น.2รายงาน : วิพากษ์‘ประยุทธ์’เบ็ดเสร็จ คุม‘ศก.-มั่นคง-ทหาร-ตำรวจ’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งคุมทั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ดีเอสไอ

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ต้องอธิบายลักษณะของรัฐบาลฝ่ายบริหารก่อนว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารจะดำรงได้หลายตำแหน่ง อย่างในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย อาจมีหลายตำแหน่งทับซ้อนกันไปแต่กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหลายตำแหน่งจนเกินไป

Advertisement

บางคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องดีที่ พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถสั่งงานได้ในครั้งเดียวแล้วจบ แต่อย่าลืมว่านี่คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีมาตรา 44 ที่จะเนรมิตทุกอย่างให้รวดเร็วลัดขั้นตอน การสั่งราชการต้องใช้กฎหมาย มีมติ ครม.

และอีกหลายอย่าง เมื่อไม่มีมาตรา 44 ถามว่าจะสั่งราชการให้ทำได้หรือเปล่านั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง ราชการอาจบอกว่าเรื่องนี้ ครม. มีมติอย่างนี้แต่ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ ซึ่งก็ต้องเสียเวลาไปร่างกฎหมายลูกอีก

หากนำประวัติการศึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์มากางดู ว่าได้รับการเทรนนิ่งมาในเรื่องใดบ้าง เรื่องความมั่นคงอาจถนัด เพราะเป็นทหารมาทั้งชีวิต แต่ในเรื่องเศรษฐกิจ การต่างประเทศ หรือการลงทุน ไม่มีประโยชน์ที่จะมาสั่งการเอง ไม่เช่นนั้นจะมีรองนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไว้ทำไม การที่เราแบ่งส่วนราชการเป็นกระทรวง ทบวง กรม ก็เพื่อให้การทำหน้าที่ไม่ถูกรวมกันไว้ที่คนเพียงคนเดียว

Advertisement

แต่กระจายงานไปยังหลายหน่วยงาน ถามว่าจะมีคนที่เก่งทุกเรื่อง รู้ทุกเรื่องอย่างนั้นหรือ?

อีกทั้งยังมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นี่คงเป็นหลักคิดแนวใหม่เพื่อให้สั่งการได้รวดเร็ว แต่เป็นไปได้ยาก ไม่รู้เหตุผลว่าเพราะอะไรจึงเลือกทำในทิศทางนี้ แต่การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่ของเล่นหรือการฝึกงาน แต่มีผลประโยชน์ของสาธารณชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนข้อดี ตอนนี้ยังนึกไม่ออกในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีมาตรา 44 แล้วควบรวมทุกอย่าง 1 สัปดาห์มี 7 วัน 1 เดือน มี 30 วัน ถามว่าคนเพียงคนเดียว มีเวลากี่ชั่วโมงในหนึ่งวันในการทำงานหลายตำแหน่ง เป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้

สิ่งที่ดีที่สุดคือ PUT THE RIGHT MAN INTO THE RIGHT JOB คือนำคนที่เหมาะสมไปทำงาน น่าจะดีกว่า

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

จุดประสงค์ของ พล.อ.ประยุทธ์ก็เพื่อต้องการให้องคาพยพที่ตัวเองดูแลได้ดูต่อเนื่อง ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกระเพื่อมจนเกินไปกล่าวคือให้อยู่ในไลน์ที่ตัวเองสามารถวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองให้ขับเคลื่อนต่อไปได้

ที่พูดง่ายๆ ว่าต้องเห็นผลงานเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่ไม่แบ่งเนื้องานให้รัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมือง หรือรัฐมนตรีต่างพรรคเข้ามามีส่วนร่วมเท่าที่ควรก็เพราะตัวนายกรัฐมนตรีจะได้ใช้บทบาทการเป็นประธานในที่ประชุมเข้าไปกำกับ

