‘เอกชน’ส่งเสียงรับ ฟื้น‘ครม.เศรษฐกิจ’

‘เอกชน’ส่งเสียงรับ ฟื้น‘ครม.เศรษฐกิจ’

‘เอกชน’ส่งเสียงรับ ฟื้น‘ครม.เศรษฐกิจ’

หมายเหตุความคิดเห็นกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้ง ครม.เศรษฐกิจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีทั้งหมด รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจร่วมเป็นกรรมการ และตัวแทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจร่วมเป็นกรรมการ

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้มีการฟื้น ครม.เศรษฐกิจนั้น ในมุมของ ส.อ.ท.ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นความคาดหวังของภาคเอกชนอยู่แล้วที่ต้องการเห็นรัฐบาลเร่งเดินหน้านโยบายด้านเศรษฐกิจ เร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมทันที เพราะตอนนี้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องยอมรับว่ามาจากหลายพรรค โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่มาจาก 4 พรรค ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ทำให้เอกชนกังวลว่าเมื่อถึงเวลาขับเคลื่อนนโยบายการทำงานอาจสะดุดได้ ดังนั้นความเป็นทีมเวิร์กสำคัญมาก การมี ครม.เศรษฐกิจจะช่วยให้การทำงานเป็นเอกภาพได้

Advertisement

อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า เมื่อเดินหน้า ครม.เศรษฐกิจเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าแล้ว ควรดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งการจัดประชุม การประสานงานของทีม เพราะยังไม่ทันเห็นการทำงานก็เริ่มมีกระแสข่าวว่าอาจเป็น ครม.เศรษฐกิจของแต่ละพรรคแทนหรือเปล่า เรื่องนี้เอกชนมีความกังวลมาก อยากให้บูรณาการอย่างจริงจัง

นโยบายสำคัญที่อยากให้ ครม.เศรษฐกิจเร่งเดินหน้า อาทิ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน การเพิ่มรายได้ การยกระดับราคาสินค้าเกษตร การกระตุ้นกำลังซื้อ การป้องกันปัญหาภัยแล้ง การรับมือกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และพบว่ามีหลายประเทศเริ่มสร้างสงครามการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดผลสำเร็จ เกิดรูปธรรมจริงๆ อยากเสนอให้รัฐบาลทำงานร่วมกับภาคเอกชน นอกจาก ครม.เศรษฐกิจที่จัดตั้งแล้ว อยากให้การให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อยากให้มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพราะการรับฟังความเห็นภาคเอกชนจะทำให้การแก้ปัญหาตรงจุดมากขึ้น

Advertisement

อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

เห็นด้วยกับการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะจัดตั้ง ครม.เศรษฐกิจขึ้นมา การจัดตั้งในครั้งนี้จะทำให้มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น หากจะนำรัฐมนตรีและทีมงานของรัฐมนตรีเข้ามาศึกษาดูงานในเรื่องของเศรษฐกิจโดยเฉพาะ มองว่าในขณะนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ การที่จะตั้ง ครม.เศรษฐกิจขึ้นมาจะได้มีการตรวจสอบกำลังซื้อภายในประเทศ ที่ตอนนี้มีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงต้องเข้ามาดูแลในเรื่องราคาสินค้าเกษตรและการส่งออก

ส่วนการตั้ง ครม.เศรษฐกิจจะช่วยทำให้การส่งออกดีขึ้นหรือไม่นั้น ระยะเริ่มต้นอาจยังไม่เห็นผลมาก แต่จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะมีคณะทำงานที่รู้ถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ตรงจุดมากขึ้น มองว่าถ้าแยกการทำงานด้านเศรษฐกิจออกมาอย่างชัดเจนจะเห็นผลได้ดีกว่า การรวมทุกกระทรวงเข้าด้วยกัน

