โรคา พยาธิ : รัฐธรรมนูญ อักเสบ : ของ รัฐบาล

ไม่ว่ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมากล่าว “ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ไม่ว่ากรณี 5 พรรคเล็กที่เคยหนุนรัฐบาลออกมากล่าวจะขอเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ”

นี่คือ อาการของ “รัฐธรรมนูญอักเสบ”

แม้ คสช.และพรรคพลังประชารัฐจะเคยมีบทสรุปร่วมกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

เพื่อให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Advertisement

แต่แล้วในการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของ ครม.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า

ไม่น่าจะเป็นเพื่อ “พวกเรา” อย่างชนิดร้อยละร้อย

แต่แล้วเมื่อเกิดโรครุมเร้าเข้ามาโดยรอบข้าง บรรดาพรรคการเมืองอันมาโดย “อภินิหาร” ของกฎหมายก็มิได้งอก่องอขิง

Advertisement

เท่ากับชี้ว่าไม่อาจคุม “รัฐธรรมนูญ” ได้ร้อยละร้อย

จากเงื่อนไขของกฎกติกาผ่านรัฐธรรมนูญ และผ่านการเล่นกายกรรมทางกฎหมายอาจเป็นหลักประกันในเรื่อง 1 การเป็นรัฐบาล 1 การเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ในการรุกก็ปรากฏสภาพ “รับ” ดำรงอยู่

อย่างน้อยที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 136 ก็เท่ากับเป็นการเยาะหยันพรรคพลังประชารัฐโดยตรง

ยิ่งเมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้มาถึง 81

ยิ่งสร้างความปวดร้าวถึงกับต้องเปิดยุทธการสกัด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

มิให้เข้าสภา ขณะที่เดินหน้าเล่นงาน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ด้วยคดีความ

และกระหน่ำ “เฟคนิวส์” เข้าใส่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช

แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังเดินหน้าลงพื้นที่ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เอาการเอางานอย่างยิ่งทั้งในสภาและนอกสภา

ที่ท้วงเรื่อง “ถวายสัตย์ฯ” ก็มาจาก “อนาคตใหม่” มิใช่หรือ

ปรากฏการณ์นับแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมเป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นความมีชีวิตของ “รัฐธรรมนูญ” ออกมาอย่างเด่นชัด

เมื่อมีชีวิตก็มีความเป็นอิสระ

เป็นอิสระที่จะชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นอิสระที่จะชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เมื่อวันที่ 25-27 กรกฎาคม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 163

และการเล่นงานเฉพาะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ใช่ว่าจะได้คะแนน

ตรงกันข้าม กลับตอกย้ำในลักษณะ “ดับเบิล สแตนดาร์ด” ไม่ว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคนในรัฐบาล ไม่ว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนักการเมืองด้วยกัน

การรุกของรัฐบาลจึงดำเนินไปในลักษณะตั้งรับ

ตั้งรับกระทั่งเห็นอาการโวยวายของบรรดา ส.ส.จากพรรคเล็กที่ทวงถามข้อตกลง ดังรับกระทั่งคำสารภาพที่ดำเนินไปในลักษณะ “ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “อาการ” เนื่องแต่ “รัฐธรรมนูญอักเสบ”

จากการเปิดสภาเมื่อเดือนมิถุนายน มาถึงการเริ่มประชุมสภาในเดือนสิงหาคม สังคมสัมผัสได้ใน “อาการ” ของโรคในทางการเมือง

หนทางเดินใช่ว่าจะเพลินดี

หากเพลินดีก็คงไม่ต้องเปล่งคำ “ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” หากเพลินดีก็คงไม่ปรากฏอาการย้ำคิด ย้ำทำ คำรบแล้วคำรบเล่า

ก่อนถึง “งบประมาณ” ก่อนถึงการเปิดอภิปราย “ไม่ไว้วางใจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image