‘เรืองไกร’ จี้ บิ๊กตู่ ใช้ม.44 ขวาง ‘อุตตม’ นั่งรมต. ชี้ไม่เหมาะ เอี่ยวคดีปล่อยกู้กรุงไทย

“เรืองไกร” จี้ “บิ๊กตู่” ใช้ม.44 ขวาง “อุตตม” นั่งรัฐมนตรี ชี้ ไม่มีความเหมาะสม ปมเอี่ยวคดีปล่อยกู้กรุงไทย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 กรกฎาคม ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อทักท้วงกรณีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่มีกระแสข่าวจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ามีความไม่เหมาะสม โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า ในสมัยที่นายอุตตมเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ได้มีส่วนในการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร ซึ่งแม้นายอุตตมจะชี้แจงว่าเขาไม่ผิด แต่การพิจารณาเรื่องนี้ว่าถูกหรือผิดหรือไม่นั้น ควรพิจารณาจากพยานหลักฐานและคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก โดยในคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า “นอกจากคณะกรรมการบริหาร จะมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2532 และคำสั่งธนาคารกรุงไทย ที่ ร.222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อ ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ข้อ 3.1.3 ข้อย่อย 2 ก. แล้ว คณะกรรมการบริหารยังมีเจตนาช่วยเหลือ ให้จำเลยที่ 19 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวนถึง 9,900,000,000 บาท โดยมิได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย” ฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องมีความชื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จึงต้องพิจารณาว่านายอุตตมมีความเหมาะสมหรือไม่ ประกอบกับคสช.เคยใช้มาตรา 44 ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีเช่นนี้หลายครั้ง จึงควรนำมาพิจารณาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เจตนาของการยื่นหนังสือครั้งนี้คืออะไร ในเมื่อคณะกรรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ไม่ชี้มูลว่านายอุตตมมีความผิด และมีมติตีตกข้อกล่าวหาไปแล้ว นายเรืองไกรกล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 2549 คตส.ได้ใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งคำกล่าวหาที่ตีตกนั้น ไม่ใช่คำสั่งชี้ขาดทางคดี การไม่สั่งฟ้อง ศาลจึงลงโทษไม่ได้ แต่เมื่อศาลตัดสินเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของป.ป.ช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ที่ต้องดำเนินการเอาผิดต่อ แต่เหตุใดจึงไม่ทำ ตนคิดว่าคำถามนี้ควรถูกถามมากกว่า

“เมื่อศาลฎีกาชี้แล้วว่ากรรมการบริหารทั้ง 5 คนมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ศาลไม่ได้บอกตรงไหนเลยว่านายอุตตมไม่ผิด ดังนั้น ไม่ว่าคตส.หรือแบงก์ชาติจะกล่าวหาหรือไม่กล่าวหา เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจาก 5 ท่าน ก็จำเป็นต้องดำเนินการ” นายเรืองไกรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image