“พิธา” ปลุกกระแสรธน. ชี้ เกษตรกร ต้องมีอำนาจต่อรอง-มีส่วนกำหนดกติกาประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นเรื่องปัญหาของรัฐธรรมนูญกับการเกษตรของประเทศ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญแบบไหนที่เกษตรกรต้องการ?

88 ปี ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ประเทศไทยเรามารัฐธรรมนูญรวมแล้ว 20 ฉบับ แต่ “เกษตรกร” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ตรงไหน?

ตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 จนนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ดูเหมือนคำว่า “เกษตร” ได้ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในกฎหมายสูงสุด คือ

รัฐธรรมนูญ 2540 มีคำว่าเกษตร “9 คำ” รัฐธรรมนูญ 2550 มี “14 คำ” และรัฐธรรมนูญ 2560 มี “4 คำ”

Advertisement

แต่สำหรับผมในรัฐธรรมนูญจะมีคำว่าเกษตรมากน้อยอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับว่าสิ่งที่เขียนมากว่า 20 ปี สามารถปลดล็อกปัญหาเกษตรกรได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เขียนเรื่อง “การกระจายการถือครองที่ดิน” “การช่วยให้เกษตรมีที่ดินเป็นของตัวเอง” “การจัดสรรน้ำให้เพียงพอ” “การช่วยลดต้นทุนการผลิต” หรือ “การทำให้แข่งขันในตลาดได้” ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้การแค่มีคำใหญ่ๆ อยู่ในรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีขึ้น ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ รวมทั้งชาวประมง ต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องต่อรองกับรัฐบาลเป็นระยะๆ

สำหรับผมสิ่งที่จำเป็นต้องมีในรัฐธรรมนูญควบคู่กันไป คือ การที่เกษตรกรมีสิทธิ มีเสียง และมีอำนาจต่อรอง หรือกระทั่งมีส่วนเข้าไปกำหนดกติกาบางอย่าง (ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรแทบไม่เคยมีอำนาจตรงนี้เลย)

Advertisement

ดังนั้นรัฐธรรมนูญแบบไหนที่จะให้สิ่งนี้กับเกษตรกรได้ถ้าไม่ใช่ “รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย”

แต่ “รัฐธรรมนูญแบบไหนที่เกษตรกรต้องการ?” เนื้อหาอย่างไร? ไม่มีใครตอบได้ดีเท่าเกษตรกรเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image