พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วางเป้าของชีวิต ‘ติดกระดุม’ แก้เกษตร

กลายเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เฉิดฉายอีกคน สำหรับ “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ลำดับที่ 4 ภายหลังแจ้งเกิดเต็มตัวจากการอภิปรายนโยบายรัฐบาลเรื่องการเกษตรและที่ดิน เปรียบเทียบปัญหาเป็น “กระดุม 5 เม็ด” จนสร้างเสียงชื่นชมในวงกว้าง แม้กระทั่งหลายคนที่ไม่ได้นิยมพรรคสีส้ม ยังให้การยอมรับในข้อมูลและความเห็นของเขา โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นบรรยากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

หลังจากจบภารกิจในสภา นายพิธาเดินหน้าลงพื้นที่ต่อเนื่อง ล่าสุดคือที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ในกิจกรรม “ปัญหาที่ดิน กระดุมเม็ดแรก” จัดที่ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย ซึ่ง “พิธา” และทีมงานใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง นั่งล้อมวงคุยกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ ชาวบ้าน และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เพื่อรับฟังความทุกข์ ความเดือดร้อน และความต้องการ ก่อนที่นายพิธาจะสรุปประเด็นทั้งหมดว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องมีที่ดินไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของ “การจัดการ อำนาจ ชนชั้น” ที่ทำให้ที่ดิน 1 ใน 3 ของประเทศไม่เกิดการใช้ประโยชน์ และยังมีคนที่เข้าไม่ถึงการใช้ที่ดินอีกมากมาย

ดังนั้น ปัญหาที่ดินจึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของเกษตรกร แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ

ความเหลื่อมล้ำทางที่ดินคือกระดุมเม็ดแรกของความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้ศักยภาพของประเทศไม่ถูกปลดปล่อยอย่างเต็มที่และจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

Advertisement

นอกจากนั้น ที่ดินยังเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน บางบ้านไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าหรือน้ำประปา เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ หรือเกษตรกรที่ปลูกลำไยปลูกทุเรียน แต่เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ จึงไม่สามารถได้รับการรับรองระบบการจัดการคุณภาพที่เรียกว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices: GAP) เป็นปัจจัยทำให้โดนกดราคา ดังนั้น ปัญหาที่ดินจึงมีหลายมิติซับซ้อน จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาการแก้ปัญหาในระยะสั้น กลาง ยาว

“เราจะหาบทเฉพาะกาลอะไรได้หรือไม่เพื่อช่วยปลดล็อกให้ชาวบ้านเหมือนที่เราช่วยนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะแก้ปัญหาระยะยาวว่าที่ดินเป็นของใคร อย่างแรก คือยุติข้อพิพาทกับประชาชนเถอะ เขาไม่มีเงินไปต่อสู้คดีกับคุณหรอก

“ข้อสอง ในพื้นที่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าเป็นของรัฐหรือเป็นของประชาชน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมอบพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นสิทธิชุมชน และให้เขาบริหารกันเองโดยมีเงื่อนไข เช่น ห้ามขายให้ต่างชาติ หรือต้องทำเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยให้เขาอยู่ได้ก่อน เพราะในพื้นที่นั้นก็มีหน่วยงานรัฐอยู่ ถ้าคุณเรียกประชาชนในพื้นที่ว่าเป็นคนเถื่อน แต่คุณก็มีเทศบาลอยู่ตรงนั้น ลูกหลานคนไทยทำการบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งที่อยู่ห่างจากพื้นที่ที่คุณให้กับนักลงทุนได้

Advertisement

“และข้อสาม ส่วนหนึ่งของปัญหาเป็นเพราะหน่วยงานรัฐของไทยถือแผนที่กันคนละฉบับ ไม่มี One Map แต่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ให้จิสด้า (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) ยิงดาวเทียมเพื่อดูว่าพื้นที่ไหนยังเป็นป่าหรือไม่ หรือเป็นป่าเสื่อมโทรม นี่จะเป็นแผนที่หนึ่งเดียวของประเทศได้ แต่ตอนนี้เสียงบประมาณไปกี่พันล้าน ทำไปถึงไหนแล้ว ทำไมยังไม่นำออกมาใช้พิธากล่าวถึงข้อเสนอที่มีต่อรัฐบาล