แต่คงไม่ชัดเจนนักหากจะไปกล่าวหาว่าล้วงลูก แต่ก็จะเข้าไปกำกับในฐานะประธานที่ประชุม นั่นหมายความว่า ธงหรือเนื้องานที่ทำมาในอดีตก็ยังสามารถขับเคลื่อนต่อไป จะไม่มีการพลิกโฉมถึงขั้นทำให้กลไก หรือคณะทำงานประจำต้องปรับตัวใหม่ สามารถวางงานและดำเนินเนื้องานต่อไปได้

โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคง ทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งต่อจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ธงหรือสายตาคู่เดียวกันก็จะเป็นทิศทางการกำกับยุทธศาสตร์ในทางเดียวกัน เช่นเดียวกันกับเรื่องของดีเอสไอ คดีพิเศษต่างๆ ที่มีประเด็นเรื่องการเมือง ที่หากยังปล่อยให้รัฐมนตรีว่าการรับผิดชอบเองอาจจะถูกตั้งข้อครหาหรือถูกโจมตีว่าใช้อำนาจของตัวเองเพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงใช้บทบาทตัวเองเข้าไปในฐานะประธานในที่ประชุมหรือการแบ่งเนื้องานไปตามกรณี ตามความเหมาะสม

พูดง่ายๆ ว่ามาตรา 44 คือโฉมหน้าการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น ที่ผ่านมาตัวละครหรือผู้เล่นอื่นจะออกรับ เผชิญแรงกดดัน และแรงเสียดทานทางการเมือง เช่น พล.อ.ประวิตร แต่จะเห็นว่า พล.อ.ประวิตรเฟดตัวเอง หรือลดบทบาทตัวเองลงไป

อาจจะด้วยปัญหาสุขภาพหรือเงื่อนไขที่ไม่ต้องการเป็นเป้าโจมตีหมู่บ้านกระสุนตกทางการเมืองอีก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถแบกรับแรงกดดันและรับผิดชอบส่วนนี้ได้สบาย

และยังส่งผลในแง่ทิศทางยุทธศาสตร์การวางเครือข่ายกำลังคน กำลังข้าราชการที่จะมาทำงานสานต่อไปทิศทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดวางตัวบุคคลไว้ เพื่อสวมบทบาทหน้าที่ต่อจากปัจจุบันสืบเนื่องไปอนาคตได้อย่างไม่กระเพื่อม

แน่นอนว่าทำให้อดฉุกคิดไม่ได้ว่าจะสามารถใช้อำนาจของตัวเองไปสร้างแต้มต่อทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าฝ่ายคู่แข่งขันทางการเมืองอาจจะรู้สึกวิตกว่า พล.อ.ประยุทธ์พยายามเข้ามาล้วงลูกหรือไม่?

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังยืนยันว่าฝ่ายข้าราชการหรือฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ยังเกิดความมั่นใจว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์เข้ามากำกับหน้าที่ คงไม่มีการปรับรื้อ หรือโยกย้ายกำลังพลและนโยบายออกไป

ส่วนเรื่องดีเอสไอ ก่อนหน้าก็นี้ถูกตั้งคำถาม หรืออย่างฝั่งที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยให้ความเห็นว่าไม่สบายใจ หากคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน จะเข้ามากำกับดีเอสไอ เพราะอาจมีภาพหรือความสัมพันธ์กับคดีความที่เกี่ยวข้องกับคุณสมศักดิ์

ดังนั้นการเฟดหรือกันไม่ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเข้ามาแปดเปื้อนหรือได้รับผลกระทบตรงส่วนนี้จะทำให้รู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาทำให้สังคมเกิดความสบายใจมากกว่า

แต่ก็เป็นบางกรณี เพราะบางคดีอาจมีการใช้ไปในทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์คงจะใช้ในคณะทีมที่ปรึกษาหรืออาจจะแต่งตั้งผู้ที่ได้รับมอบหมายมารับผิดชอบเป็นกรณีไป

ผศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุมฝ่ายความมั่นคง กองทัพ ตำรวจ และกรมสอบสวนดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมทั้งประธานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ก็อาจเป็นเพราะ 1.พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไว้วางใจผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งที่กล่าวมาทั้งหมด จึงควบเป็นเองทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเรื่องร้อน อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะชี้เป็นชี้ตายเสถียรภาพของรัฐบาล เพื่อที่อย่างน้อยจะได้กุมบังเหียนหรือควบคุมสถานการณ์ได้ 2.การที่ทำเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องระมัดระวัง เพราะการทำงานหลายอย่างด้วยตัวคนเดียว ประการที่ 1 จะมีผลต่อเรื่องสุขภาพจิต เนื่องจากปัญหาจะประเดประดังเข้าหาท่านอย่างแน่นอนในอนาคต ท่านจะเป็นเป้าหลัก ประการที่ 2 ที่สำคัญสุขภาพร่างกายของท่าน ย้อนกลับไปอธิบายเหตุผลที่ว่าทำไมท่านต้องมาเป็นประธาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยท่านอ้างว่าห่วงสุขภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ท่านลืมห่วงสุขภาพท่านเอง เพราะมีความเสี่ยงถ้าท่านดูงานหลายตำแหน่ง อาจจะพักผ่อนไม่เพียงพอ จากที่ห่วงสุขภาพ พล.อ.ประวิตร ก็กลายเป็นว่าน่าจะเป็นห่วงสุขภาพท่านมากกว่าหรือไม่ในอนาคต

การที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาทำหน้าที่ส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงกลาโหม ไปจนถึง ครม.เศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการกระชับอำนาจ เพียงแต่ไม่ชัดเจนเหมือน ม.44 ที่ค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในแง่กฎหมายที่ออกมา

แต่กรณีของการเป็นหัวหรือประธานใน 4 หน่วยงานหลักนั้น โดยความเป็นประธานมีอำนาจอยู่แน่นอน เพียงแต่การจัดทำอะไรก็คงไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนมี ม.44

ท่านจะต้องมีการปรับบุคลิกภาพและเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ถ้านำสไตล์ของท่านที่ผ่านมาตอนเป็น คสช.มาใช้จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

หากว่าท่านนั่งหัวโต๊ะ แล้วใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ อนาคตจะมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดความไม่แน่นอนทางเสถียรภาพ

แม้ว่าผู้ที่นั่งร่วมประชุมกับท่านไม่ว่าจะไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับ แต่ในใจเขาก็คงคิดอยู่ เพราะขาดการยอมรับ

จึงอยากเสนอว่าจะต้องมีการปรับบุคลิกภาพและการพูดคุยกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ท่านเข้าไปดูแล ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาสะสมภายในใจ เป็นคลื่นใต้น้ำอย่างแน่นอน

หากวิเคราะห์ในมุมของการกำกับดูแลจัดการในหน่วยงานหรือองค์กรในฐานะผู้นำประเทศรู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมาดูแลเอง ปล่อยให้คนอื่นดูแลไม่ได้ ผลดีคือ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถให้นโยบาย แนวทาง และสั่งการได้ตามความคิดตัวเองว่าควรเป็นแบบไหนอย่างไร

และจะสามารถแก้สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะประชุมนั่งเป็นหัวโต๊ะอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังรับรู้ปัญหาและขบคิดได้อย่างว่องไว นี่คือข้อดี

พระเดชอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีพระคุณ คำว่าพระคุณนี้ไม่ได้หมายความว่าอุปถัมภ์คุณให้คนในองค์กร แต่หมายความว่าเปิดโอกาสให้ผู้ที่ร่วมประชุมได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ไม่ใช้อำนาจของตัวเองในการกดหรือครอบงำความคิดของคนที่มาร่วมประชุมทั้ง 4 หน่วยงาน เช่นนี้จะเป็นการคลายปม ท่านต้องปรับวิธีคิดและบุคลิกใหม่ เพราะตอนนี้ท่านไม่ใช่นายกฯที่มาจาก คสช.แล้ว

แต่ท่านเป็นอย่างที่ท่านกล่าวว่ามาจากการเลือกตั้ง (ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560) ถ้าหากไม่ปรับก็เสี่ยงจะมีปัญหาไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image