‘อยู่กับบาดแผล’ หนังสือว่าด้วยความขัดแย้งเหลือง-แดง และคนระดับล่าง ที่นายร้อยต้องอ่าน!

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

‘อยู่กับบาดแผล’ หนังสือว่าด้วยความขัดแย้ง ‘เหลือง-แดง’ กับความเจ็บปวดของคนระดับล่าง ที่ ‘นายร้อย-เสนาฯทหาร’ ต้องอ่าน

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์ Papyrus Books และร้านหนังสือ​ Bookmoby จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “อยู่กับบาดแผล” เสียงจากเหยื่อสามัญชน ในความรุนแรงทางการเมืองเหลือง-แดง ช่วงปี พ.ศ.2553-2557 โดยมี ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ อยู่กับบาดแผล, วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2 สมัย และดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา ดำเนินการรายการโดย ทราย อินทิรา เจริญปุระ นักแสดง นักเขียน และคอลัมนิสต์ โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า 25 คนในหนังสือเล่มนี้เกิดจากความพยายามศึกษาเหยื่อทั้ง 2 สี และอีก 8 คนจากกรณีเผาศาลากลาง ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บและพิการที่มีประสบการณ์ตรง ได้รับผลกระทบลึกและยาวที่สุด ถึงแม้จะผ่านเหตุการณ์ไปแล้วแต่บาดแผลยังอยู่

“สิ่งที่น่าสนใจคือ คนบาดเจ็บเสื้อแดงเป็นลูกจ้างระดับล่าง คนที่เจ็บหนักฝั่งเสือเหลืองคือชนชั้นกลางระดับล่างเช่นกัน คนที่ไปอยู่แนวหน้า คือคนระดับล่าง ดีหน่อยคือเจ้าของกิจการตัดเย็บเสื้อโหล แต่ส่วนมากเป็นสามัญชน คนตัวเล็กตัวน้อย กรณีเหยื่อคนเสื้อเหลือง ถูกยิงด้วยกระสุนจริงทะลุไขสันหลังตัดเส้นประสาท ส่วนล่างใช้การไม่ได้ต้องนั่งวีลแชร์ หลายคนเจ็บหนัก และลำบาก แต่เขาบอกว่า อย่างน้อยทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ บางคนถูกยิงด้วยแก๊สนำตา กระทบสมองกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ตอนสัมภาษณ์สุดท้ายพูดว่า ’ก็ยังดีนะถ้าไม่มีเราไปช่วยชาติ ไม่รู้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเละเทะไปถึงไหน’ ถ้าสังคมให้ความหมายเปลี่ยนว่าการสกัดการเลือกตั้งไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นการขัดขวางประชาธิปไตย ในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า จะกระทบกับการให้ความหมายและคุณค่าในตัวเองหรือไม่ เพราะความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์สูงเกิดจากการรับสื่อด้านเดียว คนที่ไปสัมภาษณ์บอกว่าเขามีข้อมูลเพราะรับจากช่องนี้มา ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง สิ่งสำคัญที่สุดคือเถียงอย่างมีอารยะ แต่ไม่ฟาดฟันกัน”

Advertisement

ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า หลังเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตลอดเวลา ประเด็นที่ถูกเรียกร้องจากผู้อ่านคือ เราอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมผู้พ้นผิดลอยนวล คนถูกสั่งการไม่ถูกลงโทษ จึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ ยุคสมัยนี้อาจจัดการยากเพราะเราไม่ได้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้กระทำความรุนแรงยังเป็นผู้ใช้อำนาจ จึงไม่มีอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ที่ถูกกระทำโดยเฉพาะเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์ว่า ‘หวังว่าวันหนึ่งความจริงจะเปิดเผยแล้วเลิกว่าสักทีว่าเขาเป็นคนเผาบ้านเผาเมือง’ กรณีเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ ศาลตัดสินแล้วก็ยังโดน เฮทสปีดเหล่านี้ลดทอนความเป็นมนุษย์ ลดศักดิ์ศรี ต้องเอาข้อเท็จจริงมาแบกัน

