กกต.กำชับ ‘พรรคการเมือง’ ปฏิบัติตาม กม. เผยผู้สมัคร ส.ส.ยังแจ้งค่าใช้จ่ายไม่ครบ

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดอบรมการส่งเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของพรรคการเมือง ให้กับผู้แทนพรรคการเมือง ผู้บริหาร พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินและบัญชีของพรรคการเมืองให้กับผู้แทนของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมือง ประจำจังหวัดให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. บรรยายถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านมา โดยระบุว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องใช้กฎหมายพรรคการเมืองเต็มรูปแบบ ทุกพรรคต้องดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยเฉพาะการทำไพมารีโหวต ที่ผ่านมามีคำสั่งคสช.ช่วยในเรื่องการทำ จึงทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผ่านไปโดยไม่ต้องทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบ แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจากนี้อีก 3 ปี 8 เดือน หากจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นพรรคการเมืองจะต้องเร่งเตรียมพร้อม โดยเฉพาะเรื่องของสมาชิกพรรค ที่ผ่านมากกต.ยกเว้นให้ในกรณีที่ไม่สามารถคีย์ชื่อสมาชิกเข้าไปในระบบฐานข้อมูลได้ทัน ก็สามารถนำหลักฐานการยื่นสมัครเป็นสมาชิกพรรคไปแสดงต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ แต่ในครั้งต่อไปจะต้องยึดรายชื่อจากฐานข้อมูลสมาชิกเป็นหลัก หากมีปัญหาก็ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล

นายแสวง ยังกล่าวถึงเรื่องการเงินของพรรคการเมืองว่า รายได้ของพรรคการเมืองจะมาจาก 1.ทุนประเดิม ที่ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองบริจาค แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท 2.ผู้บริจาคที่ต้องเป็นไปตามกคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย 3.เงินค่าบำรุงพรรค ที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคเท่านั้น 4.เงินขายของที่ระลึก ที่พรรคจะขายปากกา สมุด ดินสอที่ใครก็สามารถซื้อได้ นอกจากนี้เป็นเงินบำรุงและบริจาคจากเงินภาษีของประชาชน ที่ทางสำนักงาน กกต.เป็นผู้ดำเนินการให้กับพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบเงินของพรรคการเมือง กกต.จะตรวจสอบในส่วนที่กฎหมายกำหนดแต่ทั้งนี้พรรคการเมืองจะต้องไม่หาเงินโดยแสวงหากำไร แล้วนำมาแบ่งปันกัน ไม่รับเงินต่างชาติ ซึ่งจะมีเหตุให้ถูกยุบพรรคได้

ทั้งนี้ นายแสวงยกตัวอย่างกรณีตรวจสอบการระดมทุนของพรรคการเมืองที่มีบริษัทเอกชนให้เงินกับพรรคการเมืองหนึ่งว่า กรณีดังกล่าว กกต.จะตรวจสอบตามขั้นตอนที่กฎหมายให้ตรวจสอบเท่านั้นจะไม่มีอำนาจไปตรวจสอบบริษัท หรือราคาโต๊ะที่พรรคการเมืองตั้งไว้ขายเพื่อระดมทุน  แต่การระดมทุนจะต้องไม่เกิด10 ล้านบาทต่อราย  และอย่านำเงินที่ได้มาแบ่งปันกัน เพราะการระดมทุนไม่ได้อยู่ที่ราคาแต่เราจะดูว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนเรื่องพฤติกรรมว่าข้าราชการเมืองจะใช้ตำแหน่งจูงใจให้ผู้ใดบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้พรรคหรือแหล่งที่มาสุจริตหรือไม่ กกต.ไม่มีอำนาจ

Advertisement

“อันไหนไม่มีอำนาจก็จะไม่ตรวจ หรือไปละเมิด เราทำตามกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพื่อให้การตรวจสอบนั้นสิ้นกระแสความโดยยึดประโยชน์เพื่อความยุติธรรม” นายแสวง กล่าวและว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส.รายงานค่าใช้จ่ายไม่ครบ ซึ่งการไม่รายงานถือว่าเป็นความผิด

นอกจากนี้ นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่ผ่านมามีสาขาพรรคการเมืองโดยรวมแค่ 300 กว่าสาขาจาก 86 พรรคการเมือง ที่มีสมาชิกรวมกว่า 8 แสนคน ซึ่งหาก86 พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งครั้งต่อไป จะต้องมีสาขาครบ 4 ภาค หากจะส่งผู้สมัครครบทุกเขต จะต้องมีสมาชิก 4-15 ล้านบาท การหาสมาชิกและการตั้งสาขาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 เดือน ดังนั้นจึงได้กำชับให้พรรคการเมืองต่างๆ เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้สอบถามถึงการดำเนินกิจกรรมของพรรค พบว่าพรรคการเมืองได้สอบถามในกรณีการบริจาค และการซื้อสินค้าที่ระลึกชองพรรคการเมือง ว่าในกรณีสามีหรือภรรยาเป็นชาวต่างชาติ สามารถบริจาคได้หรือไม่ กรณีบุคคลที่ 3 มาซื้อสินค้าที่ระลึกของพรรคไปเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อทำได้หรือไม่ รวมทั้งกรณียุบตัวแทนประจำจังหวัดที่มีจำนวนมากแล้วตั้งเป็นสาขาพรรคทำได้หรือไม่ ขณะที่หัวหน้าพรรคเพื่อนไทยเรียกร้องให้ กกต.เป็นเจ้าภาพเสนอแก้ไขกฎหมายในการเลือกตั้ง เพราะเห็นได้จากปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นหากไม่แก้ไขจะทำให้พรรคการเมืองเดินต่อไปไม่ได้
 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image