รายงานหน้า2 : นักวิชาการ-ภาคเอกชน วิพากษ์โฉม‘ครม.ใหม่’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการและภาคเอกชนถึงโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ถ้าคะแนนเต็ม 10 หน้าตา ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ 5 คะแนน นี่คือราคาขาดตัว ถ้าตัดเกรดให้เกรดซีไปก่อน เพราะยังเห็นแค่หน้า แต่ยังไม่เห็นผลงาน ก่อนหน้านี้ผ่าน 18 อรหันต์กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ เมื่อเสียงคุณปริ่มน้ำ ก็ขอให้คะแนนปริ่มน้ำ ซึ่งอนาคตมีสิทธิสอบตกในช่วงไฟนัลก็เป็นได้
สำหรับภารกิจแรกที่จะสามารถทำให้การเมืองเดินไปได้ และเป็นพันธะของรัฐบาลคือต้องผลักดันนโยบายทั้งหมดที่หาเสียงไว้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด ก่อนหน้านี้เราไปชุลมุนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล การแบ่งสรรปันส่วน ทำให้ประชาชนในฐานะของผู้เลือก ไม่ได้อะไรเลย แต่หลังจากที่คุณได้เป็นรัฐบาลแล้ว นโยบายต่างๆ ที่ไปหาเสียงอยู่ ณ ตอนนั้น จะสามารถจัดการหรือผลักดันให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้หรือเปล่า ทั้งในเรื่องกัญชา และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประเด็นขับเคลื่อนในการคงอยู่ของรัฐบาลไปด้วย เพราะนโยบายต่างๆ นั้น จุดร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลบางนโยบายยังไม่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญคือความพยายามที่จะผลักดันที่จะทำให้การเมืองไทยหลุดออกจากความขัดแย้งในหลายเรื่อง แม้ไม่ได้เป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมือง แต่เป็นสิ่งที่หนึ่งที่เราทุกคนกำลังมองกันว่า ปัจจุบัน กระบวนการขับเคลื่อนของการเมืองไทยติดอยู่เฉพาะส่วนกลางเท่านั้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไปจะต้องพิจารณาในแง่ของการประสานการทำงานต่างๆ รัฐบาลต้องไม่ผลิตซ้ำความขัดแย้ง และความเกลียดชังต่างๆ ออกมา รัฐบาลจะต้องควบคุมเรื่องราวเหล่านี้ให้ได้ นอกจากนี้ ในแง่ของการปรับปรุงระบบกฎเกณฑ์สถาบันการเมือง หลังรัฐธรรมนูญ 60 ประกาศออกไป อย่างน้อย 1-2 ปี สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเป็นแม่งานด้วยคือรวบรวมปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ต้องเป็นภารกิจแฝงของรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่นานหรือไม่
ถามว่ากระทรวงไหนเป็นจุดอ่อนที่สุด พิจารณาได้จากการที่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องโควต้ามากที่สุด ตอนที่มีการต่อรองด้านการเมือง สมมุติว่าตอนนี้คุณเป็นรัฐบาลแล้ว และต้องผลักดันนโยบาย กระทรวงไหนที่ความสอดคล้องของนโยบายพรรคการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่สอดคล้องกัน ตรงนั้นจะเป็นจุดอ่อน ถ้ามองควบคู่กันทั้งในแง่ปัญหาสัดส่วนรัฐบาลและนโยบาย ส่วนตัวมองไปที่กระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็น 2 กระทรวงที่กำลังจะก่อให้เกิดปัญหาในเชิงนโยบาย การนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ เช่น กรณีกระแสการมาแรงของกัญชาเสรี ส่วนเรื่องกระทรวงเกรดเอ เป็นปัญหาทางการเมือง

