รัฐบาล‘ดับเบิลแพ้โหวต’ สะท้อนอะไร? ในการเมือง

รัฐบาล‘ดับเบิลแพ้โหวต’ สะท้อนอะไร? ในการเมือง

หมายเหตุในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภา ผลการลงคะแนนเสียงในบางข้อบังคับ พรรคฝ่ายค้านชนะฝ่ายรัฐบาลถึงสองครั้งสองครา จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนอะไรในทางการเมืองและความเป็นเอกภาพของฝ่ายรัฐบาล

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยที่มาร่วมรัฐบาล อาจจะยังไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาลอย่างแท้จริง ส่วนพรรคขนาดใหญ่ที่ร่วมรัฐบาลไม่น่าจะแตกแถว เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา แต่พรรคย่อยๆ ที่มาร่วมอาจแตกแถวได้

Advertisement

จากการฟังวิปรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์แล้ว เขารู้สึกมั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาผ่านร่างพระราชบัญญัติสำคัญจะสามารถควบคุมได้ ส่วนตัวเชื่อว่าเขามีวิธีคุมในแบบของเขา ทั้งนี้ การลงมติออกเสียงตอนนี้อาจจะยังปล่อยไปก่อน เพื่อตรวจสอบว่าใครมีแนวโน้มที่อาจทำให้เกิดปัญหา เพื่อที่จะได้วางแผนควบคุมต่อไปในภายภาคหน้า

ที่รัฐสภาเก่าเวลาจะลงมติ ประธานจะกดออดเรียก แต่ตอนนี้มาใช้สภาใหม่อาจจะมีปัญหาเรื่องระบบหรือไม่ อาจไม่ได้ตั้งใจเบี้ยว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลค่อนข้างมั่นใจว่าเอาอยู่ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ หากใครมีท่าทีแตกแถวก็คงมีวิธีจัดการ

ที่น่าเป็นห่วงคือ สำหรับพรรคใหญ่ที่มาร่วมรัฐบาล อาจมีบางเรื่องราวต่อจากนี้ซึ่งตกลงกันไม่ได้ จนอาจเป็นปัญหาที่รัฐบาลกังวล ดังนั้น เขาคงมีวิธีการสำหรับทุกๆ เรื่องเพื่อเกลี่ยผลประโยชน์ให้ลงตัวจนรัฐบาลสามารถอยู่ต่อไปได้นานเท่านาน เท่าที่ต้องการ ซึ่งปรากฏการณ์แพ้โหวตแบบนี้เชื่อว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ตื่นเต้นแตกตื่นแต่อย่างใด

Advertisement

การมีวิปรัฐบาลเป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานเพื่อคอยตรวจสอบว่า มีคนแตกแถวหรือไม่ ส่วนวิธีการทำให้ไม่แตกแถวเขาต้องมียุทธวิธีอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะการมีวิปเท่านั้น

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากสิ่งที่เกิดขึ้นของจริงจะมาเดือนมกราคม 2563 ซึ่งจะมีการโหวตร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตอนนี้เป็นการอภิปรายเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมที่เหมือนกับไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เกี่ยวกับกฎระเบียบที่ใช้ในการประชุม ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีวินัยมากกว่า การแพ้โหวตครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ด้วยคะแนน 234 ต่อ 223 เหมือนกับว่าเสียงฝ่ายค้านแทบไม่ได้หายไปเลย แต่เสียงฝ่ายรัฐบาลหายไปประมาณ 10 กว่าเสียง ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่าจะติดวิทยุทรานซิสเตอร์ไว้ (ให้ ส.ส.ที่อยู่นอกห้องประชุมฟังการอภิปราย และเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมเมื่อมีการลงมติ) ล่าสุดก็มีซื้อแล้ว แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ช่วยอะไร

