นโยบาย รัฐบาล วิธีวิทยา ทาง ‘ความคิด’ จำแนก วิเคราะห์

ความคิดที่แยกเรื่อง “เศรษฐกิจ” ออกมาเป็นเรื่องหนึ่ง แยกเรื่อง “การเมือง” ออกมาเป็นเรื่องหนึ่ง แยก “วัฒนธรรม” ออกมาเป็นเรื่องหนึ่ง

เป็นความคิดในเชิง “ตัดตอน”

ความคิดในแบบนี้มิใช่จะสะท้อนออกเมื่อมีการกำหนดและเขียนออกมาเป็น “นโยบาย” ตรงกันข้าม มีการสำแดงออกอย่างต่อเนื่อง

เหมือนกับจะเป็นคนละเรื่อง

Advertisement

อย่างเช่นที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อุปมาว่ามีบ้านประชาธิปไตยสวย แต่คนที่อยู่ในบ้านอดอยาก ลำเค็ญ

นั่นแหละตัวจริงของการแยกส่วนมองไม่เห็น “องค์รวม”

พรรคการเมืองหนึ่ง นักการเมืองหนึ่ง จำเป็นต้องมองสรรพสิ่งอย่างเห็น “ทั้งหมด” จากนั้นจึงค่อยจำแนกออกมา แล้วมองส่วนย่อยอย่างสัมพันธ์

Advertisement

หากไม่เข้าใจตรงนี้ก็ยากที่จะมองเห็นเรื่องย่อย เรื่องใหญ่

ถามว่าปัญหา “ภัยแล้ง” ที่กำลังประสบทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ในขณะนี้เป็นปัญหาอะไร

เป็นปัญหาของดินฟ้าอากาศอย่างนั้นหรือ

อาจใช่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาของดินฟ้าอากาศในโลกยุคใหม่ดำรงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการหากมีประสิทธิภาพก็ผ่อนหนักเป็นเบา

หากไม่มีประสิทธิภาพที่เบาก็อาจกลายเป็นหนัก

ความจริง ภายหลังสถานการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 เคยมีความพยายามตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขึ้นมา

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อาจตอบได้ว่าเป็นอย่างไร

นั่นก็คือ การนำการเมืองมาบรรเทาเบาบางปัญหาในทางธรรมชาติ ไม่ว่าน้ำท่วม หรือฝนแล้ง แต่มิอาจขับเคลื่อนไปได้ก็เพราะการเมืองอีกนั่นแหละทำให้ชะงักงัน

เห็นหรือไม่ว่า “ปัญหา” แท้จริงมาจากไหน

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาและอภิปรายนโยบายของรัฐสภาจึงเป็นวาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงการยึดโยงระหว่าง การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม

ต้องตี “ความคิด” อันเป็น “ใจกลาง” ให้กระจ่าง

ที่นักสังคมวิทยาระบุทฤษฎีสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความคิด ที่นักปรัชญาสรุปรวบยอดว่า การดำรงอยู่ในทางเศรษฐกิจกำหนดการเมือง วัฒนธรรม

หากจำแนกแยกแยะให้เป็นก็จะประจักษ์

ประจักษ์ว่าฐานในทางความคิดที่รัฐบาลเสนอเป็น “นโยบาย” สะท้อนอะไร ประจักษ์ว่าท่าทีของพรรคฝ่ายค้านต่อกระบวนการจัดการ “นโยบาย” ของรัฐบาลสะท้อนอะไร

มี “กึ๋น” แค่ไหน ไม่สามารถ “ปิด” ได้

การตีให้แตก แยกให้ประจักษ์ มองนามธรรมอย่างทะลุไปถึงรูปธรรมจึงวัดให้เห็นถึงความลึกบางในทางความคิดและปัญญา

ไม่อาจรอดพ้นไปจากสายตาประชาชน

การประชุมระหว่างวันที่ 25 ถึง 26 กรกฎาคม จึงเป็นโรงเรียนการเมืองอย่างมีนัยสำคัญสะท้อนให้เห็นโฉมของการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่

เส้นแบ่งมิได้อยู่ที่ “อายุ” มิได้อยู่ที่ “วัย”

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากอยู่ที่ “ความคิด” อยู่ที่วิธีวิทยาและกระบวนการในการสังเคราะห์จำแนกแยกแยะ ลำดับเรียงเรื่องราว

สร้างความกระจ่าง ณ เบื้องหน้าประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image