09:00 INDEX กังวลลึก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี ดิสเครดิต และ”ด้อยค่า”

การตั้งข้อสังเกตต่ออายุของรัฐบาลอันมาจากนักวิชาการอย่าง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล หรือ นายประจักษ์ ก้องกีรติ ถือเป็น เรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง

เพราะเป็นการมองจากด้าน “นิติศาสตร์” เพราะเป็นการมอง จากด้าน “รัฐศาสตร์”

หรือแม้กระทั่งบทสรุปอันมาจากนักการเมืองอย่าง นายพิชัย รัตตกุล หรือ นายวัฒนา เมืองสุข ก็มิได้เป็นเรื่องแปลก เพราะเป็น การมองจากประสบการณ์และความจัดเจน

แต่การที่บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตีปลาหน้าไซ

Advertisement

“อย่าใช้เวทีสภามาเป็นเรื่องด้อยค่าและล้มรัฐบาล”

ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องล้างหูรับฟังด้วยความเคารพ

ในสภาพที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นเบี้ยหัวแตกแหลกกระจายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ อายุของรัฐบาลเป็นกรณีที่สร้างความหวั่นไหวเป็นอย่างสูง

1 เพราะพรรคการเมืองอันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียงมากเป็นอันดับ 1

Advertisement

จึงจำเป็นต้องใช้”กายกรรมทางกฎหมาย”มาเป็นตัวช่วย

1 ผลก็คือต้องระดมพรรคการเมืองมาร่วมเป็นจำนวนมากถึง เกือบ 20 พรรคการเมือง

ถึงกระนั้นก็ได้เสียงมาเพียง 251 เสียง ปริ่มน้ำ

เป็น 251 เสียงอันร่วมกันขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน

เช่นนี้เองจึงเกิดความคิดที่จะใช้”กายกรรมทางกฎหมาย”เพื่อให้มีการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านที่ประชุมรัฐสภาโดยถือว่าเป็นงบ”ปฏิรูป”

เช่นนี้เองเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องระบุ”อย่าใช้เวทีสภามาเป็นเรื่องด้อยค่าและล้มรัฐบาล”

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้ไม่เพียงแต่เท่ากับเป็นการยอมรับในสภาพความเป็นจริงที่รัฐบาลดำรงอยู่อย่างง่อนแง่น ในเชิงปริมาณ

หากแต่ยังสะท้อนถึงความวิตกและความกังวลอย่างสูง

ถึงกับตีปลาหน้าไซ และป้องปรามในเรื่องที่รัฐบาลถูก”ด้อยค่า” และเรื่องที่รัฐบาลอาจถูกล้มโดยกระบวนการทางสภา

เป็นการเตือนพวกเดียวกันมากกว่าจะเป็นฝ่ายค้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image