‘สุริยะ’เร่งอุตฯช่วยฟื้น‘ศก.’ ดึงทุนต่างชาติ-อุ้มเอสเอ็มอี

หมายเหตุ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบาย ที่จะขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรม
——————-

⦁นโยบายเร่งด่วนมีอะไรบ้าง

-กำหนดเวลาทำงานไว้ 100 วัน ในการผลักดันนโยบายเร่งด่วน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ นโยบายด้านการดึงการลงทุนจากประเทศสำคัญ อย่างจีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนทั้งชาวจีนและต่างชาติที่ลงทุนในจีน กำลังหาประเทศลงทุนใหม่ๆ ซึ่งไทยคือเป้าหมาย และมีพื้นที่ดึงดูดการลงทุนสำคัญ คือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แต่ก็มีคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม ดังนั้นต้องหาวิธีดึงทุนเหล่านี้เข้าไทย

ล่าสุดสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่ดูเรื่องยุทธศาสตร์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ดูเรื่องมาตรการสินค้า รวมถึงสินค้านำเข้าด้วย ให้ออกมาตรการรองรับ เฝ้าติดตามการสินค้านำเข้าจากจีนว่าทะลักเข้ามาเพื่อเลี่ยงเทรดวอร์หรือไม่ และสินค้าได้ตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อดูแลผู้บริโภคชาวไทย

Advertisement

รวมทั้งจะเสนอจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ณ ประเทศจีน จากปัจจุบันมีในประเทศออสเตรีย และญี่ปุ่น ประเด็นนี้จะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ วันที่ 15 สิงหาคมนี้ ระหว่างการตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

นอกจากนี้ จะจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) อาทิ จีน ญี่ปุ่น โดยจะเน้นการร่วมคณะกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นหลัก และเดือนกันยายนจะเชิญนักลงทุนจีนกว่า 300 ราย มารับทราบนโยบายของรัฐบาลใหม่ รวมถึงพาเยี่ยมชมพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เห็นสถานที่จริง เพื่อกระตุ้นการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า และช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยจะเร่งหารือนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารไทยแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลและผ่อนปรนมาตรการเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

⦁เตรียมมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอีไว้ มีรายละเอียดอย่างไร

-จะเป็นอีกนโยบายสำคัญเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ประคองธุรกิจฝ่าฟันไปได้ เตรียมนำเงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่มีปัญหาสภาพคล่องแต่ต้องการเพิ่มศักยภาพเสริมเทคโนโลยี และเพิ่มผลผลิต วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท มีเงินเหลือค้างรวมกับเงินที่ลูกหนี้จะชำระคืน ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท โยกมาใส่ในกองทุนเอสเอ็มอี-คนตัวเล็ก (ไมโครเอสเอ็มอี) ที่ต้องการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพธุรกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งวงเงินครบแล้ว เพราะกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีมีความต้องการเร่งด่วนกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ หากได้รับการอนุมัติจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ถึง 5,000 ราย

นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ออกมาตรการสร้างโอกาสทางการตลาดต่างประเทศให้กับเอสเอ็มอี เบื้องต้นจะใช้โอกาสช่วงการจัดงานครบรอบ 10 ปี ความร่วมมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับประเทศญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือ “Japan Desk” ปลายเดือนสิงหาคมนี้จัดให้มีการทำบิสซิเนส แมทชิ่ง ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นมาร่วมงาน 300 รายจาก 22 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่ กสอ.ลงนามความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้ ในจำนวนนี้จะมีประมาณ 20-30 ราย เข้าร่วมการบิสซิเนส แมทชิ่ง กับผู้ประกอบการไทยกว่า 100 ราย หรือผู้ประกอบการญี่ปุ่น 1 ราย จับคู่กับผู้ประกอบการไทย 3 รายเพื่อขยายช่องทางการค้า และการลงทุนร่วมกัน

รวมทั้งให้ กสอ.จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น และจัดกิจกรรมชักจูงการลงุทน (โรดโชว์) โดยเชิญชวนนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น อย่างล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยือนญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ก็มีความสนใจในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอีอีซี ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดจะเดินทางไปโรดโชว์ชักจูงการลงทุนจากญี่ปุ่นเช่นกัน

ขณะเดียวกันได้มอบนโยบายให้ กสอ. เร่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม (เอส-เคิร์ฟ) เพื่อสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยที่ขับเคลื่อนด้วยเกษตรหลักในแต่ละพื้นที่ ผลักดันสู่เกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

