดง “ลิเก” ซึ่งเป็นที่ดูแคลนของ “ผู้ดี” ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายที่เปิดเผยและใกล้ชิดกันมากขึ้น อันเป็นความสัมพันธ์ที่ชนชั้นสูงรับไม่ได้ การใช้ชีวิตยาม
ราตรีของผู้ชายชั้นกลางซึ่งถูกตำหนิในพระราชนิพนธ์ ร.6

ที่บั่นรอนวัฒนธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเสียยิ่งกว่าลิเก คือภาพยนตร์, หนังสือพิมพ์, และภาพถ่าย สื่อเหล่านี้นำเอาความฝันใหม่ ความทะเยอทะยานใหม่ ความสัมพันธ์ใหม่ และความอึดอัดใหม่มาสู่ผู้คน

Scot Barme ศึกษาไว้อย่างดีใน Woman, Man, Bangkok ผู้หญิงที่ได้เรียนหนังสือแสดงความไม่พอใจในความสัมพันธ์กับสามีตามประเพณี การมีเมียน้อยของ “ผู้ดี” ไทยเป็นสิ่งที่ถูกผู้หญิงกลุ่มนี้โจมตีมากที่สุด จนในที่สุดก็เรียกร้องสิทธิสตรีหลายเรื่อง เช่น สิทธิในการเป็นนักศึกษาวิชากฏหมายซึ่งหวงไว้ให้แก่บุรุษเพียงฝ่ายเดียวเป็นต้น (ขอให้สังเกตว่า คณะราษฎรเปิดการเลือกตั้งเสรีแก่ผู้หญิงตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก ไม่ใช่เพราะเป็น “นักเรียนนอก” แต่เพราะมีฐานการเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของสตรีมาก่อนอภิวัฒน์แล้ว เช่นเดียวกับการเปิดให้ผู้หญิงได้เรียนในโรงเรียนกฎหมายเป็นครั้งแรก)

หนังสือพิมพ์ (ซึ่งเจ้าของหลายฉบับถือหนังสือแสดงความเป็น “ข้าราษฎร” ของมหาอำนาจ) ลงบทความหรือรูปการ์ตูนที่แสดงความอึดอัดใหม่ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เกือบสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับคนชั้นกลางในปัจจุบัน ซึ่งแม้เป็นลูกค้าหลักของธุรกิจโสเภณี แต่พวกเขากลับบ่นว่าความเสื่อม
โทรมของกรุงเทพฯ ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า เต็มไปด้วยโสเภณี อันแสดงถึงความเสื่อมโทรมอย่างหนักของบ้านเมือง

หนังสือพิมพ์ซึ่งไม่ได้มุ่งตลาดสังคมหรือการเมืองเช่น ภาพยนตร์สยามลงบทความตอนหนึ่งว่า “… มีคนบางคนซึ่งอยู่ในวัยที่ไม่ต่างจากข้าพเจ้ากลับได้ตำแหน่งเจ้าพระยา คนเหล่านั้นมีชีวิตสะดวกสบายอย่างที่เรานึกไปไม่ถึง มีทาสคอยรับใช้ทั้งหญิงและชาย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะพบคนที่มีเสื้อผ้าติดตัวอยู่ชิ้นเดียว มีชีวิตอยู่อย่างขัดสนจำต้องขอทานเลี้ยงชีพ… ดังนั้นเมื่อมีบางคนโชคดีพอที่จะเลี้ยงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือ ก็อย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวปรามาสเขา ควรปล่อยให้เขาได้ทำในสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด” (แปลจากภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ต้นฉบับไทย)

ข้อความตอนท้าย ต้องการตอบโต้ความเห็นของเหล่า”ผู้ดี”ที่เห็นว่า นิยายและบทแปลภาพยนตร์ฝรั่งซึ่งเข้ามาฉายในกรุงเทพฯ นั้น หากนับเป็นศิลปะ ก็เป็นศิลปะชั้นแปด (คือต่ำสุด) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นความอึดอัดที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่ไม่ยุติธรรมในสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามอย่างชัดเจนอยู่ด้วย (ยังไม่พูดถึงความเจ็บช้ำที่ถูกดูแคลนอย่างอยุติธรรม)

ประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่มาจากกำเนิด และความไม่ไยดีของผู้ปกครองต่อความเสื่อมโทรมในทุกด้านของบ้านเมืองนั้น มีให้เห็นอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ การ์ตูนในสยามราษฎร์ใน ค.ศ.1923 แสดงภาพ “ผู้ดี” ในชุดผ้าม่วงอุ้มลูกหลานเต็มไปหมดทั้งตัว มีบ่าวไพร่แลบลิ้นเลียแข้งขาและรองเท้า พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า “ลูกหลานว่านเครือของท่าน” (ซึ่งแสดงภาระอันหนักแค่ไหนที่สังคมต้องแบกรับคนเหล่านี้) การ์ตูนในหนังสือพิมพ์เดียวกันนี้อีกภาพหนึ่ง แสดงคนใหญ่คนโตคนหนึ่งในชุดขาวปกติของราชการ หิ้วถุงเงินใหญ่ชูขึ้น พร้อมทั้งเงินในกระเป๋าเสื้ออีกเต็มล้น พร้อมทั้งกล่าวว่า “เย็นใจเสียก็ได้” เพื่อจะบอกว่าผู้ปกครองไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของราษฎร เพราะตนเองสุขสบายล้นเหลืออยู่แล้ว

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีกำเนิดสูงต่ำต่างกันในกรุงเทพฯ เขม็งเกลียวเครียดขึ้นตลอดมา โดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้เต็มอกว่าใครคือปฏิปักษ์ของตน

