‘อัศวิน’ ตรวจสถานีห้าแยกลาดพร้าว ก่อนเปิดให้บริการฟรี 9 ส.ค. รับรางคดเคี้ยวแต่ปลอดภัย 100%

“อัศวิน” ตรวจสถานีห้าแยกลาดพร้าว ก่อนเปิดให้บริการฟรี 9 ส.ค. รับรางคดเคี้ยวแต่ปลอดภัย 100%

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 สิงหาคม ที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เขตจตุจักร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและตรวจสอบความพร้อมก่อนเปิดทดลองให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิต (N8) ไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) ซึ่งกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม โดยมี คณะผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ผู้บริหารกรุงเทพธนาคม (เคที) และผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ร่วมตรวจเยี่ยม

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.เตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิต (N8) ไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการผู้โดยสาร ได้แก่ บันไดเลื่อน กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ประกอบด้วย ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ พื้นผิวสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ทางลาดรถเข็นสำหรับผู้พิการ ราวจับสำหรับผู้พิการ รวมถึงจุดเว้าเพื่อจอดรถรับ-ส่ง ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จร้อยละ 99 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเก็บรายละเอียดเพียงเล็กน้อย

“ทั้งนี้ เวลา 10.00 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาทดลองนั่ง ก่อนเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการ โดยไม่เก็บอัตราค่าโดยสารในเวลา 15.00 น.เป็นต้นไป ส่วนอัตราค่าโดยสารและระยะเวลาในการให้บริการฟรี ขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ตนได้กำหนดอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ตั้งแต่คูคต-เคหะ จ.สมุทรปราการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ที่ผ่านมาบีทีเอสได้ดำเนินการทดลองเดินรถเปล่าเพื่อทดสอบระบบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่วนการหารือเรื่องสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) ปัจจุบันรายละเอียดอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา จากนั้นจะส่งสัญญาให้สำนักอัยการสูงสุด ตรวจสอบรายละเอียดของสัญญาว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่จะเซ็นและส่งมอบสัญญาอย่างเป็นทางการต่อไป

อีกทั้ง ในเดือนธันวาคม 2562 นี้จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี เพื่อลดความแออัดบริเวณสถานีหมอชิต ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลของประชาชนถึงรางที่คดเคี้ยวว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า “ยืนยันว่ามีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์”

ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบการเดินรถ 1 สถานี แบ่งระยะเวลาการให้บริการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak) เช้าและเย็น ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 -19.00 น. จะเดินรถต่อจากสถานีหมอชิต ไปสถานีห้าแยกลาดพร้าว โดยขบวนรถจะเดินรถรูปแบบขบวนเว้นขบวน คือขบวนหนึ่งวิ่งสิ้นสุดที่ปลายทางหมอชิต อีกขบวนจะวิ่ง ไปยังสถานีห้าแยกลาดพร้าว ส่วนในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off peak) และวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) จะให้บริการถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าวได้เลย คาดว่ามีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 70,000 – 80,000 เที่ยวคนต่อวัน

สำหรับลักษณะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 19 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (บีทีเอส) ที่สถานีหมอชิต ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่และเบี่ยงออกด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอดแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ

โดยเมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทาง จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก (ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ) ข้ามคลองสอง ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (บริเวณสถานีคูคต) ประกอบด้วย 16 สถานี ได้แก่ สถานีห้าแยกลาดพร้าว, สถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม, สถานีม.เกษตรศาสตร์, สถานีกรมป่าไม้, สถานีบางบัว, สถานีกรมทหารราบที่ 11, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ, สถานีพหลโยธิน 59, สถานีสายหยุด, สถานีสะพานใหม่, สถานี รพ.ภูมิพลอดุลยเดช, สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต

โดยมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ต่อไปในอนาคต จำนวน 7 สถานี คือ สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีศรีปทุม สถานีกรมทหารราบที่ 11 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีสะพานใหม่ สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารจอดแล้วจร (พาร์คแอนด์ไรด์) จำนวน 2 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า จำนวน 1 แห่ง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image