⦁มาตรการกระตุ้นลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี

-นอกจากดึงการลงทุนจากช่วงที่เกิดเทรดวอร์ และญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงานกับ กสอ.แล้ว ล่าสุดนายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบและหารือถึงแนวโน้มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะความสนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซี ของ บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ที่สนใจลงทุนตั้งโรงงานปิโตรเคมีส่วนต่อขยาย จากโรงกลั่นในพื้นที่อีอีซี บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่ผ่านมาได้ขอให้รัฐบาลไทยหาที่ดินให้ประมาณ 1,000 ไร่และจะมีการถมทะเล มูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาท

โดยสหรัฐต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้การสนับสนุน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวมากนัก เบื้องต้นจึงขอให้ เอ็กซอนโมบิลฯ ส่งตัวแทนในประเทศไทยเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ และจะให้ กนอ.ส่งตัวแทนเข้ามาให้ข้อมูลด้วย ทั้งประเด็นผลศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมถึงเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของ บีโอไอ ไม่มั่นใจว่าโครงการนี้ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะเร่งหารือ เพราะสหรัฐมีความสนใจโครงการนี้อย่างมาก

สหรัฐยังแจ้งว่า กลุ่มเอสเอ็มอีสหรัฐมีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากมีโครงการหรือมาตรการส่งเสริมที่น่าสนใจในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ ผลิตเบาะนั่งสำหรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน

⦁กรณีปมเหมืองทองอัครา

-กรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ฟ้องร้องรัฐบาลไทย หลังถูกสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ ที่ จ.พิจิตร จนทำให้ไทยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ส่วนตัวยินดีให้ผู้บริหารอัคราเข้าหารือเพื่อหาข้อยุติทั้งสองฝ่าย ล่าสุดทราบว่าทางอัคราก็อาจจะเข้าหารือ แต่ต้องรอให้ติดต่อเข้ามาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

⦁ลงทุนอีวี(รถยนต์ไฟฟ้า) ไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะดำเนินการอย่างไร

-โดยให้ สศอ.ไปทบทวนมาตรการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถอีวี ภายในประเทศแล้ว เนื่องจากรัฐบาลออก มาตรการส่งเสริมมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคารถยนต์ไฟฟ้ายังสูงอยู่ และระบบสนับสนุนต่างๆ อาทิ ปั๊มชาร์จ ยังมีจำนวนไม่มาก แนวทางแก้ปัญหาอาจต้องพิจารณาเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง

⦁จะผลักดันให้โครงการก่อสร้างของรัฐใช้โลคอล คอนเทนต์ 90% ตามข้อเสนอ ส.อ.ท.หรือไม่

-นำคณะผู้บริหารเข้าหารือกับ ส.อ.ท.แล้ว โดย ส.อ.ท.เสนอโมเดล เมด อิน ไทยแลนด์ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยทุกโครงการที่กำลังเดินหน้า ใช้แบรนด์ที่ผลิตโดยคนไทย (โลคอล คอนเทนต์) ก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 90% โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ สนามบิน ท่าเรือ ในอีอีซี เพื่อกระตุ้นการผลิต การใช้สินค้าในประเทศ โดยมีภาครัฐเป็นผู้นำร่อง เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าที่ครอบคลุมแทบทุกประเภทแล้ว เรื่องนี้จะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งผ่านคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวง และส.อ.ท.

⦁กรณีประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็ก 5 ปีจะลงนามวันไหน

-ภายในสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนในการลงนามบังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ระยะเวลา 5 ปี เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กไทยมีปัญหาการใช้อัตรากำลังการผลิตต่ำ และมีข้อกังวลการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเก่าด้อยคุณภาพและมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัยจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

⦁ว่าที่ปลัดกระทรวงคนใหม่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสม

-กรณีของนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ ครม.มีมติแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงคนใหม่ ที่ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ร้องเรียนเรื่องการใช้รถยนต์ราชการไปตีกอล์ฟของกรมนั้น ได้แทงเรื่องต่อให้นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปสอบสวนแล้วน่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

⦁ฝ่ากระแสต้านอย่างไรจากคำพูดก่อนหน้านี้ว่าจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี

-ใช่ ผมยอมรับว่าเคยพูด แต่พอข่าวออกไป ทีมผู้สมัคร ส.ส.ในกลุ่มสามมิตร เขารู้สึกว่าผมจะทิ้งกลางทาง ดังนั้นก่อนเลือกตั้ง 3 เดือนซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะได้ ส.ส.กี่เสียงจึงถอนคำพูดและประกาศรับตำแหน่ง แต่คนก็ไปเอาคลิปที่พูดมาออก ซึ่งผมก็ประกาศไปก่อนเลือกตั้งแล้วว่าจะกลับมารับตำแหน่ง (ยิ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image