“ถ้าเราสร้างวัฒนธรรมไม่ให้คนพ้นผิด คนที่สั่งการก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น การใช้กระสุนจริงคือการเห็นประชาเป็นศัตรู มีคนหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยาง แต่ตาบอด เพราะเป็นการยิงระดับสูง เราพูดถึงรายละเอียดของเหตุการณ์น้อยเกินไป ดังนั้น ใครบ้างที่ควรจะอ่านหนังสือเล่มนี้ ตอนที่เขียนเชื่อว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดงคงไม่ชอบ สิ่งที่อยากให้มองนอกจากเหลืองแดงคือความเป็นมนุษย์ หนังสือเล่มนี้อยากสะท้อนเสียงคนให้ทั่ว แต่ถ้าตอบอีกแบบก็อยากให้เอาหนังสือเล่มนี้ไปอยู่ในโรงเรียนนายร้อย จปร. หรือให้นักเรียนเสนาธิการทหารอ่าน”

ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า เรายังไม่เคยมีการขอโทษเหยื่อ เหยื่อไม่ได้ต้องการเอาชีวิตใครคืน แค่ต้องการความเคารพในฐานะผู้ถูกกระทำ ถึงที่สุดเราจะไม่ผลักสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงแบบนั้น ต้องเคารพและให้เกียรติกัน เพราะเราไม่จำจึงเกิดความรุนแรงเช่นนี้ มีคนสะใจที่นิวโดนตี หรือดักตบคนนั่นคนนี้ที จับคนลงโทษไม่ได้ แต่จับคนแชร์ข่าวได้ ถ้าเราไม่ให้ความยุติธรรม ฝั่งหนึ่งก็จะรู้สึกว่าถูกกระทำอยู่เสมอ

Advertisement

ด้าน วีรพร กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สะท้อนแค่การเมือง แต่ยังมีความหวัง ความฝัน ชีวิต และครอบครัวก่อนหน้านั้น

“เราไม่ได้เห็นมิติด้านนี้ ไม่ทราบชื่อ อายุ และชีวิตของเขาว่าเป็นอย่างไร ครอบครัวหลังจากนั้นเป็นอย่างไร ทั้ง 2 ขั้วสี ไม่ว่าจะเลือกขั้วสีไหน ก็ต้องการสิ่งเดียวกัน และเจ็บเหมือนกันหมด นี่คือประเด็นที่สะท้อนใจ คนที่อยู่ในเล่มนี้ทั้งหมดมีทางเลือกน้อยมากที่จะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ เรียกว่าแทบไม่มีทางเลือกทั้งก่อนและหลังเรื่องจบ”

“ความรุนแรงมีทั้งทางความคิด ความรู้สึก และทางกาย ส่วนตัวผ่านทุกเหตุการณ์ ตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ จนถึงปี 2553 จึงรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำ เพราะการเกิดขึ้นซ้ำคือการไม่มีความทรงจำของสังคม ไม่ใช่เราไม่เรียนรู้ แต่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในเหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง พิการ ใช้ชีวิตอย่างไร ตามข่าวคือคนนี้ถูกยิง จบ แค่นั้น ผู้ซึ่งเป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคนไม่สำคัญ เป็นสามัญชน ตาสีตาสาเสมอไม่เคยเกิดขึ้นกับแกนนำ พี่ ลุง ต่างๆ ผู้ปลุกระดมสบายดี แต่คนเล็กคนน้อยที่ถูกยิงหายไปจากการรับรู้และจดจำของผู้คน สิ่งนี้ยิ่งกว่าลอยนวล เพราะนอกจากจะมีคนปลุกระดมและลอยนวล ยังมีคนที่กระทำและลอยนวล และมีคนที่ถูกเก็บไว้ในบ้านนั่งรถเข็น ดังนั้น เรื่องนี้ต้องมีการสะสาง”