พิธาบอกด้วยว่า ปัญหาที่ดินไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่ถูกพูดคุยในระดับสากลมาเป็นเวลากว่าร้อยปี และเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติใหญ่ทั่วโลกที่มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินกับกลุ่มชนชั้นนำ

สำหรับสังคมไทย พิธาระบุว่า นอกจากจะยังไม่มีฉันทามติร่วมกันในการปรับโครงสร้างประเทศแล้ว ที่ผ่านมายังพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร้วิสัยทัศน์ ประเภท “เกษตรก็จะเอา อุตสาหกรรมก็จะเอา ท่องเที่ยวก็จะเอา” ไม่รู้ว่าประเทศจะไปในทิศทางไหน จุดแข็งคืออะไร ความต้องการของโลกคืออะไร กลายเป็นว่าน้ำก็ต้องแย่ง ขยะก็ต้องช่วยกันแก้ พื้นที่หนึ่งจะทำเกษตรอินทรีย์ แต่อีกพื้นที่ปล่อยสารเคมีจากโรงงาน

ส.ส.หนุ่มแห่งอนาคตใหม่ย้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง ถึงมาตรา 72(3) ในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “จัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกับถ้อยความในกฎหมาย

เขาชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการกว่า 20 คน ที่ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกร ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องและเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน กระนั้นเขาไม่ได้ต้องการให้เรื่องนี้เป็นวาระของตัวเองหรือของพรรค แต่ต้องการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อทำงานร่วมกัน

“อย่าเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาเล่นเป็นเรื่องการเมืองว่าใครเคยทำก่อนทำหลัง ตลอด 30 ปี มีความพยายามของทุกรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา แต่ประชาชนยังไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าถ้าเราร่วมมือกัน จะกลายเป็น Legacy (มรดก) ของคนยุคเรา จะเป็นสภาชุดนี้ที่ได้ปลดปล่อยความตกทุกข์ได้ยากของประชาชน ให้เกียรติกลับมาอยู่ที่รัฐสภา เพราะรัฐสภาที่ทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ จะเป็นการแก้ปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่อนุญาตให้ประชาธิปไตยวิ่งไปยาวๆ ได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กฎหมายสูงสุดของประเทศได้ไปถึงชนชั้นที่ไกลที่สุด พิธากล่าว

พิธายังพูดถึงความใฝ่ฝันตั้งใจของเขาที่ชีวิตนี้อยากทำให้สำเร็จ คือการทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการปลดปล่อยศักยภาพ ลืมตาอ้าปากได้ และมีกำลังซื้อ โดยหวังว่ากระดุม 5 เม็ดจะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยจากคำว่า “การเจริญเติบโต” หรือ Growth ให้กลายเป็น Inclusive Growth หรือ “การเจริญเติบโตที่มีส่วนร่วม” ไม่ต้องพึ่งการส่งออกเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่มีแค่ไม่กี่กลุ่มที่โตแล้วที่เหลือโดนทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนการพัฒนาในยุคที่เขาเติบโตมา และเมื่อความเหลื่อมล้ำทั้งหมดถูกลดลง เสถียรภาพทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยจะได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

“ปีนี้ผมอายุ 39 ปี ถ้าคิดตามอายุค่าเฉลี่ยของคนไทย ผมจะอยู่ได้อีก 30 ปี ความหวังตอนนี้คือถ้าผมเป็นหนึ่งในทศนิยมเล็กๆ ที่แก้ปัญหาให้คนที่มีปัญหาป่าทับที่ได้ ผมพอใจแล้ว อีก 10 ปีที่เหลือผมจะอุทิศให้กับการเมือง หากงานยังไม่เสร็จอาจจะเป็น 20 ปี ส่วน 10 ปีต่อไปจะเป็นอาจารย์ที่ต่างจังหวัด อาจจะที่ อ.หัวหิน หรือ อ.ปราณบุรี ที่ผมชอบ และ 10 ปีสุดท้าย ตอนนี้ผมมีที่ดินให้เกษตรกรปลูกผลไม้ทำวนเกษตร หวังเลยว่าจะไปตายที่นั่น พิธาฝากทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image