สแกน‘ครม.ชุดใหม่’ ส่องจุดเด่น-จุดด้อย‘บิ๊กตู่’เฟส2

หมายเหตุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งรัฐมนตรี 36 ตำแหน่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม จากนี้เป็นความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ใน ครม.ชุดใหม่ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีทุกคนเป็นผู้ที่มีความสามารถ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจถือว่ามีประสบการณ์ เชื่อว่าจะขับเคลื่อนได้ แต่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมือง และต้องมีความโปร่งใส หากเป็นไปได้อยากให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม 2 รูปแบบ คือ เรื่องการจัดทำเรื่องการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ หรืออีส ออฟ ดูอิ้ง บิสซิเนส โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้บริหารแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจเข้ามาหารือ เพื่อแก้ไขเรื่องเร่งด่วน และการประชุมร่วมภาครัฐเอกชน (กรอ.) โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ ควรผลักดันราคาสินค้าเกษตร เพื่อเกษตรกรจะได้มีรายได้ที่ดีขึ้น ค่าเงินบาทควรจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และอาจจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าต่อไปและทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตขึ้น

ด้านกำลังซื้อในประเทศระยะสั้น รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณกระตุ้น ซึ่งการกระตุ้นผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังเหมาะสม สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่ได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวต้องพิจารณาแนวทางการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

Advertisement

แม้รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง แต่ภาคเอกชนไม่กังวล เพราะยังไม่เห็นปัญหาเท่าไรนัก แต่เชื่อว่าทุกคนอยากขับเคลื่อนในสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว และต้องแข่งกับเวลา ต้องทำงานให้เห็นผลโดยเร็ว

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

หน้าตา ครม.ตอนนี้ ถามว่าให้คะแนนเท่าไร สอบผ่านไหม ก็ต้องบอกว่าตอบไม่ได้ ยังให้คะแนนไม่ได้ เพราะยังไม่มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์ และถ้าพิจารณาจากผลงานและฝีไม้ลายมือที่ผ่านมาโดยนำ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมาพิจารณา ก็อยากให้พิจารณาดูว่าเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นหรือเปล่า ต้องมองภาพรวมอย่าไปมองแค่คนที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการประชารัฐที่มีการอัดฉีดเงินให้คนแค่บางกลุ่ม คิดว่าประชาชนตอบได้ ที่พูดกันว่าเงินบาทแข็งค่า มีกองเชียร์รัฐบาลออกมาบอกว่า ไม่เคยมียุคไหนที่เงินบาทแข็งค่าขนาดนี้หลังจากการยกเลิกระบบตะกร้าเงินมาใช้ระบบลอยตัวแทน แต่ลืมไปหรือเปล่าว่าประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก ถ้านำเข้าเป็นหลัก เงินบาทแข็งก็ไม่มีปัญหา ถ้าไม่มีนโยบายทางการคลัง เช่น จัดทำนโยบายขาดดุล ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะขาดดุลอย่างไรต่อไปแล้ว เพราะไทยเป็นหนี้สาธารณะ 2 ล้านล้านบาทแล้ว คิดว่าทุกคนเห็นฝีมือกันอยู่แล้ว นโยบายที่นำเสนอมา ส่วนใหญ่เป็นนโยบายฉาบฉวย เช่น นโยบายกัญชาเสรี และมีการสอดไส้ว่าเป็นนโยบายนันทนาการ ถามว่าเรามีการศึกษาที่เหมาะสมหรือยัง นโยบายพวกนี้เป็นนโยบายแบบซูเปอร์ประชานิยม ใช้หาเสียงอย่างเดียว ทำได้จริงหรือเปล่าตอบไม่ได้

Advertisement

ส่วนที่สังคมมีการตั้งคำถามต่อรัฐมนตรีบางรายถึงความเหมาะสมในการรับตำแหน่ง เนื่องจากเคยมีคดีความในต่างประเทศ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย บอกว่าถูกตัดสินที่ศาลออสเตรเลีย ไม่ได้เกี่ยวกับไทย แต่ส่วนตัวมองว่ามีประเด็นต้องตีความ ในอดีตเคยมีประเด็นที่ว่าต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ก็มีการตีความกันว่า ถูกจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน จะถือว่าเป็นหรือไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นก็รอดกันไป แต่รัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศให้จำคุก ซึ่งบังเอิญมีกลไกการโอนตัวมารับโทษในเมืองไทย อย่างนี้จะตีความกันว่าอย่างไร คำว่า ‘คำพิพากษาของศาล’ ในที่นี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นศาลไทย ในขณะที่บุคคลดังกล่าวต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดียาเสพติด แต่ถ้ามองตามความเหมาะสม ทุกคนคงมีคำตอบในใจ

นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งคือ การที่ต้องไม่มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย ล่าสุดมีการแชร์ราชกิจจานุเบกษาเรื่องการถอดยศทางทหาร ในเอกสารระบุข้อความว่า “เนื่องจากประพฤติตนไม่สมควรตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร” แสดงว่าในระบบกฎหมายไทยรับรู้และรับทราบมาโดยตลอดถึงการกระทำความผิด ไม่เช่นนั้นคงไม่ถูกถอดยศ

ย้อนอดีตไปยังเคยมีกรณีเกี่ยวกับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเช่นกัน แต่ทางสหรัฐส่งแบล๊กลิสต์ว่า เป็นผู้ที่เคยมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยไม่ได้ถูกดำเนินคดี เราก็ไม่ตั้ง (เป็นรัฐมนตรี) นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ต้องพิจารณาอีกอย่างหนึ่งคือ การที่ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับหลักทุกอย่าง เพราะโดยหลักจะเอา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นรัฐมนตรี ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ การขัดกันของผลประโยชน์ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เมื่อ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็จะออกจากการเป็น ส.ส. แล้วดันปาร์ตี้ลิสต์คนอื่นขึ้นมา

กรณีนี้หากมีการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนหนึ่งและเป็น ส.ส.ด้วย พอจะโหวตก็วิ่งลงไปในฐานะ ส.ส. เพื่อโหวตไว้วางใจตัวเอง จะเป็นอย่างไร คนไม่ค่อยดูประเด็นนี้กัน ส.ส.เขตเป็นรัฐมนตรีกันหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องประหลาด

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

หลังเห็นหน้าตาของ ครม.ชุดนี้ ถือว่าสอบผ่านแบบปริ่มน้ำ ได้ 6 เต็ม 10 โดยสิ่งที่ได้เห็นจากรัฐมนตรีชุดนี้มี 5 เรื่อง คือ 1.เป็นการประนีประนอมกันระหว่าง คสช.กับอำนาจฝ่ายการเมือง จะเห็นได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนรูปโฉมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยฝ่ายความมั่นคงทั้ง 6 ตำแหน่งเป็นโควต้าของคนนอกแทบทั้งหมด มีส่วนผสมของพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง เช่น ประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับภูมิใจไทย (ภท.) ในกระทรวงมหาดไทย

มีข้อน่าสังเกต ประเด็นที่ 1.บทบาททางการเมืองของ คสช.ก็ยังคงอยู่ เพราะใน ครม.มีบุคคลที่ใกล้ชิดกับ คสช.อยู่อย่างน้อย 10 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิก คสช. 4 คน อดีตรัฐมนตรี 4 คน อดีต สนช. 1 คน อดีตรองโฆษก 1 คน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของ คสช.ที่กำลังปรับรูปโฉม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีคนนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นสายตรง คสช.เพื่อเข้ามาดูเรื่องความมั่นคงโดยไม่เห็นคนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ประเด็นที่ 2.จะเห็นว่าบทบาทตระกูลการเมืองท้องถิ่นและเครือข่ายอำนาจการเมืองในท้องถิ่น ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลในฐานะฐานคะแนนเสียงอยู่ไม่น้อย โดยกลุ่มอำนาจการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้จะสลับหน้ากันเข้ามา เช่น พี่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ก็ให้น้องเข้ามาแทน หรือไม่ก็เป็นพ่อ แม่ ลูก สะท้อนให้เห็นว่า อย่างไรเสียการเมืองไทยยังมีเรื่องตระกูลการเมืองท้องถิ่นและเครือข่ายอำนาจการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ เพราะคือจุดสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองจะได้มาซึ่งคะแนนเสียงในระดับพื้นที่

ประเด็นที่ 3.เรื่องโควต้ารัฐมนตรี ยังคงมีการจัดกระทรวงเกรดเอ บี ซี โดยเฉพาะในพรรคใหญ่ เช่น พปชร.ซึ่งมีรัฐมนตรีอยู่ 18 คน ในจำนวนนี้จัดสรรไปสู่กลุ่มต่างๆ เช่น โควต้าคนนอก 6-7 คน โควต้ากลางของพรรค 3 คน กลุ่ม กปปส. 2 คน กลุ่มสามมิตร 2 คน มุ้งอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ชลบุรี กลุ่มภาคเหนือ กลุ่มโคราช กลุ่มเพชรบูรณ์ อีก 4 คน สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องโควต้ารัฐมนตรีทำให้เกิดภาวะวางคนผิดในงานที่ผิด (Put the wrong man into the wrong job)

