ศาลรธน.ร่อนเอกสาร เตือน วิจารณ์คำวินิจฉัยศาล ต้องสุจริต อย่าเสียดสี ฝ่าฝืนติดคุกได้

ศาลรธน. ร่อนเอกสารแจง วิจารณ์คำสั่ง – คำวินิจฉัย ต้องกระทำโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยคำ หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ชี้ ผู้ใดฝ่าฝืนละเมิดอำนาจเจอโทษปรับ- จำคุกได้

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 210 และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 คือการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย หรือร่างกฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองและความมั่นคงแห่งรัฐ การพิจารณากรณีที่กฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันได้แก่ การวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือคุณสมบัติของส.ส. หรือส.ว. และรัฐมนตรี ซึ่งในการพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีนั้นก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ นักการเมือง หรือประชาชน บุคคลทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนในกรณีกระทำการเกินเลยไปถึงขั้นดูหมิ่น ข่มขู่ หรือคุกคามศาล หรือตุลาการ ผู้กระทำอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดเรื่องดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือศาลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 หรือมาตรา 198 ตามลำดับ

อีกทั้ง ปัจจุบันเมื่อพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2561 การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือบทบัญญัติของพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคสามโดยการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นจะต้องกระทำโดยสุจริต และมิได้ใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรือ อาฆาตมาดร้าย ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ด้วย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาลหรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล กรณีมีความจำเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งให้บุคคลใดกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และรวดเร็ว ตลอดจนมีอำนาจในการออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเพื่อให้กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจของศาลซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง( 3) การบังคับใช้บทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่กรณีและให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในบริเวณศาลและนอกศาลและป้องกันการประวิงคดีและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขตและไม่สุจริต ทั้งนี้ศาลจะใช้ตามความจำเป็นเพื่อให้อำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเอกสารข่าวดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญออกมาภายหลังจากที่เมื่อค่ำวันที่ 24 กรกฎาคม เพจพรรคอนาคตใหม่ได้มีการเผยแพร่ คำสั่งและคำร้องของนายนายณฐพร โตประยูร ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เพื่อให้ชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง แล้วมีบุคคลเข้าไปแสดงความคิดเห็นในลักษณะโจมตี เสียดสี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา รวมทั้งมีแชร์ข้อความดังกล่าวไปเป็นจำนวนมาก จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวดังกล่าวเพื่อที่จะปรามและให้ความรู้ว่ากระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายละเมิดศาลซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image