นักเล่านิทานประวัติศาสตร์อาจท้วงว่า แต่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และเขตเมืองในขณะนั้นมีสัดส่วนเพียงหยิบมือเดียวของประชากรไทย พวกเขาจึงมีความสำคัญทางการเมืองไม่มากนัก

จริงที่สัดส่วนของคนชั้นกลางในขณะนั้นมีเพียงหยิบมือเดียว แต่อิทธิพลทางการเมืองของคนชั้นกลางในทุกสังคมที่มีคนชั้นกลางจำนวนน้อย ไม่ได้มีต่อการเมืองโดยตรง หากมีต่อ “วัฒนธรรม” หรือความใฝ่ฝัน, เป้าหมายในชีวิต, มาตรฐานการครองชีพที่ควรฝันถึง, อะไรคือความยุติธรรม, ฯลฯ ซึ่งเป็นรากฐานที่ขาดไม่ได้ของความคิดทางการเมืองของคนทั่วไป เพราะคนชั้นกลางมีบทบาทสูงในระบบการศึกษาและในสื่อ

คนชั้นกลางไทย ทั้งที่มีทรัพย์พอจะลงทุนและพอมีทักษะที่ใช้ขายแก่ธุรกิจได้ เป็นกลุ่มคนที่เข้าไป
พัวพันกับการขยายตัวของสื่อมวลชนแบบใหม่อย่างมาก ทั้งหนังสือพิมพ์, ภาพยนตร์, ภาพถ่าย, นวนิยาย, การแสดงแบบใหม่ (เช่นละครพูด-ละครเวที), ลิเก, ลำตัด, ฯลฯ อย่าลืมว่าจำนวนคนชั้นกลางซึ่งมีอยู่นิดเดียวในกรุงเทพฯ สามารถเลี้ยงหนังสือพิมพ์, นิตยสาร, โรงหนัง, โรงละคร, โรงลิเก, นวนิยาย, ฯลฯ ได้จำนวนมากเกินกว่าสัดส่วนของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นอิทธิพลทางความคิดของคนชั้นกลางว่าแพร่หลายไปในหมู่คนในกลุ่มอื่นกว้างขวางเพียงไร

ถ่ายเทเอาความอึดอัดต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปในหมู่คนกว้างขวางกว่า “นักเรียนนอก 100 คน” อย่างไพศาล

ไม่มีการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จที่ไหนในโลกที่ปราศจากมวลชนหนุนหลัง มวลชนจะมีจำนวนมากหรือน้อยอาจแตกต่างกัน แต่คนที่หนุนหลังต้องมีจำนวนและความสำคัญมากพอที่จะทำให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ

ผู้ที่ตกลงเลือกเชิญวิลเลียมและแมรีขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษใน ค.ศ.1688 ไม่ได้มีแต่ ส.ส.ในสภาเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าที่ดิน (Gentry) อีกจำนวนมากที่เกรงว่า หากไม่จำกัดพระราชอำนาจไว้ พวกตนอาจต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติที่สู้สะสมมาหลายชั่วอายุคนลงได้ “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ของอังกฤษจึงผ่านพ้นไปได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเลย

ปฏิวัติฝรั่งเศส, ปฏิวัติอเมริกัน, ปฏิวัติชาตินิยมจีนและปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน, ปฏิวัติบอลเชวิค, ปฏิวัติเวียดนาม, ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องของผู้นำเพียง 100 หรือ 1,000 คน แต่มีคนอีกมากที่มีเหตุให้ไม่พอใจระบอบเก่า ให้ความร่วมมือหรืออย่างน้อยก็เชียร์โดยไม่ขัดขวางอีกจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรก็เช่นเดียวกัน ทหารอีกไม่น้อยในกองทัพซึ่งไม่ได้ร่วมยึดอำนาจกับคณะราษฎร แต่ก็คล้อยตามกับการยกเลิกระบอบเก่า ที่กีดกันมิให้สามัญชนไร้เส้นก้าวหน้าเกินระดับพันเอก ประชาชนทั้งระดับคนชั้นกลางไปจนถึงแรงงานและคนจนเมืองอีกไม่น้อย ยินดีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเสียที แม้อาจไม่รู้อนาคตของตนอย่างแน่นอน แต่ก็หลาบกลัวกับปัจจุบันของตนจนพร้อมจะเสี่ยงกับอะไรก็ได้

และนี่คือเหตุผลหลักที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งหลาย ประเมินได้ถูกต้องว่า การต่อต้านด้วยกำลังทหารที่มีในมือ อาจไม่นำไปสู่การขจัดคณะราษฎรให้สิ้นซากก็ได้ และอาจเป็นผลร้ายแก่ตนมากกว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าทหารหน่วยไหนยังจงรักภักดีต่อระบอบเก่าอยู่ เมื่อมีทางเลือกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิต ถึงผู้ที่คุมกำลังทั้งหมดของกองทัพเป็น
เจ้านายหรือขุนนางที่ได้รับความไว้วางใจ แต่คนเหล่านั้นก็เป็นเพียงหัวเดียวกระเทียมลีบ หากกองกำลังเลือกที่จะไม่เชื่อฟังคำสั่ง

การสำนึกบุญคุณของวีรชนคณะราษฎรที่ทำให้แก่บ้านเมืองก็สมควรอยู่ แต่ไม่ควรทำให้มีความหมายเพียงคนร้อยคนเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ คนร้อยคนเหล่านั้นสร้างวีรกรรมขึ้นในเงื่อนไขซึ่งมีมวลชนเอื้อให้ท่านประสบความสำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image