นี่คือข้อเสียของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจริงๆ ต้องไม่ลืมว่าความที่ไม่มีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลเอง อย่างที่ย้ำกันมาตลอดว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง เพราะมีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ถ้าถามว่าน้อยหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าน้อย เพราะมีคะแนนแค่ร้อยต้นๆ การจะไปรวมเสียงให้ได้ 250 เสียงขึ้นไป เพื่อให้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งก็ต้องไปขอหลายๆ พรรคมาร่วมกัน เมื่อเป็นเสียงปริ่มน้ำ กลุ่มการเมืองต่างๆ ในแต่ละพรรคย่อมมีอำนาจต่อรองได้สูงขึ้น ไม่เหมือนกับพรรคไทยรักไทยในอดีต สมัยนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งชนะแบบแลนด์สไลด์ 300 กว่าเสียง

ขณะนี้รัฐบาลต้องหาวิธีจัดการอะไรบางอย่างแล้ว โดยจะทำอย่างไรก็ได้ให้พรรคต่างๆ เข้ามาร่วมโหวตมากขึ้น แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นสถิติว่าพรรคร่วมไหนขาดประชุมมากที่สุด ถ้าเห็นสถิติตรงนี้จะพอวิเคราะห์ได้ละเอียดขึ้น

ก่อนที่จะโหวตไม่กี่วันก็มีประเด็นของพรรคเล็กที่ออกมางอแง นี่คือข้อเสียของรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ข้อเสียตรงนี้เคยถูกแก้ไขโดยรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น พอไปยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 มีระบบการเลือกตั้งและการคิดคะแนนซับซ้อน มีพรรคปัดเศษมากขึ้น จากพรรคที่ไม่ควรได้ ส.ส. กลายเป็นพรรคที่มี ส.ส. มีอำนาจต่อรองขึ้นมาทันที ล่าสุดก็มีตัวอย่างให้เห็นคือพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยที่ไม่ขอตำแหน่ง แต่งอแงว่าถ้าไม่ทำตามนโยบายแบบนี้ก็จะถอนตัว นั่นคือรัฐบาลพังเลย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ก็หายไปแล้ว 1 เสียง

ในเรื่องของการเข้าร่วมโหวตนั้น นักการเมืองที่มีประสบการณ์จะสามารถกะเวลาได้ว่า เมื่อไรจะถึงช่วงที่จะโหวต นักการเมืองหน้าใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ มี ส.ส.หน้าใหม่จำนวนมาก ปรากฏว่า ส.ส.เหล่านี้นั่งอยู่เพื่อรอโหวต ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลที่มีประสบการณ์หายไป เรื่องนี้สะท้อนความมีวินัยของ ส.ส.เอง

อุดมเดช รัตนเสถียร
อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย
และอดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

การพิจารณาของที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เป็นการพิจารณาข้อบังคับการประชุม หากทุกคนไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่มองว่าเป็นการออกข้อบังคับเพื่อใช้ในการดำเนินการประชุมสภา ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นว่าใครแพ้หรือชนะ ส่วนที่อาจมองได้ว่าผลการโหวตเกิดจากการกระตุ้นของ ส.ส.เพื่อไทยที่ยกเรื่องการยึดอำนาจขึ้นมา ก็เป็นไปได้ว่าคนที่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอาจไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ และเห็นว่ามีความจำเป็นต้องออกข้อบังคับมาไม่ตรงกับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่

ดังนั้น จึงไม่อยากคิดว่าเป็นเรื่องที่ใครแพ้หรือใครชนะ เพราะการโหวตแพ้เรื่องข้อบังคับ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล เขาจึงไม่ได้เข้มงวดกับสมาชิกมากนัก และอาจเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่า ข้อบังคับที่ใช้ร่วมกันควรเป็นอย่างไร

