ธรรมาธิปไตย กับกรณีตั้งสังฆราช โดย วีระกานต์ มุสิกพงศ์

เดือนสุดท้ายของปี 2558 เราได้ถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หวังกันว่าเป็นการส่งท้ายปีเก่าด้วยเรื่องเศร้าเรื่องร้าย บางทีขึ้นปีใหม่ 2559 จะมีเรื่องดีๆ มาสู่สังคมไทยบ้างจะได้ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเศร้ากันตั้งแต่ต้นปี

ที่ไหนได้ พอขึ้นปีใหม่มาได้เพียงสัปดาห์เดียว ปัญหาใหญ่ก็เริ่มตั้งเค้าขึ้นให้ได้เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมเครียด และเตรียมออกกำลังกันเสียแล้ว ด้วยเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ อันเป็นลำดับที่ 20 ในพระราชวงศ์จักรี

อันที่จริง เรื่องของการแต่งตั้งพระสังฆราชเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันดี ในหมู่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มีกฎหมาย มีระเบียบปฏิบัติปรากฏชัดเจนได้แต่งตั้งสืบเนื่องกันมาเป็นที่เรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย สับสน ไม่ว่าจะในยุคราชาธิปไตย หรือยุคประชาธิปไตย

แต่คราวนี้ไม่ใช่เช่นนั้น เนื่องจากคราวนี้มีข่าวเป็นคลื่นใต้น้ำมาตลอดว่า หากถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชแล้วจะยังไม่มีการแต่งตั้งสมเด็จรูปใดๆ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยเหตุว่าตามคิวที่เคยปฏิบัติกันมานั้น

Advertisement

คราวนี้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจะตกเป็นของคณะมหานิกาย

แต่เนื่องจากว่า สมเด็จในคณะมหานิกายนั้นมีจุดอ่อนให้คนนินทาได้อยู่หลายรูป พวกปากหอย ปากปู บางคนถึงกับพูดด้วยความสามหาวว่า ท่านไม่มีคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเรื่องคุณสมบัติที่ว่านี้ ข้าพเจ้าเคยเถียงกับพวกปากหอยปากปูว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระชั้นสมเด็จจะไม่มีคุณสมบัติพอที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะปล่อยให้ท่านดำรงตำแหน่งสมเด็จได้อย่างไร

ต่อมาข่าวเล่าลือก็จำกัดวงแคบเข้าว่า สมเด็จที่ขาดคุณสมบัตินั้นไม่ได้มีหลายรูปอย่างที่พูดๆ กัน หากหมายจำเพาะถึงรูปที่กำลังปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชอยู่เท่านั้น

พอยักกระสายไปอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็สำทับซ้ำไปว่าเออนั่นแหละ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชยิ่งแย่ใหญ่ หากไม่มีคุณสมบัติจริง ปล่อยให้ปฏิบัติหน้าที่แทนอยู่ได้อย่างไร มหาเถรสมาคมพิจารณากันลวกๆ หรืออย่างไร จึงปล่อยให้ผู้ที่มีความบกพร่องอะไรบางอย่างปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชอยู่ตั้งนานได้

เรื่องนี้ถ้าพูดไปแล้วก็เป็นเรื่องที่เถียงกันไปกันมาระหว่างคนที่ผีเจาะปากมาให้พูดเท่านั้น จะเอาสาระอะไรแท้จริงหาได้ไม่ ยิ่งปล่อยให้พูดก็ยิ่งเสียหายกันไปใหญ่เพราะอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้นมีอยู่หลายขั้นตอน บางขั้นตอนเป็นอำนาจของสงฆ์ บางขั้นตอนเป็นอำนาจของฆราวาส ขั้นตอนสุดท้ายเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ทุกขั้นตอนที่ว่านี้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นอำนาจเด็จขาดที่ไม่มีเหตุผลความชอบธรรมรองรับ ตรงกันข้าม แต่ละขั้นตอนล้วนต้องมีความชอบธรรม มีระเบียบประเพณี รองรับทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าจะพูดกันตรงๆ ใครที่นำเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะในวงกาแฟ หรือในวงเหล้า ควรเรียกได้ว่า เป็นคนเสือใส่เกือก และควรได้รับการเอามะพร้าวห้าวยัดปากทั้งสิ้น ไม่ว่าใครที่ว่านั้นจะเป็น สปช. หรือ สนช. หรือเป็นภิกษุพร่องศีล