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Advertisement

ถ้าดูตามโผล่าสุด คิดว่าให้คะแนนเต็มที่ไม่เกิน 5 เต็ม 10 ไม่สามารถให้เกินกว่านี้ได้เพราะว่ารัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยเห็นผลงานกันมาแล้วก่อนหน้านี้ ถึงความสามารถ ประสบการณ์ ส่วนรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่ผสมรวมกัน สังคมก็รู้สึกว่าความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นยังมีปัญหาพอสมควร ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นกลุ่มคนซึ่งไม่มีอะไรสร้างความเซอร์ไพรส์ สร้างความคาดหวังใหม่ๆ ให้กับประชาชนได้ เป็นการทำลายสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดว่าจะสร้างการเมืองใหม่ แต่สุดท้ายภาพออกมาตรงกันข้าม ส่วนกระทรวงที่อ่อนสุดนั้น ต้องบอกว่า ไม่เห็นความโดดเด่นของกระทรวงไหนเลยมากกว่า เมื่อประเมินแล้วพูดยาก เพราะไม่เห็นความโดดเด่น ทุกกระทรวงอยู่ในระดับที่เท่าๆ กัน
เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดอยู่มาก ยากพอสมควร นอกจากรัฐบาลเป็นโต้โผในการแก้ แล้วไปลงตัวกับข้อเสนอของฝ่ายค้านจึงค่อยมีความเป็นไปได้ในการดำเนินต่อไป ประการต่อมา คิดว่ารัฐบาลต้องมีมาตรฐานในการทำงานสูงมากโดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การปราศจาก
คอร์รัปชั่น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยเป็นเกราะคุ้มกันรัฐบาลได้มาก ต้องทำงานไว สนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่จะช่วยประคับประคองรัฐบาลไปได้
ส่วนของปัญหาเศรษฐกิจ คิดว่าในระยะ 1-2 ปีนี้ คงทำให้ดีขึ้นยากมาก การจัดตั้งรัฐบาล สร้างได้เพียงภาพลักษณ์เท่านั้น แต่การกระตุ้น
เศรษฐกิจในระยะเวลาอันใกล้เป็นเรื่องยาก นอกเสียจากรัฐบาลอาจต้องไปส่งเสริมให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนธุรกิจชุมชน กล่าวคือ ท้องถิ่นมีงบประมาณเยอะ แต่มีข้อจำกัดในการใช้เงินใช้ทองในการกระตุ้นในระดับรากหญ้า ถ้ารัฐบาลแก้กฎหมาย เพื่อทำให้ท้องถิ่นกระตุ้นตรงนี้ได้ อาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง

 

