‘เจิมศักดิ์’ หวัง ‘บิ๊กตู่’ จะอกผายไหล่ผึ่ง เดินเข้าสภา ไปตอบกระทู้ฝ่ายค้านปมถวายสัตย์

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา แถลงความเห็น ปัญหาฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกนายกรัฐมนตรี โดยขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ หลังนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่กล่าวถวายสัตย์ปฎิญาณตนไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยระบุว่า

เป็นที่เชื่อได้ว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วน เพราะได้ปฏิญาณเพียง 2 ประเด็น คือ

1. จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

​2. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

Advertisement

​ทั้งนี้ ขาดประเด็นที่ 3 คือ จะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

​ซึ่งเป็นการขาดการปฏิญาณประเด็นสำคัญไปว่าจะบริหารประเทศด้วยระบบนิติรัฐนั่นเอง

​การปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญมาก

Advertisement

​เพราะ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

​การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม.ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ย่อมมีความหมายว่า ต้องปฏิญาณตนต่อปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจผ่านพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข

​ดังนั้น การขาดข้อความหรือไม่ได้ปฏิญาณในประเด็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนความเป็นนิติรัฐของการบริหารและปกครอง จึงขาดตกข้อความประเด็นสำคัญ

​เมื่อ ครม.ไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วน ครม.จึงยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

​การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละคน ก็อาจจะโมฆะได้

​แต่ถ้าสังเกตดูรูปการและประโยชน์ที่ได้จากการกล่าวคำปฏิญาณไม่ครบแล้ว เชื่อได้ว่านายกรัฐมนตรี ผู้นำการกล่าวปฏิญาณคงไม่มีเจตนาที่จะละเว้นหรือจงใจกระทำเช่นนั้น

ทางออกของปัญหา

​หากผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งพิจารณาตามที่มีผู้ยื่นคำร้องให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรีและประเทศโดยรวม เพราะหากชักช้าเนิ่นนานไป คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแต่ละคนก็ได้ดำเนินงานบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการ หรือมีมติไปมากแล้ว

​คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียให้สิ้นสงสัย เชื่อได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมิได้พิจารณาแต่ข้อกฎหมายและคงจะได้พิจารณาผลกระทบถึงสังคมการเมือง เพราะหากมติ ครม.และการสั่งการเป็นโมฆะแต่ต้น ย่อมส่งผลกระทบสังคมอย่างมาก

​ขณะเดียวกัน คิดว่าโอกาสคงมีน้อยมาก ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้การถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่ครบถ้วนขาดข้อความประเด็นสำคัญ เป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ชอบแล้วตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้ ครม.ชุดต่อๆ ไป จะถวายสัตย์ปฏิญาณขาดตก ต่อเติมข้อความได้ด้วยตัวเอง

​ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ยังไม่ครบถ้วน แต่ได้กระทำไปโดยขาดเจตนาที่จะละเว้นขาดตกข้อความในประเด็นที่สำคัญ ก็ให้การกระทำใดๆ หรือมติของ ครม.ที่ได้กระทำก่อนหน้าคำวินิจฉัย เป็นไปตามที่ได้กระทำไว้

​หลังจากนั้น ครม.ก็อาจขอพระราชทานอภัยโทษ และขอเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณอีกครั้งให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ก็จะเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

การตอบกระทู้ของรัฐสภา กับดีกรีความเป็นประชาธิปไตย

​การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (บางครั้งก็สมาชิกวุฒิสภา) จะได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญ เพราะเมื่อประชาชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำงานในรัฐสภา (เพราะประชาชน 60 กว่าล้านคนไม่สามารถเข้ามาควบคุมตรวจสอบเองได้) และ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนได้เลือกสรรกบลุ่มคนจำนวนหนึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศ

​ตัวแทนของประชาชนย่อมจะต้องติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร และสามารถตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารในทุกสัปดาห์ได้ ว่าทำไมฝ่ายบริหารจึงได้ดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ อาจท้องติง เสนอแนะ ในนามของประชาชน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