หน้าที่ในการคัดเลือกพระมหาเถระขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้นตามกฎหมายระบุว่า เป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ซึ่งมหาเถรสมาคมนั้นประกอบด้วยพระภิกษุชั้นสมเด็จทุกรูป และรองสมเด็จอีกหลายรูป

เมื่อมหาเถรสมาคมเลือกผู้ที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้แล้วจึงส่งไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้นำความกราบทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

แน่นอนที่สุด มติของมหาเถรสมาคมจะต้องเต็มไปด้วยความรอบคอบ รอบด้าน ไม่ละเลยทางหนึ่งทางใดอันจะทำให้คนนินทาได้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ธรรมดามนุษย์ขี้เหม็นนั้น ชอบการนินทา จึงเชื่อว่ามาตรการการป้องกันการนินทาจึงอยู่ที่กฎหมาย และพระธรรมวินัยเคียงคู่กัน เท่านั้นยังไม่พอ ที่ผ่านมาในอดีตท่านยังมีมาตรการข้อที่ 3 ประกบเข้าไว้ด้วย

มาตรการข้อที่ 3 คือ ธรรมาธิปไตย

ด้วยว่าพระสงฆ์ไทยนั้นท่านมีนิกายสังกัดอยู่ 2 นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย ดั้งนั้น เพื่อความเป็นธรรม และโอนอ่อนเข้าหากันแบบธรรมาธิปไตย ท่านจึงเลือกพระภิกษุจาก 2 นิกายผลัดกัน มหานิกายคราวหนึ่ง ธรรมยุตคราวหนึ่ง สลับกันอย่างนี้เรื่อยไป การก็เรียบร้อย เป็นที่โมทนา สาธุ ของคนทั้งหลาย จนเราจะมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เข้านี่แล้วไม่เคยขัดแย้ง-แตกแยก

แต่จะเป็นกรรมเวรของชาวพุทธไทย หรือเพราะเราได้คณะผู้บริหารประเทศที่มีความไม่ชอบธรรมก็เหลือเดา ขึ้นต้นเดือนแรกของปีใหม่ 2559 จึงมีปัญหาเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช อื้อฉาวขึ้นมา

คนชื่อ พุทธะอิสระ หรือชื่อจริง พระสุวิทย์ แห่งสำนักวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เริ่มจุดประกายขึ้นมาก่อน

ฆราวาสชื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน รับลูกไปขยายความต่อโดยยื่นหนังสือขอให้ สนช. ดึงเรื่องการแต่งตั้งออกไปก่อน

ความจริง 2 รายแรกนี้ ไม่มีหน้าที่อะไรเลย การออกมาทำเอะอะจึงเป็นเรื่อง เสือใส่เกือก

เคราะห์ดีที่ สนช. ไม่เอาด้วย

ถ้าเอาด้วย ก็เป็นคน ส.เสือใส่เกือกรายต่อไป เพราะ สนช. ก็ไม่มีหน้าที่ในเรื่องนี้เหมือนกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ที่จะเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่ไม่รู้เรื่องและถูกกดดันจากพรรคพวกจึงพูดแบบแบ่งรับแบ่งสู้

แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าผิด

คือพูดว่า ถ้ายังมีความขัดแย้งก็จะไม่นำความขึ้นกราบบังคมทูล

ความจริงตนมีหน้าที่ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล หรือหากเห็นว่ามีความขัดแย้งก็ชอบที่จะระงับความขัดแย้งนั้นเสียก่อน ไม่ใช่พูดปัดสวะ เสร็จแล้วไม่ทำอะไรเลย เป็นนายกฯ ควรปกป้องพุทธศาสนาด้วย หากไม่ทำอะไรเลย ก็ควรลาออกไปเสีย

เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการปรองดองสมานฉันท์ เรื่องการปราบทุจริต คอร์รัปชั่น เรื่องการยกระดับราคายาง และเรื่องยกร่าง รธน. ให้มีหลักการสอดคล้องกับประชาธิปไตย ฯลฯ ที่ท่านไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเดียว

ข้าพเจ้าเห็นคนกลุ่มต่างๆ ยกพวกแสดงพลังกันมามาก แต่ไม่อยากเห็นภาพพระสงฆ์ออกมาแสดงพลังเช่นนั้นอีก แม้ว่าจะเป็นเรื่องมีเหตุผล เพราะถ้าถึงขั้นนั้นไม่ใครก็ใครคงต้องตกนรกขุมลึกที่สุดทันตาเห็น ข้อหาทำให้สงฆ์แตกแยกกันบ้างเป็นแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image