วงเสวนา’รัฐธรรมนูญ’ ‘อำนาจและการเปลี่ยนผ่าน’

คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดงานเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ” ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ “รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

การเถียงกันในประเทศไทย เป็นเพียงการเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญในเชิงเทคนิคเท่านั้น ว่าควรเพิ่มอะไร แก้ไขอะไร และเวลาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทยจะเป็นเรื่องของการพูดสองชั้น ซึ่งหมายถึงการพูดอย่างทำอย่าง เวลาเราเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญในสมัยเรียนหนังสือ เราทุกคนต่างรู้และท่องจำได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ใครล้มล้างรัฐธรรมนูญคือการทำผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
เราบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เรากลับมีสถิติที่น่าเกลียดมาก ฉีกรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำอีก วันดีคืนดีเรามีการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ ในที่สุดเรามีคำสั่งคณะปฏิวัติ คำสั่งรัฐประหารที่ยกเลิกล้มร่างรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับโดยคนเพียงคนเดียว

ทำไมสังคมไทยถึงเป็นอย่างนี้ คำตอบก็คือชนชั้นปกครองไทยเห็นระบอบประชาธิปไตยทั้งหมดเป็นเพียงวิธีการ ไม่ได้เป็นหลักการ เมื่อวิธีการตรงนี้ไม่ดี ไม่ได้ผลตามที่ต้องการเขาก็จัดการเปลี่ยนมัน

ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นักกฎหมายฝ่ายอนุรักษนิยมก็พยายามหาวิธีการใหม่ๆ เขาเป็นเพียงนักเทคนิคที่พยายามคิดหาวิธีการอันมีประสิทธิภาพในการเล่นงานจัดการนักการเมือง ดังนั้นการมองเรื่องรัฐธรรมนูญปราบโกงมาจากตรงนี้ ร่างรัฐธรรมนูญที่เราเห็นจึงเป็นเรื่องของวิธีการทั้งหมด เมื่อวิธีการไม่เหมาะก็เปลี่ยนวิธีการ มาหาวิธีการฉีกแล้วร่างใหม่ๆ

Advertisement

สำหรับเรื่องประชามติ การร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่ว่าจะโดย นาย

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทั้งหมดร่างโดยกรอบของมาตรา 35 ของร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดโดยคณะรัฐประหาร พูดใหม่ให้ง่ายขึ้นคือการร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นเพียงการร่างในกรอบของคณะรัฐประหารทั้งสิ้น โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย

สิ่งที่ควรจะทำคือการไปเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องอยู่มาก แต่เราควรที่จะแก้ไขอย่างผู้เจริญแล้ว ไม่ใช่เอารถถังออกมาแก้รัฐธรรมนูญ

Advertisement
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ-พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ-พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

สิ่งที่ไม่มีการพูดถึงเลยในหลายสิบปีนี้คือ อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักง่ายๆ คือ ประชาชนเป็นเหมือนต้นน้ำ รัฐธรรมนูญเป็นกลางน้ำ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล และสิ่งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญเป็นเพียงปลายน้ำ ต้นน้ำเป็นอย่างไรปลายน้ำก็ต้องเป็นอย่างนั้น

โดยหลักคิดแล้ว อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นของประชาชน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะพบว่าหลายมาตรามีลักษณะคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ที่มีผู้ร่างคนเดียวกัน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และธรรมเนียมปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญยังเป็นเหมือนในสมัย 2534

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา รัฐสภาในฐานะผู้แทนปวงชนก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะไปติดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพวกเขาจะไม่ยอมปล่อยให้พวกคุณไปถึงจุดนั้น

ปิยบุตร แสงกนกกุล

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.

10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาและข้อถกเถียงทางกฎหมายเป็นเรื่องหยุมหยิมที่ปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่มาของ ส.ส.-ส.ว. หรือที่มานายกรัฐมนตรี กฎหมายถูกทำลายให้เป็นกลไกในการเข้าสู่อำนาจรัฐ นักนิติศาสตร์ถูกทำให้เป็นช่างปะผุที่คอยตามเช็ดปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะนำเสนอสิ่งที่อยากจะนำเสนอได้

ประเทศไทยมีการฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง ขณะที่ชาติตะวันตกนั้นรัฐธรรมนูญถือว่ามีเสถียรภาพมาก คำถามคือทำไมในตะวันตกถึงมีคุณค่ามาก แต่ประเทศไทยไม่มีคุณค่าอะไรเลย เป็นเหมือนเศษกระดาษ หากวันหนึ่งมันไปต่อไม่ได้ก็ฉีกทิ้ง ทั้งที่เป็นกฎหมายสูงสุด ส่วนกฎหมายรองลงมาบางอย่างไม่สามารถที่จะแก้ได้

ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 แต่เรากลับไม่มีการถกเถียงเลยว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร มีแต่ถกเถียงกันว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร เราไม่ได้ถกเถียงว่าแท้จริงเนื้อหาสาระคืออะไร ให้อำนาจสูงสุดแก่ประชาชนในการปกครองประเทศอย่างไร ทั้งที่แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญในยุคสมัยใหม่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ

หากเราสำรวจประเทศไทยทุกวันนี้เวลาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ เราจะคิดถึงเรื่องของการปฏิรูป การปราบโกง จะแก้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ก็เอามาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ อยากจะให้มีเรื่องอะไรก็เอามาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ อยากจะคุ้มครองคณะรัฐประหารก็เอามาใส่ไว้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการนำทุกอย่างมาจับใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญมันได้ทำให้เรามองข้ามแนวคิดหลักของรัฐธรรมนูญไป ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือ-กลไกอย่างหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเช่นนั้น

กระแสเหล่านี้มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พยายามทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกในการแก้ปัญหา เราลืมไปว่ารัฐธรรมนูญมีคุณค่ามากกว่านั้น ทุกวันนี้เราเถียงกันอยู่ที่ว่าจะใส่อะไรเพิ่ม หรือตัดอะไรออก จะปรับเปลี่ยนแก้ไขอะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปคือรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ผู้ทรงอำนาจที่สุดในการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาคือใคร

เราไม่ได้คิดว่ารัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมันเป็นของใคร

กันแน่ เพราะเราคิดว่ารัฐธรรมนูญถูกทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เราจึงไม่ได้หวงแหนมัน แต่หากมีการยกระดับว่าประชาชนเป็นคนทำ ประชาชนเป็นคนกำหนด เราจะหวงแหนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต่อให้ไม่เขียนว่าเป็นกฎหมายสูงสุดมันก็จะเป็นกฎหมายสูงสุดทันที แต่ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญเป็น

เหมือนอุปกรณ์ที่หากใช้ไม่ได้แล้วก็เปลี่ยนใหม่เท่านั้น

รัฐธรรมนูญของไทยเป็นเพียงเครื่องมือในการแสดงออกของการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสองขั้วอำนาจ ที่ยังชนะกันไม่ขาดและยังต่อสู้กันไม่จบ

ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นเพียงการแสดงออกถึงการชนะ ยังไม่สามารถไปถึงได้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริงแล้วหรือไม่

ปิยบุตร แสงกนกกุล-วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ปิยบุตร แสงกนกกุล-วรเจตน์ ภาคีรัตน์

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.

แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ แบ่งได้ออกเป็น 2 แนวคิด โดยแนวคิดหนึ่งคิดว่า รัฐธรรมนูญเป็นผลพวงจากการแตกหักกับระบอบเดิม และจึงเป็นการก่อรูปและสร้างระเบียบขึ้นมา การแตกหักของทางสังคมที่เกิดขึ้นมีความหมายและความสำคัญมากเป็นพิเศษ จึงมีลักษณะของการกำหนดกติกาพื้นฐานและคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคมขึ้นใหม่ รักษาระเบียบทางการเมืองเหล่านั้นเอาไว้ ให้อยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งสามารถเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส

แต่ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งจะมองว่าไม่จริงที่รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจากการแตกหัก แต่เป็นผลผลิต ผลพวง ที่เกิดขึ้นการจากจัดระเบียบทางการเมือง เสมือนกับการพัฒนาของบุคคลหรือชีวิตของบุคคล

สิ่งที่เห็นจากต่างประเทศคือ คำปรารภในรัฐธรรมนูญ จะพูดถึงคุณค่า ความฝัน และะความหวัง การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความยุติธรรม แต่รัฐธรรมนูญของบ้านเรามักพูดถึงอะไรที่เป็นปัญหา แต่ไม่ได้พูดถึงการก่อตั้งชุมชนทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานของสังคม ในบ้านเรา แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ระดับความชอบธรรม ระดับการยอมรับนับถือ กลับอยู่ในระดับแบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ ขณะที่ต่างประเทศ รัฐธรรมนูญไม่ได้ผ่านการทำประชามติด้วยซ้ำ แต่กลับได้รับการยอมรับและใช้มาอย่างยาวนาน

