เดินหน้าชน : รีดภาษีบิ๊กโซเชียลมีเดีย อุดรอยรั่ว : สุพัด ทีปะลา

เห็นหน้าค่าตากันไปหมดแล้วกับโฉมหน้า 35 รัฐมนตรี รัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1”

หลาย รมต.เดินหน้าลุยงานหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำ ครม.เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตน

สัปดาห์นี้ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล

กรอบเวลาหากเป็นไปตามที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาระบุ รัฐบาลจะแถลงนโยบายช่วงวันที่ 25-26 กรกฎาคม และอาจขยายไปถึงวันที่ 27 กรกฎาคม

Advertisement

นโยบายที่จะแถลงมีทั้งนโยบายทั่วไป และเรื่องเร่งด่วน 12 ข้อตามที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ได้ยกตัวอย่าง มีทั้งเรื่องของเศรษฐกิจรากหญ้า ปากท้อง และภัยแล้ง

ต้องรอดูว่านโยบายที่รัฐบาลจะแถลงนั้นจะน่าสนใจและตอบโจทย์ประชาชนมากแค่ไหน

โดยเฉพาะเรื่องของภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังต้องเผชิญผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

Advertisement

รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่แตะระดับ 30 บาทกว่าๆ ฉุดตัวเลขการส่งออกติดลบ ตัวเลขนักท่องเที่ยวมี
แนวโน้มลดลงด้วย

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช.นั้นต้องยอมรับว่าเรื่องเศรษฐกิจยังเป็นจุดอ่อน

หลายต่อหลายเรื่องยังคงค้างคาจากรัฐบาลก่อนโดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ

อย่างกรณีการเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียจากต่างประเทศอย่าง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ กูเกิล ที่เข้ามากอบโกยรายได้จากประเทศไทยไปมากมาย

แต่เสียภาษีให้ประเทศไทยเพียงน้อยนิด ด้วยวิธีการให้ลูกค้าที่ใช้บริการจ่ายเงินค่าโฆษณา หรือค่าดาวน์โหลด ค่าบริการอื่นๆ เข้าบัญชีบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ ทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นไม่มีการเสียภาษีให้กับประเทศไทย

การออกกฎหมายเพื่อไล่บี้เก็บภาษีกับบริษัทเหล่านี้เป็นประเด็นที่พูดกันมาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับ มีความชัดเจนจากรัฐบาลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุดมีเพียงร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา รอเสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนฯ

ร่างกฎหมายดังกล่าว นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ยอมรับว่า การจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มบริการจากต่างประเทศโดยตรง อาทิ เฟซบุ๊กนั้นยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเท่านั้น

และแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีการจดทะเบียนที่ต่างประเทศ จึงคาดว่าอาจจะใช้เวลาศึกษาอีก 1-2 ปี

ขณะที่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย เตรียมเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้

โดยเห็นว่า “ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างภาษี ให้มีการจัดเก็บภาษีบริษัทต่างประเทศชาติรายใหญ่ที่เข้ามาหารายได้ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรในประเทศ แต่เม็ดเงินไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนฐานราก

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีจากรายใดเลยจนเกิดภาวะความเหลื่อมล้ำในยุคดิจิทัล

แม้บริษัทเหล่านี้ไม่มีสถานภาพอยู่ในประเทศไทย แต่ธุรกรรมที่เกิดขึ้นตอนปลายน้ำเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างชัดเจน ต้องขอเก็บได้”

ความชัดเจนการผลักดันเก็บภาษีส่วนนี้ยังต้องรอนโยบายจากรัฐบาล “บิ๊กตู่” ว่าจะกล้าหรือไม่ที่จะไล่บี้จัดเก็บภาษี

เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย ที่ออกกฎหมายเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เพื่ออุดรอยรั่ว ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ดีกว่ามาไล่บี้เก็บภาษีในประเทศ

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image