หากจะดูให้ชัด ต้องรอดูตอนพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เขาคงเตรียมการผนึกกำลัง มีการล็อบบี้ ขีดเส้นลงโทษถ้าไม่ไปโหวตตามที่ตกลง นั่นเพราะหากกฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน จะมีผลให้รัฐบาลอาจต้องลาออกหรือยุบสภา จึงเป็นเรื่องจริงจังที่ต้องระดมกันมาเต็มที่ และเป็นเรื่องยากที่ฝ่ายค้านจะเอาชนะ อย่างไรก็ตาม ด้วยความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน มีโอกาสที่การลงมติครั้งต่อๆ ไปจะไม่ราบรื่น โดยเฉพาะกรณีที่มีการพิจารณากฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนว่า เป็นประโยชน์กับประชาชน ส.ส.รัฐบาลอาจรู้สึกว่าอยากทำตามความเห็นของฝ่ายค้านที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าได้

เข้าใจว่าเสียงที่ตกหล่นนั้นมาจากพรรคพลังประชารัฐ โดยจะเห็นว่าพวกเขาพยายามออกมาโทษสิ่งต่างๆ เช่น บัตรลงคะแนน หรือกรณีที่แถลงแจกวิทยุทรานซิสเตอร์ไปวางไว้ตามจุดบอดสัญญาณภายในอาคารรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้ยินการประชุม ก็เป็นการแสดงออกในทำนองแก้ตัวว่า เหตุที่โหวตแพ้เพราะไม่ได้ยิน สรุปแล้ววิทยุทรานซิสเตอร์ก็ไม่ช่วยอะไร เป็นเพียงการแก้เกี้ยวให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรครัฐบาลเห็นว่า มีข้อบกพร่องที่ทำให้พวกโหวตแพ้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว การลงคะแนนในเรื่องสำคัญเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ส่วนว่าจะได้ยินเสียงหรือไม่ได้ยิน ต้องอาศัยระบบวิป มีวิธีการสื่อสาร ใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียกคน เห็นตั้งวิปรัฐบาลมาถึง 67 คน ขณะที่มี ส.ส.อยู่ประมาณ 254 คน เท่ากับว่าวิป 1 คนดูแล ส.ส. 3-4 คนเท่านั้น ถือว่าละเอียดมากแล้ว แม้ในอดีตก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าสัดส่วนต้องอยู่ที่เท่าไร แต่วิป 1 คนต่อ ส.ส. 5-6 คน ก็ถือว่ามากแล้ว

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

การลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 13 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากแพ้โหวต เป็นครั้งที่ 2 ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกฝ่ายรัฐบาลที่มีความเห็นแตกต่าง อาจจะมีการโหวตที่ไม่เหมือนกันได้ ร่างข้อบังคับการประชุมไม่ใช่กฎหมายของรัฐบาล และไม่ใช่กฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ จึงไม่ถือเป็นความล้มเหลวของวิปรัฐบาลในการทำหน้าที่ อีกทั้งมีสมาชิกหลายคนที่เดินมาลงมติไม่ทัน บางจุดก็ไม่ได้ยินเสียงการประชุม และยังมีสมาชิกนั่งกินข้าว หลังจากนี้วิปรัฐบาลจะเน้นย้ำการให้ความสำคัญของการอยู่ในห้องประชุม และหากเป็นกฎหมายสำคัญเราต้องเข้มข้นมากกว่านี้

มั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาพิจารณากฎหมายสำคัญจะไม่เป็นแบบนี้ วิปรัฐบาลจะกำชับสมาชิกให้มากกว่านี้ แต่การพิจารณาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เป็นร่างข้อบังคับการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องของ ส.ส.ที่จะนำมาใช้ร่วมกัน ความคิดเห็นอาจไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ แม้ว่าเบื้องต้นได้ตกลงกันว่าจะลงมติยืนตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ไม่โหวตสวน แต่ในข้อ 13 อาจมีถ้อยคำที่ไม่ถูกใจสมาชิกบางคนก็อาจลงมติเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งถ้อยคำไม่ใช่สาระสำคัญ ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของสมาชิก ไม่ส่งผลต่อการทำงานของสภาแต่อย่างใด

และคงไม่ต้องมีบทลงโทษสมาชิกที่โหวตสวน เพราะเป็นเรื่องประชาธิปไตย ใครมีความเห็นส่วนตัวก็ต้องยอมรับ แม้อยากให้โหวตไปในทางเดียวกันก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image