​การตอบกระทู้ของฝ่ายบริหาร โดยนายกฯ หรือรัฐมนตรี ย่อมแสดงให้เห็นถึงความคิดและจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย ที่ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และต้องให้ตัวแทนของปวงชนชาวไทยมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเสนอแนะได้

​รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ยินดีมาตอบกระทู้ หรือบ่ายเบี่ยงที่จะมาตอบกระทู้ ย่อมสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของผู้บริหารประเทศ แน่นอน รัฐมนตรีหรือนายกฯ อาจไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ทุกครั้ง แต่ความสนใจ ความเข้าใจ และจำนวนครั้งของการมาตอบกระทู้ ย่อมสะท้อนการกระทำและความรู้สึกนึกคิดของรัฐมนตรีท่านั้นได้

​ “ในอดีต นายกรัฐมนตรีที่เข้าตอบกระทู้ในสภามากที่สุดคือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

มีการตั้งกระทู้ถามสด 160 กระทู้ ถามไปยังนายกฯ 113 กระทู้ “อภิสิทธิ์” ตอบ 53 กระทู้  รองลงมา “สมัคร สุนทรเวช”

มีการตั้งกระทู้ถามสดจำนวนทั้งสิ้น 40 กระทู้ เป็นกระทู้ที่ถามถึงนายกฯ 12 กระทู้ “สมัคร” ตอบเอง 6 กระทู้

ยุค “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” มีการตั้งกระทู้ถาม 11 กระทู้ ถามนายกฯ 5 กระทู้ นายกฯ ตอบเอง 2 กระทู้

“ทักษิณ ชินวัตร” อยู่ในอำนาจ 6 ปี มีการตั้งกระทู้ถามสด 378 กระทู้ “ทักษิณ” ตอบแค่ 6 กระทู้

และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีกระทู้ถามสดนายกฯ 32 กระทู้ “ยิ่งลักษณ์” ตอบไปแค่ 2 กระทู้…”

จะเห็นได้ว่า “ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์” สองพี่น้อง ไปตอบกระทู้ในสภาเพียงปีละ 1 กระทู้

พลเอกประยุทธ์คงจะต้องเลือกจะเดินตามรอยใคร

“…พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหนีสภาไปเรี่อยๆ อย่างนั้นหรือ ถ้าทำเช่นนั้นผลที่ตามมาคือ…. ไม่สง่างาม

เป็นการเดินตามรอย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ที่ไม่ให้เกียรติสภาเลย

ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร ต้องอกผายไหล่ผึ่ง เดินเข้าสภาตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้าน ถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่เกิดปัญหาว่ามีเหตุจากอะไร

ไม่เจตนาก็บอกไปตามนั้น หรือจะตอบว่าเรื่องอยู่ในการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง”

ความจริง การตอบกระทู้ในสภาเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว เพราะ ส.ส.ผู้ตั้งกระทู้สามารถถามได้เพียงคนเดียว และถามได้ 3 ครั้งเท่านั้น ส.ส.คนอื่นอภิปรายไม่ได้

เมื่อนายกฯ ประยุทธ์ ไม่มาตอบกระทู้ 2 ครั้ง ใน 2 สัปดาห์ ส.ส. 214 คน จึงได้ยื่นประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในปมที่นายกฯ ประยุทธ์นำ ครม.ทั้งคณะถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และพ่วงเรื่องที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายโดยไม่แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ตามข้อบังคับรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 อีกด้วย

ครั้งนี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอาจมีลูกเล่น อ้างข้อบังคับการประชุมยังไม่เสร็จเรียบร้อย เลื่อนการบรรจุวาระการพิจารณา แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการพิจารณาเปิดอภิปรายทั่วไปในสภา พลเอกประยุทธ์และ ครม. จะไม่โดนตั้งคำถามจาก ส.ส.เพียงคนเดียวเหมือนกระทู้ถาม แต่ ส.ส.จำนวนมากในสภาก็จะสามารถอภิปรายได้

รัฐบาลประยุทธ์คงต้องรับศึกหนักอีกครั้ง จากการไม่ยอมให้มีการตรวจสอบในสภา และไม่ตรงไปตรงมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image