ดังนั้น ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญไม่ได้ดูที่ว่าผ่านประชามติหรือไม่เท่านั้น แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติใหม่ๆ มาได้ช่วงแรกคนก็อาจจะยังทำอะไรไม่ได้ แต่จุดสำคัญมันอยู่ที่ผลต่อเนื่องจากการยอมรับนับถือของคนในสังคม

ส่วนตัวเห็นว่ามันผสมกัน คือต้องมีทั้งสองอย่าง ทั้งผลจากการผ่านการทำประชามติและการยอมรับ ซึ่งการยอมรับได้มันเกิดจากการเห็นคุณค่าในการนำไปใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคของรัฐธรรมนูญร่วมกัน คือแม้ว่าจะเห็นต่างกันในทางการเมือง แต่ก็ยอมรับคุณค่าพื้นฐานที่กำหนดเอาไว้ได้เหมือนกัน กลับกันแม้ว่าจะผ่านการทำประชามติ แต่คุณค่าของรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอที่จะทำให้คนยอมรับได้มันก็จะไม่ยั่งยืน

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เน้นคุณค่าไปในเรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเพียงข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญเท่านั้น การกำหนดให้การปราบคอร์รัปชั่นเป็นเป้าหมายหลักในรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้การออกแบบเน้นไปที่เรื่องเดียว มันจะทำให้เกิดคุณค่าร่วมกันของคนในสังคมจริงหรือ

ส่วนไอเดียเรื่องของการบอยคอตการลงประชามติในครั้งนี้ หรือการโหวตโน เชื่อว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลของตนเอง หากยกตัวอย่างให้เห็นชัด สมมุติว่ามีการแข่งขันชกมวยระหว่างนักมวยมุมแดง มุมน้ำเงิน แต่กติกาที่กำหนดกลับเอื้อให้ฝ่ายน้ำเงิน นักมวยฝ่ายน้ำเงินสามารถสู้เต็มที่สองมือ สองเท้า ศอก เข่า เตะ ได้ทั้งหมด ในขณะที่นักมวยฝ่ายแดงขึ้นชกโดยให้ปิดตาข้างหนึ่ง ใช้หมัดได้เพียงข้างเดียว ห้ามศอก เข่า เตะ โอกาสที่ฝ่ายแดงจะชนะก็มีแต่น้อยมาก เมื่อคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าหากมีกติกาที่ไม่ยุติธรรมแบบนี้จะไปแข่งทำไมก็ตัดสินใจว่าจะไม่ร่วมแข่ง ขณะที่อีกพวกบอกว่าขึ้นไปแข่งเถอะเผื่อฟลุคที่จะชนะได้

คำถามสำคัญคือหากตัดสินใจไปแข่งแล้วแพ้ จะต้องยอมรับความพ่ายแพ้นั้นได้หรือไม่ เพราะคุณรู้อยู่แล้วว่ากติกานี้ไม่เป็นธรรม นั่นเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งเห็นว่าแพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ แต่แพ้ในพื้นฐานของกติกาที่ไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกันฝ่ายชนะก็ชนะในพื้นฐานของกติกาที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน

ซึ่งความพ่ายแพ้แบบนี้เป็นการพ่ายแพ้ที่แท้จริงหรือ และชัยชนะที่เกิดขึ้นเป็นชัยชนะที่แท้จริงหรือ หากพูดแบบนี้นักมวยฝ่ายที่ชนะคงบอกว่าฝ่ายแพ้ให้เหตุผลเอาแต่ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วเหตุผลนี้ก็เกิดขึ้นเพราะฐานของกติกาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งวันหนึ่งหากเรามีกติกาที่เป็นธรรมก็จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่แท้จริง เช่นเดียวกับการก่อตั้งกติกาในการออกเสียงประชามติ กติกาเป็นธรรมหรือไม่ เชื่อว่าแต่ละคนมีวิจารณญาณ หากมีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์อยู่บ้างก็จะเห็นเองว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เพราะตอนนี้จะได้ไปออกเสียงหรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย เนื่องจากในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนตัวจะไปลงคะแนน แต่ไม่บอกว่าวินิจฉัยอย่างไร ขอให้ดูหน้าผมว่าผมจะวินิจฉัยอย่างไร ไม่ต้องพูดอะไรให้ชัดเจนอีกในสภาวะที่ไม่ชัดเจนแบบนี้ ในภาพรวมการแพ้นั้นจะทำให้เราแกร่งขึ้น ส่วนชัยชนะขอเพียงครั้งเดียว ทีเดียวก็พอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image