สำหรับเรื่องที่ ครม.เศรษฐกิจ ควรเข้ามาขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศและเรื่องการส่งออกที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจใน รวมถึงยอดขายของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ซบเซาลง และจะทำอย่างไรเมื่อคนไม่กินไม่ใช้ โดยเฉพาะต่างจังหวัด เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไข

การแก้ไขในเบื้องต้น ต้องอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเหมือนที่สหรัฐทำ แต่งบประมาณจะมาจากที่ใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ควรลดภาษีบุคคลหรือภาษีนิติบุคคล ปัจจุบันภาษีจับจ่ายใช้สอยแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาษีคนรวย ที่ต้องกำหนดรายได้ว่าต้องมีรายได้เท่าไหร่ จะสามารถเก็บภาษีตามขั้นบันไดได้ แต่ถ้าคนที่มีจำนวนเงินน้อยกว่าที่กำหนด ควรเสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน และภาษีของผู้มีรายได้น้อย ต้องแยกให้ชัดเจน ไม่ควรเก็บตามขั้นบันได ส่วนภาษีบริษัทที่เก็บแบบนิติบุคคล รัฐอาจจะต้องพิจารณาลดภาษีบุคคล เพื่อให้ประชาชนเหลือเงินในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เหมือนที่ประเทศอินเดียทำอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐควรทำในเรื่องของการส่งออก คือ ให้เกิดการซื้อขายในกลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ตลาดจีนและสหรัฐ เช่น อินเดีย แอฟริกา และเอเชียกลาง เป็นต้น ที่ขณะนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนในประเทศดังกล่าวน้อยมาก น้ำหนักไปอยู่ที่สหรัฐ 11% และจีน 12% เห็นได้ชัดว่าทั้ง 2 ประเทศนี้มีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เพราะฉะนั้นควรมุ่งไปที่ตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยจัดกิจกรรมช้อปชิมใช้ในประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น จากการพูดคุยกับอินเดียพบว่าต้องการให้ผลไม้และสินค้าของไทยเข้าไปขายในประเทศ มองว่าเป็นจุดที่ดีของการเริ่มต้นทางการค้ากับกลุ่มประเทศใหม่ๆ หากเป็นเช่นนั้นคาดว่าภาคการส่งออกของไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

เชาว์ เก่งชน
กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย

แนวคิดที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจเป็นกลไกในการบริหารเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยหาแนวทางขับเคลื่อนนโยบายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สามารถทำได้ ในอดีตก็เคยมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเกิดขึ้นแต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไป ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหลายประเด็นและโจทย์ปัญหาต่างๆ ด้านที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไข หากมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจก่อนวันที่จะมีการประชุม ครม.ชุดใหญ่ โดย ครม.เศรษฐกิจ ครอบคลุมทั้งกระทรวงการคลัง พาณิชย์ เกษตรฯ แรงงาน พลังงาน และอุตสาหกรรม เป็นต้น และแต่ละเรื่องมีทีมดูแลอยู่แล้วสามารถนำเสนอประเด็นเพื่อพิจารณาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนก่อนหลัง ก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ชุดใหญ่ น่าจะทำให้พิจารณาวาระที่เกี่ยวเนื่องกับด้านเศรษฐกิจดำเนินการได้เร็ว เพราะในการประชุม ครม.นอกจากด้านเศรษฐกิจยังมีหลายประเด็น หลายวาระจากหน่วยงานต่างๆ มี่นำเสนอเข้ามาให้ ครม. พิจารณาอีก โดยรวมทำให้การขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการสามารถออกมาได้เร็วมากขึ้น

หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจบไปแล้ว สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการคือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ 2563 ถัดมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลจะมีการดำเนินการโดยมีการประเมินเม็ดเงินที่สามารถนำมาราว 80,000-100,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ได้รวมไว้ในตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้แล้ว อีกประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการไม่แพ้กัน คือ ปัญหาเรื่องภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งต้องรีบเข้าไปดูแล นอกจากนี้จะต้องมีมาตรการดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตการเกษตรด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image