นิวส์รูมวิเคราะห์ : 5 ปี ‘รัฐบาลคสช.’ งบช็อปอาวุธอื้อ

นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ “รัฐบาลทหาร หรือ รัฐบาล คสช.” เข้ามาบริหารประเทศ  งบประมาณของกระทรวงกลาโหมก็เพิ่มมากขึ้น งบประมาณส่วนหนึ่งได้ถูกแปรสภาพนำไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของเหล่าทัพ  ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท  ถึงแม้กองทัพจะอ้างอิงหลักของการจัดซื้ออาวุธ เพื่อเป็นการเสริมสร้างเขี้ยวเล็บกองทัพ หลักประกันให้กับประเทศชาติและประชาชนแล้ว เป็นไปตามแผนการเสริมสร้าง เพื่อคงไว้ถึงแสนยานุภาพของกองทัพ และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่างก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็คงต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วยเช่นกัน

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หากประเทศเกิดภาวะสงครามกับเพื่อนบ้านหรือถูกรุกราน (ตามทฤษฎี ความมั่นคง) ถ้ากองทัพไม่มีการซ่อมบำรุงหรือการจัดซื้ออาวุธให้ใหม่ทันสมัย ถึงมีเงินตอนนั้นก็ซื้ออาวุธ ณ เดี๋ยวนั้นเลยไม่ได้ ดังนั้น กองทัพจึงต้องมีแผนบริหารการจัดการและรอบในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทดแทนรองรับภัยการคุกคามรูปแบบใหม่ ร่วมถึงหากมีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวบริเวณชายแดน   การจัดซื้อตั้งแต่ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ หรือเรือดำน้ำ  ที่กำลังจะทยอยเข้าประจำการในกองทัพบก(ทบ.) กองทัพเรือ(ทร.) และกองทัพอากาศ(ทอ.)  แม้จะถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมจากสังคมก็ตาม

ตลอด 5 ปี ของรัฐบาล คสช.มีการทุ่มงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่เปลี่ยนจากค่ายสหรัฐฯ หรือยุโรป มาเป็นเอเชีย ที่หมายถึงประเทศจีน ทั้งโครงการจัดซื้อรถถัง วีที – 4 จำนวน 49 คัน วงเงินงบประมาณเกือบ 9,000 ล้านบาท ตามที่ ทบ.เสนอจัดซื้อด้วยงบประมาณผูกพัน 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี’59  ระยะแรกวงเงิน 4,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ปี’60 ทบ.ยังจัดซื้อรถเกราะล้อยางรุ่น วีเอ็น – 1 จำนวน 34 คัน วงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท โดยนำยานเกราะเหล่านี้ไปบรรจุไว้ที่กองทัพภาคที่ 3 เพื่อดูแลพื้นที่ชายแดน 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อมา ประมาณกลาง ปี’61  ครม.ได้อนุมัติการจัดซื้อรถถัง VT-4 ระยะที่ 2 จำนวน 14 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท และ อนุมัติการจัดซื้อ VN1 ระยะที่ 2 จำนน 34 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท ตามความต้องการ ทบ. แบบเงียบๆ

Advertisement

ส่วน ทร. โครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ คือการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น หยวน คราส เอส 26 ที จำนวน 1 ลำ ตามวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท หลังจากที่ ทร.รอคอยมาไม่ต่ำกว่า 70 ปี ด้วยงบผูกพัน 7 ปี และกองทัพเรือมีความต้องการอีก 2 ลำ เพื่อให้ครบตามยุทธศาสตร์การรบทางทะเล  ส่วนงบประมาณปี’63 ต้องจับตา ทร.จะดันโครงการเรือดำน้ำ หยวน คราส เอส 26 ที ลำที่ 2 งบประมาณ 13,500 ล้านบาท หรือไม่  แต่ไม่ช้าก็เร็วอย่างไร ทร.ต้องจัดซื้ออีก 2 ลำเพื่อให้ครบตามแผน

ขณะที่ ทอ. จัดซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงรุ่น ที – 50 ทีเอช จากเกาหลีใต้ ระยะที่สอง จำนวน 8 ลำ เกือบ 9 พันล้านบาท หลังจากที่ระยะแรกจัดซื้อ 4 ลำ 3,750 ล้านบาท  และเตรียมจัดซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ ตามโครงการระยะที่ 3 อีก 4 ลำ ตามวงเงินงบประมาณ 3,750 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของกองทัพอากาศที่จะจัดซื้อให้ครบ 16 ลำ หรือ 1 ฝูงบิน

 

ล่าสุด กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา  รัฐบาล คสช.  ทำหน้าที่รักษาการได้อนุมัติการจัดซื้อ  VT-4  รถถังจีนระยะที่ 3 จำนวน 14 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท และกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  อนุมัติจัดซื้อ VN1 ระยะที่ 3 จำนวน 39  คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท  โดยมี พล.อ.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ผช.ผบ.ทบ. เป็นผู้แทนกองทัพบก และผู้แทนของรัฐบาลไทยบินไปเซ็นสัญญาที่ประเทศจีน

ทำให้โครงการ รถถัง VT-4  และรถยานเกราะ VN 1เสร็จสมบูรณ์จัดซื้อครบทั้งกองพันรถถังและกองพันรถยานเกราะ  ปิดฉากส่งท้ายรัฐบาล คสช….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image