ประเด็นที่ 4.บทบาทของกลุ่มทุนธุรกิจที่สนับสนุนยังคงมีอยู่

ประเด็นที่ 5.ฐานคะแนนเสียงของแต่ละพรรคที่ยังคงมีอยู่

จุดที่น่าสนใจในรัฐบาลชุดนี้ คือ กระทรวงเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงเกษตรฯ ที่มีรัฐมนตรีมาจาก 4 พรรคหลักครบทั้งหมด ทั้ง พปชร. ปชป. ภท. ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) การดูแลกระทรวงเกษตรฯจะส่งผลต่อฐานเสียง เป็นการมองไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนที่โดดเด่นคือ ครม.ความมั่นคง และ ครม.เศรษฐกิจ ยังคงเป็นทีมเดิมมาสานต่อ โดยเฉพาะ ครม.ความมั่นคงที่แทบทั้งหมดเป็นคนนอกและเป็นสายตรง คสช. ดังนั้น การควบคุมสถานการณ์ก็น่าจะเป็นไปด้วยดี แม้ว่าจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง คสช. 66 ฉบับ แต่บางฉบับก็ยังคงอยู่ เช่น คำสั่งเรื่องการเรียกบุคคลรายงานตัว หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อ

ขณะเดียวกัน ครม.เศรษฐกิจ พปชร.ก็มีกระทรวงเศรษฐกิจอยู่ในมือเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรองนายกฯเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังยกกระทรวง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทีมเดิมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนผสมของพรรคร่วม ทั้ง ปชป. ที่ดูกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ภท.ดูคมนาคม-ท่องเที่ยว รวมพลังประชาชาติ (รปช.) ดูกระทรวงแรงงาน ในแง่การทำงานบางอย่างก็ต้องมีการปรับจูนเช่นกัน

ในจุดเด่นก็จะเห็นจุดด้อย ทั้งเรื่องของภาพลักษณ์ประวัติภูมิหลัง และความมีธรรมาภิบาลของรัฐมนตรี โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีบางคน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากเรื่องคดีความที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงภาพลักษณ์ของ ครม.เศรษฐกิจ แม้จะเป็นชุดเดิมแต่อีกด้านก็ถูกวิจารณ์ว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้หรือไม่ กระทั่งภาพของ คสช.เอง ในการปรับเปลี่ยนรูปโฉมและประนีประนอมกับนักการเมืองมากขึ้น จะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “รัฐราชการแบบใหม่” หรือไม่

การที่รัฐมนตรีมีประวัติด่างพร้อยจะเป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากข้อวิพากษ์วิจารณ์จะเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีคำถามตามมาในเรื่องธรรมาภิบาลและประวัติภูมิหลัง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านการทำงานและผลงานที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องควบคุมกำกับให้สิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นข้อชื่นชมมากกว่าข้อวิจารณ์ เรื่องความมีธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีการตั้งคำถามตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง มาจนถึงการปฏิรูปต่างๆ ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือจะทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพแค่ไหน เพียงไร เป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐมนตรีที่ถูกวิจารณ์จะสามารถผ่านพ้นปัญหาเชิงลบเหล่านี้ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง จะขับเคลื่อนประเทศได้หรือไม่นั้น ปัญหาไม่ได้อยู่แค่รัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ฝ่ายราชการประจำด้วย การขับเคลื่อนต่างๆ อันดับแรกต้องวางคนให้ถูกกับงาน ซึ่งวันนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าวางคนไม่ตรงกับงานเท่าไร เพราะประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา ความรู้ ความชำนาญของบางคนอาจไม่ตรงกับกระทรวงที่ได้ไปดูแลอันเป็นผลมาจากโควต้ารัฐมนตรี

ส่วนข้าราชการประจำแต่ละกระทรวงอาจจะรู้จักมักคุ้นกับบางพรรคการเมือง หรือมีความเป็นเจ้าถิ่นของพรรคการเมืองอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อไม่มีพรรคการเมืองเข้าไปบริหาร หลายกระทรวงจึงเกิดปัญหา เพราะข้าราชการไม่คุ้นเคยทำให้เกิดเกียร์ว่าง นี่คือปัญหาใหญ่ที่จะต้องประสานงานให้ได้ ดังนั้นคุณสมบัติของรัฐมนตรีคือ 1.จะต้องประสานงานได้ 2.ประสานความร่วมมือได้ 3.ต้องกล้าตัดสินใจ และมีการทำงานที่สะท้อนถึงเจตจำนงของพี่น้องประชาชน สิ่งสำคัญคือจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้หรือไม่ หลังจากนี้ไปเป็นบทพิสูจน์ หากทำไม่ได้ภายใต้ระยะเวลา 1 ปี นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องทบทวนแล้วว่าจะเอาใครเข้า-ออก ต้องพูดคุยกันเพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปได้

อาจจะเรียก ครม.ชุดนี้ ว่าเป็น “ครม.ลุ่มๆ ดอนๆ” เพราะว่าลุ่มๆ ดอนๆ ตั้งแต่เสียงที่ปริ่มน้ำ มาจนถึงโควต้ารัฐมนตรีที่กว่าจะจัดลงตัวใช้เวลากว่าร้อยวัน

ลุ่มๆดอนๆ นับแต่วันเลือกตั้ง พอได้หน้าตา ครม.ก็ถูกคนวิจารณ์อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image