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง

การที่จะสรุปว่าใครอยู่กระทรวงไหนแล้วดีหรือไม่ดีมองว่ายังเร็วเกินไปเพราะตอนนี้ทุกอย่างถูกดีไซน์ให้เป็นแบบนี้ มากไปกว่านี้ก็ไม่ได้ จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกพรรคการเมืองตามใจชอบก็ไม่ได้ ซึ่งทางภาคเอกชนตอนนี้ต้องการได้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาก่อน ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ได้ทำงานก่อน แล้วค่อยมาติกัน ถ้าเกิดพบว่ามีการคอร์รัปชั่น หรือผลงานไม่คืบหน้าค่อยมาว่ากันอีกที แต่ดูจากรายชื่อ ครม.ชุดนี้ก็ถือว่าเป็นภาพรวมที่ดี
ในสภาพบังคับแบบนี้ รายชื่อที่ประชาชนทุกคนได้เห็นในขณะนี้ถือว่าดีที่สุดแล้ว ที่ว่าดีที่สุด เพราะก็เลือกเต็มที่ที่สุดก็เท่านี้ อีกอย่างมันไม่ได้เป็นไปตามที่พรรคการเมืองต้องการทั้งหมด ขณะเดียวกันนายกฯก็ไม่สามารถเลือกคนที่ตนเองอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลร่วมกันไม่ได้ทั้งหมด จึงต้องเป็นรัฐบาลที่มีการผสมแต่ละพรรคกันไปซึ่งมีวิธีเดียวที่จะรู้ว่าจะไปรอดหรือไม่คือให้ลองทำงานจริง เพราะมีโจทย์เยอะและท้าทาย คนที่ถูกเพ่งเล็งว่าจะทำงานไม่ได้ ก็ต้องระวังตัวและสร้างผลงานให้ดีเพื่อคะแนนเสียงของตนเอง อย่างที่บอกไปขอให้ดูผลงานสัก 3-6 เดือนก่อน ค่อยมาวัดกันว่าใครเป็นจุดอ่อนและสมควร
ได้คะแนนเท่าไหร่
ตอนนี้ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็วเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่มีปัญหาหลายด้านในขณะนี้ ประการสำคัญคือให้ดูตอนที่แต่ละคนอยากได้เก้าอี้ตัวไหน ควรนำนโยบายของพรรคที่มาหาเสียงมาเรียงต่อกันแล้วทำการประชุมร่วมกันแล้วก็ดูว่าขอใครดี มองว่าควรทำงานในลักษณะแบบนั้น การที่เข้าไปขอตำแหน่งเพื่อทำนโนบายให้สำเร็จนั้น จะใช้หรือไม่ใช่ก็วัดกันที่ตรงนี้ แต่มันเลยเวลาที่จะใช้วิธีนั้นไปแล้ว การที่ประชาชนจะชื่นใจคือนำรายชื่อของพรรคทั้ง 19 พรรค นำนโยบายที่ใช้เพื่อหาเสียงมาเรียงกัน อะไรที่ดีหรือสอดคล้องกันให้มอบเก้าอี้กระทรวงให้กับคนนั้น ถ้าทำได้แบบนั้นประชาชนรวมถึงผมชื่นใจแน่นอน แต่ดันเปิดโอกาสให้มีการต่อรอง จึงมีทางเดียวที่ต้องทำต่อจากนี้คือร้อยเรียงนโยบายต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนและดูว่าตรงจุดหรือไม่
ปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขคือเรื่องประชาชนฐานราก รัฐจะช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ที่ไม่ใช่นโยบายแจกเงินเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วันๆ ต้องมานั่งฟังข่าวลือว่ารัฐจะแจกเงินเพิ่มอีก แล้วประชาชนก็แห่ไปรอที่ธนาคารอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ และต้องหาวิธีจัดการกับข่าวปลอมที่มีผลต่อความเชื่อของประชาชนด้วย มองว่านโยบายแจกเงินสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ชั่วคราว แต่ช่วยเหลือในระยะยาวไม่ได้ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เงินในกระเป๋าของประชาชนฐานรากมีมากขึ้น แต่ไม่ใช่เอาเงินไปแจกมองว่าแค่นโยบายเดิมก็เพียงพอแล้ว
มองว่าควรหานโยบายที่ช่วยในเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนมีรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปปรับขึ้นราคาสินค้า เช่น ที่สั่งให้ห้างสรรพสินค้าขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดเพื่อตรึงราคา มันเป็นการสร้างสถานการณ์เพียงชั่วคราว มองว่าไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ถึงเวลาที่ต้องนำนโยบายมารวมกันแล้วดูว่าของใครดีเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทุกฝ่ายอยากเห็นการทำงานในลักษณะนี้จะได้ผลหรือไม่ต้องติดตามกันต่อไป และต้องเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดและการคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากสังคมไทย รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจเรื่องการส่งออกที่ต้องรีบเข้ามาแก้ไข หมดเวลาตีกันแล้ว เราในฐานะผู้ดูจะต้องคอยเฝ้า และภาคเอกชนต้องให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลแต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีข้อเสนอแนะแต่อย่างใด แต่แสดงความต้องการว่าอย่างให้มีรัฐบาลไว้เพื่อเข้ามาปฏิบัติงานทันที
“มองว่าหมดเวลารำมวย หรือฮันนีมูนแล้ว การที่ใช้เวลาในการ เตรียมตัวในการทำงาน 90 วัน ไม่จำเป็นอีกต่อไป ควรเร่งให้มีการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image