การแต่งกายของส.ส. เคยเป็นเงื่อนไขรัฐประหารมาแล้ว อ้างผู้แทนฯใส่เชิ้ตลอยชาย ไม่เรียบร้อย จี้นายกฯ ออก

การแต่งกายของส.ส เป็นประเด็นร้อนในเวลานี้ จะลงตัวกันตรงไหน ต้องรอฟังการประชุมสภาฯสัปดาห์นี้ จะมีการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งจะเปิดให้อภิปรายเรื่องของการแต่งกายด้วย

ตามหลักแล้ว การแต่งกายของ ส.ส. ควรให้เป็นอิสระและเป็นวิจารณญาณของส.ส.เอง ในฐานะบุคคลสาธารณะ หากเหมาะสมไม่เหมาะสมอย่างไร ก็จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ แล้วไปปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ส.ส.บางคน มาจากพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ก็ควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกถึงวัฒนธรรมที่ตนเองเป็นตัวแทน

สังคมไทยมีความหลากหลาย สภาซึ่งเป็นตัวแทนคนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ก็น่าจะสะท้อนความหลากหลายนั้นออกมาด้วยในมิติต่างๆ ทั้งภาษา การแต่งกายและแนวคิดต่างๆ

ในแง่หนึ่ง การแต่งกายก็เป็นเรื่องการเมือง ในอดีตเคยมีการยึดอำนาจ หรือรัฐประหารเงียบ โดยอ้างเหตุจากการแต่งตัวของส.ส.มาแล้ว

Advertisement

เมื่อปี 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ (ต่อมายศเป็นจอมพล) กับคณะทหาร ทำรัฐประหาร ล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

จากนั้นสนับสนุน นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลและจัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ในตอนต้นปี 2491

เลือกตั้งครั้งนั้น นายควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่บริหารงานได้ระยะหนึ่ง คณะรัฐ ประหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ ส่งนายทหารสี่นาย มี พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท พ.อ.ศิลป ศิลปศรชัย พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ และ พ.ท.ละม้าย อุทยานนท์ ไปยื่นคำขาด หรือเรียกว่า “จี้” ให้นายควง ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

Advertisement

นายควงยอมลาออกในวันที่ 8 เมษายน ปีเดียวกัน คณะทหารยกเลิกสภาฯ แล้วให้ จอมพลป.พิบูลสงคราม มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาภายหลัง จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้เขียนเล่าไว้ดังนี้

“ครั้นรัฐบาลของ นายควง อภัยวงศ์ บริหารราชการแผ่นดินไปได้ 5 เดือนเศษ คณะรัฐประหารได้ประชุมกันพิจารณาว่ากิจการต่าง ๆ ไม่ก้าวหน้า ข้าราชการพลเรือนขาดวินัย ไปทำงานตามกระทรวง มีแต่สวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงตัวเดียว ตลอดจนผู้แทนราษฎรบางคนนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อเชิ้ตปล่อยชายเสื้ออยู่ข้าง นอกกางเกง เข้านั่งประชุมในสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐประหารจึงขอร้องให้ นายควง อภัยวงศ์ออกจากนายกรัฐมนตรี”

นั่นคือ รัฐประหารเงียบ ที่วิจารณ์กันว่า งัดเอาเรื่องการแต่งกายของส.ส. เพียงแค่นุ่งกางเกงขายาว สวมเชิ้ตปล่อยชายเสื้อ มาเป็นเหตุยึดอำนาจ และยกเลิกสภาฯ

ในห้วงเวลาที่เกิดการยึดอำนาจดังกล่าว โลกและประเทศไทย เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของทุกประเทศเสียหาย เกิดความขาดแคลนไปทั่ว รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การแต่งกายของส.ส. จึงสะท้อนภาพของบ้านเมืองในขณะนั้น

ส่วนการแต่งกายของส.ส.ไทย จะต้องเป็นไปตามแบบแผนใด ต้องติดตามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image