‘จอน อึ๊งภากรณ์’ หวั่น ปชช.ถูกล็อกกุญแจขังลืม แนะฟื้น ปชต.เริ่มจากเปลี่ยน ‘ส.ว.’ 

เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 7 สิงหาคม ที่ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคสามัญชน จัดเสวนา “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกระบวนการมีส่วนร่วมนอกสภา” โดยมี นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นางนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค และนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมเสวนา

นายจอน กล่าวว่า แม้ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่เรายังไม่ได้อยู่ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย เราอยู่กับ คสช.2 เพราะการที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่มาจากผลของรัฐธรรมนูญ ที่ คสช.และเนติบริกรร่างขึ้นมา และมาจากผลงานของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการคัดสรรของ คสช. โดยเลือกคนที่จะจงรักภักดีกับ คสช. มากที่สุดมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เชื่อว่าหากไม่มี ส.ว.ชุดนี้ อย่างไรแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ ส.ว.อยู่ภายใต้การอุปภัมภ์ แล้วแต่จะชี้นิ้วหรือกำหนด ดังนั้น การที่ ส.ว.ทั้งหมดลงคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แสดงชัดว่าระบบอุปถัมภ์ยังทำงานอยู่

“การที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ สำคัญที่สุดคือ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือดีกว่านั้น คือมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน ร่างโดยตัวแทนประชาชน แต่ปัญหาคือขณะนี้ประชาชนเหมือนถูกขังอยู่ในห้องร่วมกับ คสช. ที่ใช้อำนาจควบคุม หนี คสช.ไม่พ้น และยังถูกขังร่วมกับกลุ่มนายทุนผูกขาดที่สนับสนุน คสช. สนับสนุน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้ได้คะแนนเสียง ซึ่งเราไม่เพียงถูกขังอย่างเดียว แต่เขาเอากุญแจไปทิ้งทะเลด้วย ปัญหาอยู่ที่เราจะปลดล็อกเรื่องนี้อย่างไร เพราะล็อกมีหลายชั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อย่างน้อย 1 ใน 3 ของ ส.ว.ต้องเห็นชอบ แต่เรารู้ดีว่า ส.ว.เหล่านี้อยู่ในการอุปถัมภ์ของ คสช. ทำอย่างไรจึง ส.ว.จะยกมือแก้รัฐธรรมนูญได้คือเรื่องยากที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายจอน กล่าว

Advertisement

นายจอน ยังกล่าวอีกว่า สิ่งควรจะแก้ในรัฐธรรมนูญมีหลายเรื่อง การยกเลิกบทเฉพาะกาลไม่เพียงพอ แต่ต้องเปลี่ยน ส.ว.เพื่อให้สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าหากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาล คสช. 2 จะสามารถผ่านกฎหมายหลายฉบับที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ สามารถเอากำลังของ ส.ว.มาลงคะแนน แม้พรรคฝ่ายค้านอาจจะได้เสียงข้างมาก แต่ ส.ว.จะคอยควบคุมกฎหมายสำคัญที่อ้างด้วยการปฏิรูปประเทศ นอกเหนือจากนี้ รัฐบาลยังมีองค์กรอิสระที่มาจากการเลือกของวุฒิสภา กล่าวคือ คสช.ควบคุมการออกกฎหมาย คสช.ควบคุมว่าใครจะเป็นนายกฯ ควบคุมมหาดไทย เข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ นี่คือสภาที่เลวร้ายที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้

นายจอน กล่าวว่า นอกจาก แก้ที่ ส.ว. แก้บทเฉพาะกาลที่เปิดช่องให้ใช้อำนาจได้ ยังต้องแก้ในอีกหลายประเด็นจะต้องแก้ในประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ที่ประสบปัญหาทุกข์ร้อนจากนโยบายของรัฐการแก้ใขในระยะยาวจำเป็นต้องร่างใหม่ทั้งหมด และจำเป็นต้องมีวิธีร่างที่เป็นประชาธิปไตย คือ ร่างโดยประชาชน ไม่ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ในอดีต การแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 2535 เกิดจากประชาชนรับไม่ได้ที่ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะมาดำงตำแหน่งนายกฯ หลังพฤษภาทมิฬ ก็มีการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ คือนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

นอกจากนี้ นายจอน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากเพราะมีการออกแบบให้แก้ไขได้ยาก หมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเองก็ต้องมีการทำประชามติก่อน ดังนั้นภาคประชาชน ทุกฝ่าย ต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนในประเทศเห็นว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร เอาเปรียบประชาชนด้านใดบ้าง เพราะลำพังฝ่ายค้านผลักดันทางเดียวก็เป็นไปได้ยาก เว้นแต่จะเกิดกระแสเรียกร้องของสังคมในวงกว้างที่แรงพอ มีการชุมนุมโดยสงบที่ประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องทั้งประเทศให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาก็อาจเริ่มตัดสินใจแล้วว่า จะจงรักภักดีกับ คสช. หรือจงรักภักดีต่อประชาชน ซึ่งจะได้เห็นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image