“เรามีกองเชียร์ประเภทที่ดีใจมากมาย เรามีกองเชียร์ที่พูดว่าเป็นความจำเป็น ทั้งที่รู้ว่าไม่มีความจำเป็นที่คนจะต้องถูกยิง การเพิกเฉยก็เป็นส่วนหนึ่ง เรามีเหตุการณ์แบบนี้เยอะเกินไป เราควรจะแบกบาดแผลนี้ด้วยกัน เพราะเป็นของสังคมที่จัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง เป็นสังคมที่น่ากลัวที่สุด เป็นความพิการซ้ำซ้อน” วีรพร กล่าว

ด้าน ดร.ธร กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เปิดเสียงของคนที่ถูกลืมหรือถูกมองด้วยอคติ โดยเฉพาะผู้ชุมนุมแนวหน้า แต่ อ.บุญเลิศ ทำให้มองในฐานะความเป็นมนุษย์ คืนคุณค่าให้คนจำนวนมาก เห็นทั้งความฝัน ความพลิกผันในชีวิต และการดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุข

“หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยบาดแผล ไม่ใช่บาดแผลทางกาย แต่เป็นบาดแผลทางใจ เรื่องนี้สำคัญเพราะโยงกับความรุนแรง โยงกับอาชญากรรมโดยรัฐ ที่ไม่ต้องรับผิด ซึ่งมีกรณีแบบนี้หลายครั้ง ทั้งการสังหารคนจำนวนมากในการปราบคอมมิวนิสต์ การสังหารในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราต้องใส่ใจโดยเฉพาะการดูแลผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแต่ความทรงจำ บาดแผลในความรู้สึกไม่ได้หายไปจากการบอกให้ลืม ความทุกข์ทนมาจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับความทรงจำเมื่อมองย้อนไปยังไม่จบ แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องในชีวิตของเหยื่อ

สิ่งสำคัญคือผู้ถูกกระทำทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้รู้สึกกับความทรงจำที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาไม่เหมือนกัน อีกฝ่ายอาจรู้สึกชนะ อีกฝ่ายถูกตอกย้ำตลอดเวลาว่าไร้ค่า หรืออยู่ในกลุ่มของคนที่ไม่ดี ประเด็นสำคัญคือการดูแลเส้นทางหลังจากนั้น เราไม่จึงไม่ควรมองว่าจบแล้ว เพราะยังมีกระบวนการยุติธรรมและการคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์” ดร.ธรกล่าว และว่า

“ความยากกว่าความทรงจำของเหยื่อคือ ความทรงจำของสังคม ความทรงจำร่วมที่โยงอยู่กับบาดแผล มีความอิหลักอิเหลื่อเมื่อพูดถึงความทรงจำร่วม จะมีทางแยกระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการระลึกถึงบาดแผลและการก้าวเดินต่อไป การระลึกถึงสิ่งเลวร้ายทำให้รู้ถึงบทเรียนเพื่อไม่ให้ก้าวพลาด การระลึกถึงบาดแผลทำให้รู้สึกทรมาน แต่เราจะหาจุดสมดุลอย่างไร แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือความทรงจำร่วมต่อเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้มีเพียงผู้ถูกกระทำ ยังมีผู้กระทำ ผู้ที่สนับสนุนการกระทำด้วย เพื่อจะก้าวไปต้องถูกสะสาง ต้องมีการรื้อ สิ่งที่เราพอจะทำได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการรัฐ คือ 1.สร้างทางเลือกทางประวัติศาสตร์ผ่านการเก็บข้อมูล 2. ขยับคำอธิบายที่โยงความหมายของการกระทำในอดีต เพื่อเปิดการตีความใหม่ ให้ความหมายใหม่กับการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งสุดท้ายต้องย้อนไปรื้อคุณค่าบางอย่างของสังคม”

ดร.ธร กล่าวว่า การที่รัฐเข้ามาชำระความจะให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกระทำ และเป็นการทำให้คนที่ถูกกระทำมีคุณค่าอีกครั้ง การถูกเมินเฉยต่อสิ่งที่เกิดคือเรื่อเลวร้ายที่สุด เพราะเหมือนว่าเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นเลย เหมือนสกัดไม่ให้หายใจ มนุษย์ทุกคนต้องมีคุณค่าในตัวเอง การชำระอดีต คือการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อการอยู่ร่วมกันในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image